ฟลูเมทาโซน (Flumetasone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
- บทนำ:คือยาอะไร?
- ฟลูเมทาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ฟลูเมทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟลูเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟลูเมทาโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาหรือหยอดหูควรทำอย่างไร?
- ฟลูเมทาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟลูเมทาโซนอย่างไร?
- ฟลูเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟลูเมทาโซนอย่างไร?
- ฟลูเมทาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- น้ำเข้าหู (Swimmer’s ear)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
- ยาหยอดหู (Ear drops)
บทนำ:คือยาอะไร?
ฟลูเมทาโซน (Flumetasone / Flumethasone) คือ ยาประเภทคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ทางคลินิกนำมาผสมกับยาอื่นและใช้เป็นยาเฉพาะที่/ยาใช้ภายนอก เราสามารถพบเห็นสูตรตำรับของฟลูเมทาโซนในท้องตลาดดังนี้
- เป็นยาหยอดหู ใช้ลดการอักเสบของหูชั้นนอกซึ่งอาจมีการติดเชื้อร่วมด้วย องค์ประกอบ หลักในสูตรตำรับจะมี Flumetasone + Clioquinol (Iodochlorhydroxyquin)
- เป็นยาทาบรรเทาอาการผื่นผิวหนังอักเสบ โดยมีลักษณะเป็นยาขี้ผึ้งหรือยาครีมทาภาย นอก และมีองค์ประกอบหลักเป็น Flumetasone + Salicylic acid
ทั้งนี้ ถึงแม้ยาฟลูเมทาโซนจะเป็นยาใช้ภายนอก แต่สิ่งที่พึงระวังและต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบทุกครั้งคือ ห้ามใช้ยาผิดวิธีเช่น นำยาฟลูเมทาโซนชนิดเป็นยาหยอดหูมาเป็นยาหยอดตา เป็นต้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยานี้ของผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรต้องใช้ยาตามคำแนะนำของจากแพทย์ทุกครั้ง
ฟลูเมทาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาฟลูเมทาโซนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการอักเสบของหูชั้นนอกโดยใช้ในลักษณะยาหยอดหู
- รักษาอาการผื่นผิวหนังอักเสบโดยใช้เป็นยาครีมหรือยาขี้ผึ้งทาผิวหนัง
ฟลูเมทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟลูเมทาโซนคือ ตัวยาจะยับยั้งการหลั่ง/การสร้างสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบของร่างกาย เช่น ไซโตไคน์ (Cytokines) ต่างๆ รวมทั้งยังปิดกั้นการหลั่งสารนั้นๆ จึงมีผลทำให้ร่าง กายลดการตอบสนองต่อตัวกระตุ้นภายนอกที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบ
ฟลูเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟลูเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาขี้ผึ้งหรือยาครีมที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่นยา Flumetasone pivalate 0.02% + Salicylic acid 3%
- ยาหยอดหูที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่นยา Flumetasone pivalate 0.02% + Clioquinol 1%
ฟลูเมทาโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาฟลูเมทาโซนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น
ก. สำหรับรักษาผิวหนังอักเสบ: เช่น
- ผู้ใหญ่: ทายาบางๆในบริเวณผิวที่มีการอักเสบวันละ 2 - 3 ครั้งเป็นเวลา 7 - 10 วัน
ข. สำหรับรักษาหูชั้นนอกอักเสบ (หูติดเชื้อ): เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น หยอดหูข้างที่มีการอักเสบครั้งละ 2 - 3 หยดวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 7 - 10 วัน
*อนึ่ง: ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เนื่องจากยานี้เป็นยาในกลุ่มยาสเตียรอยด์ที่อาจก่อผลข้างเคียงต่อเด็กได้ง่ายกว่าต่อผู้ใหญ่ การใช้ยานี้และขนาดยาในเด็กจึงต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟลูเมทาโซน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูเมทาโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาหรือหยอดหูควรทำอย่างไร?
หากลืมทายา/หยอดหู/ใช้ยาฟลูเมทาโซน สามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในเวลาถัดไป สามารถใช้ยาในขนาดที่ปกติไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาเป็น 2 เท่า
ฟลูเมทาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟลูเมทาโซนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
ก. สำหรับยาหยอดหู:
- อาจก่อให้เกิดอาการแสบคันผิวส่วนที่สัมผัสยา
- หากเปื้อนเส้นผม อาจทำให้เส้นผมเปลี่ยนเป็นสีขาว
ข. สำหรับยาทาผิวหนัง: อาจทำให้เกิดอาการที่ผิวส่วนที่สัมผัสยา เช่น
- คัน
- ผิวแห้ง
- สีผิวที่ทายาซีดจาง
- อาจเกิดอาการแพ้ของผิวหนังบริเวณที่มีการทายา
มีข้อควรระวังการใช้ฟลูเมทาโซนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูเมทาโซน เช่น
- ห้ามทายานี้เป็นบริเวณกว้างบนผิวหนังเกินความจำเป็น เพราะยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่าง กายได้มากขึ้น ส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยา Corticosteroid)
- ห้ามใช้ยานี้นานเกินกว่าที่แพทย์ระบุ
- ห้ามใช้ยานี้กับผิวหนังที่มี โรคเชื้อรา, เชื้อวัณโรค, เชื้อซิฟิลิส, และโรคติดเชื้อไวรัส
- ห้ามทายานี้ในบริเวณที่มีสิวขึ้น
- ห้ามป้ายยา/ทายานี้ใกล้มุมปาก ด้วยอาจเผลอรับประทานยานี้เข้าไป
- ห้ามนำยาหยอดหูหรือยาขี้ผึ้งนี้มาใช้กับตาโดยเด็ดขาด
- หลีกเลี่ยงการทายานี้ในบริเวณผิวหนังที่มีแผลเปิดหรือแผลฉีกขาด
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยาฟลูเมทาโซนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟลูเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยยาฟลูเมทาโซนเป็นยาใช้ภายนอก โอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยามีน้อย จึงยังไม่มีราย งานปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาฟลูเมทาโซนอย่างไร?
ควรเก็บยาฟลูเมทาโซน: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ฟลูเมทาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟลูเมทาโซน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
LOCORTEN VIOFORM (โลคอร์เทน วีโอฟอร์ม) | AFT Pharmaceuticals Ltd |
Lorinden (ลอรินเดน) | Jelfa |
Flumetanol (ฟลูเมทานอล) | ARISTOPHARMA LTD. |
Locasalen (โลคาซาเลน) | Sandoz |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Flumetasone[2021,Oct30]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/flumetasone%20+%20salicylic%20acid?mtype=generic[2021,Oct30]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/flumetasone%20+%20clioquinol?mtype=generic[2021,Oct30]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB00663[2021,Oct30]
- https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.1367.pdf[2021,Oct30]