ฟอซาเพรบพิแทนท์ (Fosaprepitant)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ฟอซาเพรบพิแทนท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ฟอซาเพรบพิแทนท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟอซาเพรบพิแทนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟอซาเพรบพิแทนท์มีขนาดบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ฟอซาเพรบพิแทนท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟอซาเพรบพิแทนท์อย่างไร?
- ฟอซาเพรบพิแทนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟอซาเพรบพิแทนท์อย่างไร?
- ฟอซาเพรบพิแทนท์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- อะเพรบพิแทนท์ (Aprepitant)
- นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ (Neurokinin 1 antagonist)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- มะเร็ง (Cancer)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
บทนำ
ยาฟอซาเพรบพิแทนท์(Fosaprepitant หรือ Fosaprepitant dimeglumine) เป็นยาที่ใช้ ป้องกัน อาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง แต่ไม่สามารถบำบัดผู้ป่วยที่กำลังเกิดอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนอยู่ก่อนแล้ว ยาฟอซาเพรบพิแทนท์ยังไม่ใช่ตัวยาที่ออกฤทธิ์ได้ทันทีแต่อยู่ในรูปของสารตั้งต้น (Prodrug) โดยยาฟอซาเพรบพิแทนท์จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างเคมีไปเป็นตัวยา อะเพรบพิแทนท์ (Aprepitant) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ได้ในร่างกาย
ยาฟอซาเพรบพิแทนท์ มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดที่ต้องหยดเข้าหลอดเลือดดำ ตัวยาที่อยู่ในกระแสเลือดจะแทรกซึมไปตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย นักวิทยาศาสตร์พบว่า ยาฟอซาเพรบพิแทนท์จะถูกเปลี่ยนไปเป็นยาอะเพรบพิแทนท์ ที่บริเวณ ไต ปอด และลำไส้เล็กส่วนปลาย โดยใช้เวลาไม่เกิน 30 นาทีหลังจากเข้าสู่กระแสเลือด และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 9–13 ชั่วโมงเพื่อกำจัดตัวยานี้ในรูปของยาอะเพรบพิแทนท์ออกจากกระแสเลือด ซึ่งจะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ข้อจำกัดของการใช้ยาฟอซาเพรบพิแทนท์บางประการที่ผู้บริโภคควรทราบ ได้แก่
- แพทย์จะไม่ใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ฟอซาเพรบพิแทนท์ หรือยาอะเพรบพิแทนท์ มาก่อน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟอซาเพรบพิแทนท์ร่วมกับ ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานเอนไซม์ CYP3A4ในตับ (ยากลุ่ม CYP3A4 inhibitors, Cytochrome P450 3A4 inhibitor) อย่างเช่นยา Aripiprazole ซึ่งการใช้ยาร่วมกัน จะทำให้ระดับยา Aripiprazole ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)รุนแรงต่อร่างกาย หรือการใช้ยาฟอซาเพรบพิแทนท์ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดจะทำให้ระดับ ของยาเม็ดคุมกำเนิด อย่าง Progestins ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนไม่สามารถ ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ผู้ป่วยจึงควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมียาอะไรที่ใช้เป็นประจำอยู่ก่อน
- การใช้ยานี้จะต้องให้กับผู้ป่วยก่อนเข้ารับการทำเคมีบำบัดประมาณ 30 นาที
- เพื่อประสิทธิผลในการป้องกันอาการ คลื่นไส้-อาเจียน แพทย์อาจสั่งจ่ายยากลุ่ม 5-HT3 antagonist ร่วมกับ ยา Dexamethasone ให้กับผู้ป่วยร่วมด้วย
- ตัวยาฟอซาเพรบพิแทนท์ อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงกับผู้ป่วยได้หลาย ประการ เช่น ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ กรณีนี้ผู้ป่วยควรขอคำปรึกษาจาก แพทย์ พยาบาล เพื่อการบำบัดรักษาเพื่อบรรเทาอาการข้างเคียงดังกล่าว
ในประเทศไทยตัวยาฟอซาเพรบพิแทนท์ ถูกจัดอยู่ในประเภทยาควบคุมพิเศษ เราจะพบเห็นการใช้ยานี้ในสถานพยาบาลเท่านั้น และหากผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาชนิดนี้เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ที่ดูแลรักษาอาการป่วยหรือสอบถามได้จากเภสัชกรในสถานพยาบาลนั้นๆ
ฟอซาเพรบพิแทนท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาฟอซาเพรบพิแทนท์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากการทำเคมีบำบัด/ได้รับยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง
ฟอซาเพรบพิแทนท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาฟอซาเพรบพิแทนท์มีกลไกการออกฤทธิ์คือ เมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จะถูกร่างกายเปลี่ยนไปเป็นสารออกฤทธิ์/ยาในกลุ่ม Neurokinin 1 antagonist ที่มีชื่อว่า ยา Aprepitant ซึ่งมีกลไกป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้ตามสรรพคุณ
ฟอซาเพรบพิแทนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟอซาเพรบพิแทนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น
- ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วย Fosaprepitant 150 มิลลิกรัม/ขวด
ฟอซาเพรบพิแทนท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาฟอซาเพรบพิแทนท์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18ปีขึ้นไป: หยดยา 150 มิลลิกรัม เข้าหลอดเลือดดำโดยใช้ระยะเวลาในการให้ยา ประมาณ 20–30 นาที เป็นอย่างต่ำ และแพทย์จะให้ยาประเภท Corticosteroids เช่น Dexamethasone ร่วมกับยาในกลุ่ม 5-HT3 antagonist เพื่อเสริมฤทธิ์การป้องกันอาการคลื่นไส้-อาเจียนร่วมด้วย
- เด็ก/ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ต้องให้ยาฟอซาเพรบพิแทนท์กับผู้ป่วยเป็นเวลาประมาณ 30 นาที ก่อนเข้ารับ การทำเคมีบำบัด
- การเตรียมยาฟอซาเพรบพิแทนท์สำหรับหยดเข้าหลอดเลือดดำ ต้องเจือจางยาและละลายผงยาด้วยสารละลาย Sodium chloride 0.9% เป็นปริมาณ 5 มิลลิลิตร
- ห้ามใช้ยาที่มีสิ่งปนเปื้อนที่ไม่ใช่ส่วนประกอบในสูตรตำรับ
- ขนาดการใช้ยา Dexamethasone และ 5-HT3 antagonist เพื่อช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการทำเคมีบำบัดร่วมกับยาฟอซาเพรบพิแทนท์ขึ้นอยู่กับสภาพ ร่างกายของผู้ป่วย กรณีผู้ป่วยมีประวัติ คลื่นไส้อาเจียนหลังทำเคมีบำบัดที่อาการ รุนแรงในระดับปานกลาง อาจใช้ยา Dexamethasone และ 5-HT3 antagonist เพียงวันแรกก็เพียงพอแล้ว แต่กรณีที่มีอาการคลื่นไส้-อาเจียนรุนแรงมาก อาจจะต้องใช้ยา 5-HT3 antagonist ในวันแรกที่ทำเคมีบำบัด และใช้ Dexamethasone เป็นเวลา 4 วันต่อเนื่อง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟอซาเพรบพิแทนท์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้บาอะไรอยู่ เพราะยาฟอซาเพรบพิแทนท์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ฟอซาเพรบพิแทนท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟอซาเพรบพิแทนท์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย เบื่ออาหาร ท้องผูก ปวดท้อง กรดไหลย้อน อาเจียน คลื่นไส้ ปากแห้ง ท้องอืด สะอึก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ บวมตามร่างกาย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดสิว ผื่นแดง คัน ผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย ผื่นผิวหนังอักเสบ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว/เป็นตะคริว
- ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ เคลิบเคลิ้ม
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ จาม ระคายคอ
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้เบื่ออาหาร
มีข้อควรระวังการใช้ฟอซาเพรบพิแทนท์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟอซาเพรบพิแทนท์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ร่วมกับยาต่อไปนี้ เช่นยา Pimozide, Terfenadine, Astemizole, และCisapride
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก/ผูที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามใช้ยานี้เป็นยา รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ชนิดเรื้อรัง
- การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- การใช้ยานี้ควรใช้เพียงระยะสั้นๆ และไม่ใช้รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนแบบ ทั่วไป ใช้เฉพาะการป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดเท่านั้น
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟอซาเพรบพิแทนท์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ฟอซาเพรบพิแทนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟอซาเพรบพิแทนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาฟอซาเพรบพิแทนท์ร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ระดับยา Hydrocodone ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงรุนแรงตามมาจากยา Hydrocodone เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะกดการหายใจ เป็นลมไปจนถึงขั้นโคม่า หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาฟอซาเพรบพิแทนท์ร่วมกับยา Fentanyl อาจทำให้ระดับยา Fentanyl ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรงติดตามมาจากยาFentanyl เช่น รู้สึกสับสน เป็นลม วิงเวียน ง่วงนอน หัวใจเต้นช้า เพื่อป้องกันอาการดังกล่าวเมื่อใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาฟอซาเพรบพิแทนท์ร่วมกับยา Warfarin อาจทำให้ประสิทธิภาพของยา Warfarin ด้อยลงไปจนทำให้เกิดอาการ เจ็บหน้าอก ตาพร่า ปวดตามร่างกาย บวมตามแขน-ขา ซึ่งเหล่านี้เป็นอาการของหลอดเลือดอุดตันจากการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์ปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
- การใช้ยาฟอซาเพรบพิแทนท์ร่วมกับยา Lidocaine อาจทำให้ระดับยา Lidocaine ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงรุนแรงของยา Lidocaine ติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาฟอซาเพรบพิแทนท์อย่างไร?
ควรเก็บยาฟอซาเพรบพิแทนท์ตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
ฟอซาเพรบพิแทนท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟอซาเพรบพิแทนท์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ivemend (ไอวีเมนด์) | MSD |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Emend
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/ppa/fosaprepitant.html[2017,May6]
- http://test-wp.geniesolutions.com.au/downloads//common/products/MIMS_Annual/HTML/07792.html[2017,May6]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/ivemend/?type=brief[2017,May6]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/fosaprepitant-index.html?filter=3&generic_only=[2017,May6]