ฟลูไนตราซีแพม (Flunitrazepam)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ฟลูไนตราซีแพมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ฟลูไนตราซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟลูไนตราซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟลูไนตราซีแพมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟลูไนตราซีแพมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟลูไนตราซีแพมอย่างไร?
- ฟลูไนตราซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟลูไนตราซีแพมอย่างไร?
- ฟลูไนตราซีแพมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- ยานอนหลับ (Sleeping pill)
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- วัตถุออกฤทธิ์ (Psychotropic substances)
บทนำ
ยาฟลูไนตราซีแพม (Flunitrazepam) เป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์นานปานกลาง ในบางประเทศใช้ยานี้บำบัดอาการนอนไม่หลับขั้นรุนแรง บางสถานพยาบาลก็ใช้เป็นยาร่วมก่อนการวางยาสลบ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่พบเห็นจะเป็นยาชนิดรับประทาน ในบางประเทศจะผลิตยาฟลูไนตราซีแพมในรูปแบบยาเหน็บทวารหนักอีกด้วย
ตัวยาฟลูไนตราซีแพมสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 64 - 77% ตับจะทำหน้าที่ทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 18 - 26 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ทางคลินิกแพทย์จะให้ใช้ยาฟลูไนตราซีแพมเป็นระยะเวลาเพียงสั้นๆด้วยยาฟลูไนตราซีแพม สามารถทำให้ผู้ใช้มีอาการติดยาได้ และกรณีใช้ยานี้เป็นเวลานานต่อเนื่องแล้วหยุดการใช้ยานี้ทันที จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการถอนยาขึ้นได้ ยานี้ยังทำให้เกิดความจำเสื่อมโดยทำให้นึกถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่ยานี้กำลังออกฤทธิ์ไม่ได้
โดยผลข้างเคียงที่พบเห็นบ่อยของยาฟลูไนตราซีแพมคือ มีอาการง่วงนอน กล้ามเนื้ออ่อนแรง
กรณีผู้ที่ได้รับยาฟลูไนตราซีแพมเกินขนาดอาจเกิดอาการสงบประสาท/กดการทำงานของระบบประสาท (หลับลึก ความทรงจำเสียไป) การควบคุมการทรงตัวเสียไป พูดจาไม่ชัด กดการหายใจ(หายใจช้า ตื้น เบา จนถึงขั้นหยุดหายใจ) เกิดอาการโคม่าไปจนถึงขั้นเสียชีวิต
เราจะพบเห็นการใช้ยาฟลูไนตราซีแพมในประเทศตามแถบยุโรป แอฟริกาใต้ รวมถึงญี่ปุ่นและไทย แต่ยาฟลูไนตราซีแพมยังไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศสหรัฐอเมริกา
มีข้อห้ามบางประการที่ทำให้ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูไนตราซีแพมเช่น
- ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะโคม่า หรือมีภาวะสมองถูกกดการทำงาน (เช่น การได้รับยารักษาทางจิตเวชบางชนิด) เป็นผู้ป่วยโรคตับในระยะรุนแรง รวมถึงผู้ป่วยโรคต้อหิน
- สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาทุกตัวซึ่งรวมยาฟลูไนตราซีแพมด้วย
- ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและมีประวัติทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายไม่เหมาะที่จะได้รับยาชนิดนี้
สำหรับการบำบัดอาการนอนไม่หลับ แพทย์จะสั่งจ่ายยาฟลูไนตราซีแพมเพียงวันละครั้งก่อนนอน
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย) ของไทยจัดให้ยานี้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (ประเภทอันตรายมาก) หากผู้บริโภคท่านใดมีความสงสัยและมีข้อซักถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาฟลูไนตราซีแพม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
ฟลูไนตราซีแพมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาฟลูไนตราซีแพมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดอาการนอนไม่หลับ
ฟลูไนตราซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาฟลูไนตราซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกดการทำงานของสมองส่งผลทำให้มีความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความกังวล ช่วยสงบประสาท ช่วยทำให้นอนหลับ โดยมีระยะเวลาของการออกฤทธิ์นานประมาณ 8 - 12 ชั่วโมง โดยจะออกฤทธิ์หลังรับประทานยานี้ไปแล้วประมาณ 20 - 30นาที
ฟลูไนตราซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟลูไนตราซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 1 มิลลิกรัม/เม็ด หรือ 1,000 ไมโครกรัม/เม็ด
ฟลูไนตราซีแพมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟลูไนตราซีแพมมีขนาดรับประทานเช่น
ก. บำบัดอาการนอนไม่หลับ (ใช้เพียงระยะเวลาสั้นๆเช่น 1 - 2 วัน):
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.5 - 1 มิลลิกรัมก่อนนอน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้สูงอายุ: รับประทานเริ่มต้น 0.5 มิลลิกรัมก่อนนอน หากจำเป็นสามารถปรับขนาดรับประทานเป็น 1 มิลลิกรัม/วัน
ข. ใช้เป็นยาร่วมก่อนการวางยาสลบหรือทำหัตถการผ่าตัด:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1 - 2 มิลลิกรัมครั้งเดียวก่อนเข้ารับการผ่าตัด
*อนึ่ง ในเด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในการใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก การใช้ยานี้กับเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟลูไนตราซีแพม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูไนตราซีแพมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟลูไนตราซีแพมสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ฟลูไนตราซีแพมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้ยาฟลูไนตราซีแพมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ ซึมเศร้า สับสน ตัวสั่น พูดไม่ชัด เกิดภาวะชัก
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น มีอาการตาพร่า
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีอาการปัสสาวะขัด
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น กดการหายใจ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน
มีข้อควรระวังการใช้ฟลูไนตราซีแพมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูไนตราซีแพมเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์ด้วยจะทำให้ติดยานี้
- การหยุดใช้ยานี้ทันทีอาจเกิดภาวะถอนยาได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติทำร้ายตนเอง
- ระหว่างใช้ยานี้ต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูไนตราซีแพมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ฟลูไนตราซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟลูไนตราซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาฟลูไนตราซีแพมร่วมกับยาต้านโรคซึมเศร้า ยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ จะทำให้เกิดอาการง่วงนอนมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามรับประทานยาฟลูไนตราซีแพมร่วมกับสุราด้วยจะทำให้มีภาวะกดการทำงานของระบบประสาทมากขึ้นและบางครั้งทำให้เกิดพิษกับร่างกายจนเสียชีวิตได้ในที่สุด
ควรเก็บรักษาฟลูไนตราซีแพมอย่างไร?
ควรเก็บยาฟลูไนตราซีแพมตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ฟลูไนตราซีแพมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟลูไนตราซีแพมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Rohypnol (โรฮิปนอล) | Roche |
อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศเช่น Rhophy, Robutol
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_benzodiazepines [2016,July9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Flunitrazepam#Dependence [2016,July9]
- https://www.drugs.com/illicit/rohypnol.html [2016,July9]
- http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/?p=2600 [2016,July9]