ฟอนดาพารินุกซ์ (Fondaparinux)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 เมษายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- ฟอนดาพารินุกซ์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ฟอนดาพารินุกซ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟอนดาพารินุกซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟอนดาพารินุกซ์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
- ฟอนดาพารินุกซ์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟอนดาพารินุกซ์อย่างไร?
- ฟอนดาพารินุกซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟอนดาพารินุกซ์อย่างไร?
- ฟอนดาพารินุกซ์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drug)
- กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ (Hip Fractures in Senile)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
บทนำ
ยาฟอนดาพารินุกซ์ (Fondaparinux หรือ Fondaparinux sodium) เป็นยาป้องกัน/ยาต้านการแข็งตัวของเลือด แพทย์อาจให้ยานี้กับผู้ป่วยหลังเข้ารับการผ่าตัด หรือใช้ยานี้ร่วมกับยา Wafarin เพื่อบำบัดรักษาอาการอุดตันของลิ่มเลือด ในบริเวณขาและในปอด รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาฟอนดาพารินุกซ์เป็นยาฉีด โดย ต้องฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ซึ่งเมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 94% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 17–21 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ
ทางคลินิก ได้นำยาฟอนดาพารินุกซ์มาใช้ในหัตถการผ่าตัดภาวะกระดูกสะโพกหัก ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ผ่าตัดช่องท้อง ซึ่งกลุ่มการผ่าตัดดังกล่าวจะเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดอุดตันจากการเกิดลิ่มเลือดหากผู้ป่วยไม่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างยาฟอนดาพารินุกซ์
ก่อนการใช้ยาฟอนดาพารินุกซ์ แพทย์จะทำการประเมินร่างกายผู้ป่วยว่าเหมาะสมที่จะใช้ยานี้หรือไม่ โดยตรวจสอบระดับเกล็ดเลือด ตรวจสอบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณหัวใจหรือไม่ ไตยังทำงานเป็นปกติหรือไม่
มีเงื่อนไขบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับการรักษาด้วยยาฟอนดาพารินุกซ์ได้ เช่น
- เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
- เป็นผู้ที่มีสภาพการทำงานของไตในการกำจัดสารครีเอตินิน(Creatinine clearance ย่อว่า Crcl)ออกจากร่างกายได้น้อยกว่า 30 มิลลิลิตร/นาที (Crcl<30 ml/min)
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 50 กิโลกรัม จะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายหากใช้ยานี้
- ห้ามการใช้ยาฟอนดาพารินุกซ์กับผู้ป่วยที่มีจำนวนเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำกว่าปกติด้วยจะสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย
- ต้องไม่ใช่ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณหัวใจอยู่ก่อน หรือต้องไม่ใช่ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะตกเลือด หรือมีเลือดออกในร่างกายอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ ขณะที่เข้ารับการรักษา ผู้ป่วยจะต้องแจ้งแพทย์ด้วยว่าตนเองมีประวัติเจ็บป่วยอะไรบ้าง เช่น เคยมีประวัติเลือดออกในสมอง(เลือดออกในกะโหลกศีรษะ) มีปัญหาการมองเห็นจากโรคเบาหวานขึ้นตา เคยป่วยด้วย โรคตับ โรคไต มีแผลในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้ ซึ่งอาการหรือประวัติการเจ็บป่วยดังกล่าวอาจกลับมาเป็นใหม่และแสดงความรุนแรงออกมาเมื่อใช้ยาฟอนดาพารินุกซ์
การใช้ยาใดๆอยู่ก่อนก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่ควรต้องแจ้งรายละเอียดให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ ซึ่งมียาหลายรายการที่เมื่อใช้ร่วมกับยาฟอนดาพารินุกซ์จะสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยาฟอนดาพารินุกซ์สูงขึ้น อย่างเช่น เกิดภาวะเลือดออกง่ายขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งยากลุ่ม NSAIDs, Clopidogrel, Aspirin, Ticlopidine
ผู้ที่ได้รับยาฟอนดาพารินุกซ์ ยังต้องคอยตรวจควบคุมการทำงานของระบบเลือดในร่างกายตามคำสั่งแพทย์ ด้วยยานี้อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกที่ไขสันหลังหรือมีเลือดออกบริเวณเยื่อหุ้มสมอง
ยาฟอนดาพารินุกซ์จัดเป็นยาที่มีประโยชน์ในวงการแพทย์อย่างมาก คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุเงื่อนไขการใช้สำหรับรักษากลุ่มอาการเฉียบพลันจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด(Acute coronary syndrome) ที่ไม่ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดที่เรียกว่า Percutaneous Coronary Intervention
โดยทั่วไป เราจะพบเห็นการใช้ยาฟอนดาพารินุกซ์แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งหากต้องการทราบข้อมูลของการใช้ยานี้เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรตามสถานพยาบาลได้ทั่วไป
ฟอนดาพารินุกซ์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาฟอนดาพารินุกซ์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดภาวะลิ่มเลือดอุดตันบริเวณหลอดเลือดที่ขา
- บำบัดภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดในปอด
- ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหลังจากการผ่าตัดช่องท้อง
- ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหลังการผ่าตัดกระดูกสะโพกหัก
- ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหลังการผ่าตัดหัวเข่า
ฟอนดาพารินุกซ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาฟอนดาพารินุกซ์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งปัจจัยในกระบวนการแข็งตัวของเลือดที่มีชื่อเรียกว่า Factor Xa ส่งผลตามมาต่อการสังเคราะห์สารช่วยการแข็งตัวของเลือดที่ชื่อว่า Thrombin จากกลไกเหล่านี้ทำให้เกิดการชะลอการจับตัวของเกล็ดเลือดที่จะทำให้เกิดลิ่มเลือด จึงเป็นที่มาของสรรพคุณของยานี้
ฟอนดาพารินุกซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟอนดาพารินุกซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่บรรจุตัวยา Fondaparinux ขนาดต่างๆ ในหลอดฉีดยาสำหรับพร้อมใช้ โดยมีความแรงดังนี้ ขนาด 2.5 มิลลิกรัม/0.5 มิลลิลิตร, ขนาด 5 มิลลิกรัม/0.4 มิลลิลิตร, ขนาด 7.5 มิลลิกรัม/0.6 มิลลิลิตร, ขนาด 10 มิลลิกรัม/0.8 มิลลิลิตร
ฟอนดาพารินุกซ์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาฟอนดาพารินุกซ์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับบำบัดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดในขาหรือในปอด:
- ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 50 กิโลกรัม: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
- ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 50-100 กิโลกรัม: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 7.5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
- ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 10 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
อนึ่ง โดยทั่วไป แพทย์จะใช้ยานี้ 5 วันเป็นอย่างต่ำ
ข. สำหรับป้องกันภาวะหลอดเลือดอุดตันหลังผ่าตัดที่ช่องท้อง: โดยทั่วไปแพทย์จะสั่งฉีดยานี้ให้คนไข้หลังการผ่าตัดเสร็จแล้ว 6–8 ชั่วโมง
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 2.5 กรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 5–9 วัน
ค.สำหรับป้องกันภาวะหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือดที่ขาหลังการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกข้อสะโพกหรือเปลี่ยนกระดูกข้อเข่า:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 2.5 กรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 5–9 วัน
อนึ่ง:
- ห้ามฉีดยานี้เข้าเส้นเลือด/หลอดเลือดโดยตรง ให้ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงการฉีดยานี้ซ้ำที่บริเวณเดิมของผิวหนัง
- หลังใช้ยานี้ ต้องเฝ้าระวังว่ามีการตกเลือดหรือไม่ โดยสังเกตมีจุดแดงใต้ผิวหนัง และ/หรือ อุจจาระมีสีดำ/อุจจาระเป็นเลือด หรือไม่
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของยานี้ การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟอนดาพารินุกซ์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต มีการติดเชื้อที่หัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟอนดาพารินุกซ์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
หากลืมมารับการฉีดยาฟอนดาพารินุกซ์ ให้รีบติดต่อ แพทย์/พยาบาลผู้ดูแลรักษา เพื่อนัดหมายมารับการฉีดยานี้โดยเร็ว
ฟอนดาพารินุกซ์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟอนดาพารินุกซ์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง เกิดภาวะเลือดออกง่าย มีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องผูกหรือท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ เลือดออกในไขสันหลัง เลือดออกบริเวณเยื่อหุ้มสมอง(Epidural hematoma)
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของในตับในเลือดสูงขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบเลือดออกใต้ผิวหนัง เกิดผื่นคัน
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดขา ปวดหลัง
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกสับสน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปอดบวม มีอาการไอ
มีข้อควรระวังการใช้ฟอนดาพารินุกซ์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟอนดาพารินุกซ์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต หรือผู้ที่มีค่า Creatinine clearance น้อยกว่า 30 มิลลิลิตร/นาที
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อหุ้มหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้ยานี้หลังการผ่าตัดข้อสะโพกหรือข้อเข่าโดยทันที ควรต้องเว้นช่วงเวลา ประมาณ 6 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำจึงจะให้ยานี้กับผู้ป่วยได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันภาวะเลือดออกที่บาดแผลผ่าตัดตามมา
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ยาตกตะกอน
- หลีกเลี่ยงการฉีดยาซ้ำที่ผิวหนังในตำแหน่งเดิม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการอักเสบของบริเวณผิวหนังที่ฉีดยา
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากตรวจพบว่าผู้ป่วยมีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000/ลูกบาศก์มิลลิเมตร
- หากพบว่าเกิดภาวะเลือดออกง่าย ควรรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลทันที โดยสังเกตจากมีจุดแดงใต้ผิวหนัง และ/หรืออุจจาระมีสีดำ/อุจจาระเป็นเลือด
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดบาดแผลและทำให้เลือดออกง่ายตามมา เช่น การใช้มีดต่างๆ การเล่นกีฬาที่รุนแรง
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด เพื่อรับการตรวจร่างกายและติดตามผลการรักษาจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟอนดาพารินุกซ์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟอนดาพารินุกซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟอนดาพารินุกซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาฟอนดาพารินุกซ์ร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs อย่างเช่นยา Ibuprofen, Naproxen, Aspirin, หรือยา Urokinase อาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะเลือดออกง่ายตามมา เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาฟอนดาพารินุกซ์ร่วมกับวิตามิน E อาจทำให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากฟอนดาพารินุกซ์มากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟอนดาพารินุกซ์ร่วมกับยา Duloxetine โดยเฉพาะกับผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายสูงขึ้นตามมา
- การใช้ยาฟอนดาพารินุกซ์ร่วมกับยา Valdecoxib(ยาต้านการอักเสบ) อาจเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เช่น ในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้เล็ก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาฟอนดาพารินุกซ์อย่างไร?
ควรเก็บยาฟอนดาพารินุกซ์ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ฟอนดาพารินุกซ์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟอนดาพารินุกซ์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Arixtra (อะริกซ์ตร้า) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/dosage/fondaparinux.html[2017,March25]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/44#item-10244[2017,March25]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00569[2017,March25]
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2005/021345s010lbl.pdf[2017,March25]
- https://www.drugs.com/dosage/fondaparinux.html[2017,March25]