ฟลูโอคอร์โทโลน (Fluocortolone)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ฟลูโอคอร์โทโลน(Fluocortolone) คือ ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์(Corticosteroid)   ที่ออกฤทธิ์และมีความแรงขนาดกลางๆ มักใช้เป็นยาทาผิวภายนอก (ยาใช้ภายนอก) เพื่อลดอาการ ผื่นคัน อาการผื่นผิวหนังอักเสบ หรือนำมาทำเป็นยาเหน็บทวารเพื่อนำไปใช้รักษาอาการริดสีดวงทวาร ยานี้ไม่ได้รักษาโรคที่ต้นเหตุเพียงแต่บำบัดอาการอักเสบอาการคันให้บรรเทาเบาบางลง การใช้ยาสเตียรอยด์กับเด็กมักจะเป็นข้อห้าม นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น เพราะยากลุ่มนี้อาจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้ ซึ่งยาฟลูโอคอร์โทโลนก็เช่นเดียวกัน แต่อาจนำมาใช้กับเด็กกรณีที่ผิวเด็กเกิดอาการแพ้ที่บริเวณแขน-ขาอย่างรุนแรงและไม่มียาอื่นใช้ทดแทนได้ อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้กับผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุแพทย์มักจะสั่งจ่ายยาเพียงระยะสั้นๆเท่านั้น

ก่อนการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์กับผิวหนัง แพทย์จะตรวจสอบอาการเจ็บป่วยพร้อมกับค้นหาสาเหตุของอาการโรครวมถึงสอบถามสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วยเช่น  

  • ผิวหนังบริเวณที่มีอาการอักเสบหรือแพ้นั้นมีการติดเชื้อร่วมด้วยหรือไม่ด้วยการใช้ยากลุ่ม สเตียรอยด์จะส่งผลให้เกิดภาวะซ่อนเร้นในอาการอักเสบ แต่เชื้อโรคยังดำรงชีวิตอยู่ได้จึงทำให้เกิดสภาวะโรคลุกลามได้มาก
  • ผู้ป่วยเป็นสิวหรือไม่เพราะยาสเตียรอยด์สามารถก่อให้เกิดสิวขึ้นได้เช่นกัน
  • หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในสภาวะให้นมบุตรหรือไม่
  • เคยแพ้ยาสเตียรอยด์หรือยากลุ่มใดบ้าง

 

ทั้งนี้เมื่อมีการสั่งจ่ายยาฟลูโอคอร์โทโลน แพทย์จะกำกับวิธีการใช้ยาพร้อมระบุระยะเวลาของการใช้เช่น

  • การทายาที่บริเวณผิวหนังที่มีการอักเสบหรือแพ้ ให้ทาเพียงบางๆเพื่อกระจายตัวยาในบริเวณที่มีอาการแพ้
  • ห้ามทายาในบริเวณที่มีแผลเปิดหรือแผลฉีกขาดทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการดูดซึมตัวยาปริมาณมากเข้าสู่กระแสเลือด
  • ทายาเพียงวันละครั้งก็เพียงพอแล้ว ไม่ควรทายาถึง 2 ครั้งต่อวัน นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • กรณีที่มียาทาผิวหนังชนิดอื่นร่วมด้วย แพทย์จะกำกับการใช้ยาโดยแจกแจงว่าควรทายาชนิดใดก่อน - หลัง
  • ก่อนและหลังการทายาควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
  • หากจำเป็นต้องใช้ยากับเด็กต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและไม่ควรใช้ยาชนิดนี้กับเด็กนานเกิน 1 - 2 สัปดาห์
  • กรณีใช้ครีมบำรุงผิวเพื่อความชุ่มชื้นร่วมกับยาฟลูโอคอร์โทโลน ควรทาครีมบำรุงผิวเพียงเบาบางและทิ้งระยะเวลาประมาณ 10 - 15 นาทีก่อนทายาฟลูโอคอร์โทโลน
  • การทายาสเตียรอยด์ชนิดต่างๆบนผิวหน้าต้องระวังไม่ให้เข้าตา และห้ามใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานเกินคำสั่งของแพทย์
  • ห้ามใช้ผ้าพันแผลพันทับบริเวณที่มีการทายาชนิดนี้บนผิวหนังด้วยจะเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ติดตามมา
  • ปกติแพทย์จะสั่งจ่ายยานี้โดยให้ใช้ยานี้กับบริเวณผิวหนังที่มีอาการอักเสบเท่านั้น ห้ามนำไปทากับบริเวณผิวหนังที่ปกติ ระยะเวลาของการใช้ยานี้จะอยู่ในช่วงประมาณ 7 - 14 วัน ผู้ ป่วยควรปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัดและไม่ควรปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด

 ยาฟลูโอคอร์โทโลนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงกับผู้ใช้หรือไม่ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้ยาของผู้ป่วยว่าถูกต้องเพียงใด และสำหรับผู้ป่วยหลายรายอาจไม่พบอาการข้างเคียงแต่อย่างใดเลยก็ได้

ฟลูโอคอร์โทโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟลูโอคอร์โทโลน

ยาฟลูโอคอร์โทโลนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บรรเทาอาการอักเสบ อาการแพ้ อาการคันของผิวหนัง
  • บำบัดอาการริดสีดวงทวารในรูปแบบของยาเหน็บทวารและมักมียาชาผสมร่วมในสูตรตำรับยาด้วย

ฟลูโอคอร์โทโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฟลูโอคอร์โทโลนที่ใช้เป็นยาทาเฉพาะที่หรือใช้เป็นยาเหน็บทวาร มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการรวมตัวของเม็ดเลือดขาวในบริเวณที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อจึงป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อในบริเวณที่อักเสบดังกล่าว

ฟลูโอคอร์โทโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูโอคอร์โทโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น   

  • ยาครีมและยาขี้ผึ้งทาบรรเทาอาการผื่นผิวหนังอักเสบขนาด 0.25 %
  • ยาครีมสำหรับทาบำบัดอาการริดสีดวงทวารที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Fluocortolone pivalate 1 มิลลิกรัม + Lidocaine HCl 20 มิลลิกรัม/กรัม
  • ยาขี้ผึ้งสำหรับทาบำบัดอาการริดสีดวงทวารที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Fluocortolone pivalate 0.92 มิลลิกรัม + Fluocortolone hexanoate 0.95 มิลลิกรัม + Cinchocaine hydrochloride 5 มิลลิกรัม/1 กรัม
  • ยาเหน็บทวารบำบัดอาการริดสีดวงทวารที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Fluocortolone pivalate 1 มิลลิกรัม + Lidocaine HCl 40 มิลลิกรัม/แท่ง

ฟลูโอคอร์โทโลนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาฟลูโอคอร์โทโลนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก.สำหรับบรรเทาอาการผิวหนังอักเสบ:

  • ผู้ใหญ่: ทายาวันละ 1 - 2 ครั้งหรือตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา

ข.สำหรับบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร:

  • ผู้ใหญ่:  
    • กรณียาเหน็บทวาร; เหน็บยาครั้งละ 1 แท่งเข้าทางทวารหนักวันละ 2 ครั้ง หากอาการรุนแรงอาจต้องเหน็บยาวันละ 3 ครั้ง โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา หรือ  
    • กรณียาทา; ทายาชนิดครีมในบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น หากอาการรุนแรง อาจต้องทายาวันละ 3 ครั้งในช่วงวันแรกของการใช้ยา หรือทายาตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา

*อนึ่ง:

  • ทั้งยาทาและยาเหน็บเพื่อรักษาอาการริดสีดวงทวารอาจมีความแตกต่างของการใช้ยาไปจากนี้ด้วยขึ้นอยู่กับตัวยาสำคัญที่เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับยาแต่ละสูตรด้วย
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้ในเด็กจะต้องเป็นคำสั่งใช้ยาจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และต้องใช้ยาอย่างเคร่งครัดเพราะยานี้อาจส่งผลกระทบถึงการเจริญเติบโตของเด็กได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟลูโอคอร์โทโลน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น       

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูโอคอร์โทโลนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายา/เหน็บยาควรทำอย่างไร?

 หากลืมใช้ยาฟลูโอคอร์โทโลนสามารถทายา/เหน็บยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายา/เหน็บยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ฟลูโอคอร์โทโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูโอคอร์โทโลนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาจทำให้ผิวหนังที่สัมผัสกับตัวยานี้มีลักษณะบางลง
  • อาจทำให้ผิวหนังที่สัมผัสกับตัวยา รู้สึกระคายเคือง แสบคัน หรือคล้ายกับมีการ แพ้ยาเกิดขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูโอคอร์โทโลนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูโอคอร์โทโลน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีการติดเชื้อวัณโรค เชื้อซิฟิลิส หรือเชื้อไวรัส
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามทายาในบริเวณตา
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • หากพบอาการแพ้ยาให้หยุดการใช้ยาทันทีแล้วกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูโอคอร์โทโลนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟลูโอคอร์โทโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานปฏิกิริยาระหว่างยาฟลูโอคอร์โทโลนกับยารับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษาฟลูโอคอร์โทโลนอย่างไร?

ควรเก็บยาฟลูโอคอร์โทโลน:

  • เก็บยาครีม, ยาขี้ผึ้ง ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ยาเหน็บทวาร ให้เก็บที่ช่วงอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส
  • ยานี้ทุกประเภท:
    • ไม่เก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
    • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
    • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟลูโอคอร์โทโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูโอคอร์โทโลน  มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Scheriproct N (เชอริพรอก เอ็น) Intendis
ULTRAPROCT (อัลตร้าพรอก) CSL CSL

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/drug-class/glucocorticoids.html   [2022,May21]
  2. https://patient.info/medicine/fluocortolone-for-inflammatory-skin-conditions  [2022,May21]
  3. https://www.netdoctor.co.uk/medicines/digestion/a7704/ultraproct-ointment-suppositories/  [2022,May21]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Fluocortolone  [2022,May21]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Scheriproct%20N/?type=brief  [2022,May21]
  6. https://www.mims.com/India/drug/info/fluocortolone/?type=full&mtype=generic#Dosage  [2022,May21]
  7. https://www.ndrugs.com/?s=fluocortolone  [2022,May21]
  8. https://www.medsafe.govt.nz/consumers/cmi/u/ultraproct.pdf  [2022,May21]