ฟลูไซโทซีน (Flucytosine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟลูไซโทซีน(Flucytosine หรือ Fluorocytosine หรือ 5-fluorocytosine ย่อว่า 5-FC) เป็นยาต้านเชื้อราที่มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นทั้งยารับประทาน และยาฉีด ยานี้มักถูกนำมารักษาการติดเชื้อราของชั้นผิวหนังส่วนลึก/หนังแท้ เช่น กลุ่มเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคโครโมไมโคซิส (Chromomycosis, โรคติดเชื้อราที่ทั้งหนังกำพร้าและหนังแท้) ทางคลินิกยังนำมารักษาการติดเชื้อราในระดับรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อราแคนดิดา(Candida) รวมถึงเชื้อราที่เป็นต้นเหตุของโรคฉวยโอกาสที่ติดเชื้อราที่เรียกว่าโรคคริปโตคอกโคซิส (Cryptococcosis)ที่กรณีนี้ต้องใช้ยา Amphotericin B ร่วมในการรักษา

ตัวยาฟลูไซโทซีนในกระแสเลือดจะมีเวลาอยู่ในร่างกายได้ประมาณ 2.4–4.8 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ

การใช้ยาฟลูไซโทซีนมีข้อควรระวังและข้อห้ามอยู่หลายประการที่ผู้บริโภ/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ยาฟลูไซโทซีนสามารถสร้างผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น กดการทำงานของไขกระดูก/กดไขกระดูก ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคเลือด หรือไขกระดูกทำงานผิดปกติ ห้ามใช้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ด้วยตัวยานี้เป็นพิษต่อทารก
  • ไตเป็นอวัยวะที่ช่วยกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย ผู้ที่สามารถใช้ยานี้ได้ควรมีสภาพการทำงานของไตเป็นปกติ
  • การใช้ยานี้ในการรักษาการติดเชื้อราจะต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องจนครบเทอมของการรักษาตามแพทย์สั่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ของเชื้อรานั้นๆ
  • ยานี้สามารถทำให้ปริมาณเกล็ดเลือดของร่างกายผู้ป่วยลดลงและก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา ดังนั้นระหว่างที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือกีฬาที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บและก่อให้เกิดบาดแผลได้ง่าย
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟลูไซโทซีนควรได้รับการตรวจเม็ดเลือด(CBC) การตรวจเลือดดูการทำงานของไตและของตับ รวมถึงระดับสารอิเล็กโทรไลท์(Electrolyte)ในร่างกาย/ในเลือด ผู้ป่วยจึงควรต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดทุกครั้งตามแพทย์นัด
  • กรณีที่มีอาการวิงเวียนหรือง่วงนอนหลังใช้ยาฟลูไซโทซีน ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • *ระวังการรับประทานยานี้เกินขนาด ซึ่งสามารถสังเกตอาการของผู้ที่ได้รับยาฟลูไซโทซีนเกินขนาดได้ดังนี้ เช่น คลื่นไส้และ/หรืออาเจียนอย่างรุนแรง ท้องเสีย เลือดออกง่าย ตาเหลืองตัวเหลือง หากพบเห็นอาการเหล่านี้ ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลรีบด่วน โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ระหว่างใช้ยานี้แล้วพบว่าอาการของเชื้อราไม่ดีขึ้นหรือพัฒนาไปในแนวทางที่แย่ลง ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

การใช้ยาฟลูไซโทซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ผู้ป่วยต้องใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่แพทย์แนะนำ ห้ามซื้อหายาชนิดนี้มาใช้เองโดยเด็ดขาด ทั้งนี้เราสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาฟลูไซโทซีนภายใต้ชื่อการค้าว่า “Ancobon”

ฟลูไซโทซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ฟลูไซโทซีน

ยาฟลูไซโทซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาการติดเชื้อราแคดิดาในช่องทางเดินปัสสาวะ (Candida Urinary Tract Infection)
  • รักษาการติดเชื้อราแคดิดาในกระแสเลือด (Candidemia)
  • รักษาการติดเชื้อรากลุ่มคริบโตคอกโคสิสที่เยื่อหุ้มสมอง (Cryptococcal Meningitis)
  • รักษาการติดเชื้อราในบริเวณเยื่อบุหัวใจ (Fungal Endocarditis)

ฟลูไซโทซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟลูไซโทซีนคือ เมื่อเข้าสู่กระแสโลหิต ตัวยาจะถูกดูดซึมผ่านเข้าในเซลล์เชื้อราโดยเอนไซม์ Cytosis permease และเมื่อยานี้อยู่ภายในเซลล์ของเชื้อรา ยาฟลูไซโทซีนจะถูกเปลี่ยนเป็น ยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) อย่างรวดเร็วโดยเอนไซม์ Cytosine deaminase ซึ่งยาฟลูออโรยูราซิล มีฤทธิ์ต่อเชื้อราโดยยับยั้งการสังเคราะห์สารโปรตีนและรบกวนการสังเคราะห์ DNA ของเชื้อรา จากกลไกนี้ จึงทำให้เชื้อราหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

ฟลูไซโทซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูไซโทซีนในประเทศไทย มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Flucytosine 250 และ 500 มิลลิกรัม/แคปซูล

ฟลูไซโทซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟลูไซโทซีน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 50–150 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการรับประทานเป็น 4 ครั้ง/วัน โดยสามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ และในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อราในระดับที่รุนแรง แพทย์อาจต้องใช้ ยาฟลูไซโทซีนร่วมกับยาAmphotericin B หรือกับยาFluconazole
  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง:

  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะต้องปรับลดขนาดการใช้ยาลดลง
  • ระหว่างใช้ยานี้ ต้องมารับการตรวจสอบการทำงานของไขกระดูก และการตรวจร่างกาย ตามที่แพทย์นัดหมาย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟลูไซโทซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคเลือด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูไซโทซีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟลูไซโทซีน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

ข้อสำคัญ การใช้ยารักษาโรคของเชื้อราทุกชนิดรวมยาฟลูไซโทซีน ควรต้องใช้ยาจนครบเทอมการรักษาตามแพทย์สั่ง

ฟลูไซโทซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูไซโทซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีอาการท้องเสีย เบื่ออาหาร ปากแห้ง เกิดแผลที่ลำไส้เล็ก มีเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน มีไข้ ง่วงนอน หูอื้อ อาจเกิดอาการชัก
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดการตกตะกอนของตัวยาในช่องทางเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง ลมพิษ
  • ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดสูง ไตวาย
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดจาง ไขกระดูกถูกกดการทำงาน มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ ตัวเหลือง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจหยุดเต้น เกิดพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน ประสาทหลอน

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูไซโทซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูไซโทซีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และต้องใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น แคปซูลแตกหัก สีแคปซูลเปลี่ยน
  • ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพท/มาโรงพยาบาล โยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายจากแพทย์ รวมถึงการตรวจเลือด ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูไซโทซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ฟลูไซโทซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลูไซโทซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูไซโทซีนร่วมกับยา Clozapine, Deferiprone, Zidovudine, ด้วยจะทำให้เกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียงต่อการทำงานของไขกระดูกจนส่งผลให้ระดับเม็ดเลือดในร่างกายต่ำตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูไซโทซีนร่วมกับยา Ibuprofen ด้วยจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของไตผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูไซโทซีนร่วมกับยา Salicylamide ด้วยจะส่งผลกระทบต่อไตผู้ป่วย และมีการพัฒนาไปถึงขั้นทำให้โลหิตจาง มีภาวะเลือดออกง่าย รวมถึงเกิดการติดเชื้อของร่างกายได้ง่าย

ควรเก็บรักษาฟลูไซโทซีนอย่างไร?

ควรเก็บยาฟลูไซโทซีน ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ฟลูไซโทซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูไซโทซีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ancobon (แอนโคบอน)Valeant Pharmaceuticals North America

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Flucytosine[2017,July8]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/flucytosine/?type=brief&mtype=generic [2017,July8]
  3. https://www.drugs.com/cdi/flucytosine.html[2017,July8]
  4. https://www.drugs.com/dosage/ancobon.html[2017,July8]
  5. https://www.drugs.com/pro/ancobon.html [2017,July8]