ฟลูเบนดาโซล (Flubendazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 เมษายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- ฟลูเบนดาโซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ฟลูเบนดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟลูเบนดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟลูเบนดาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟลูเบนดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟลูเบนดาโซลอย่างไร?
- ฟลูเบนดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟลูเบนดาโซลอย่างไร?
- ฟลูเบนดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintic Drugs)
- พยาธิเข็มหมุด(Enterobiasis)
- พยาธิไส้เดือน (Ascariasis)
- พยาธิปากขอ (Hookworm infection)
- พยาธิแส้ม้า (Whipworm) โรคพยาธิแส้ม้า (Trichuriasis)
บทนำ
ยาฟลูเบนดาโซล(Flubendazole) เป็นยาฆ่าพยาธิ/ยาถ่ายพยาธิที่ใช้ได้ทั้งกับมนุษย์และสัตว์เลี้ยงอย่างเช่น สุนัข และแมว ทางคลินิกได้นำยาฟลูเบนดาโซลมาใช้รักษาการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุด(Enterobiasis) พยาธิไส้เดือน(Ascariasis) พยาธิปากขอ(Hookworm) และพยาธิแส้ม้า(Trichuriasis)
สำหรับมนุษย์ ยาฟลูเบนดาโซลมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ยานี้ละลายน้ำได้น้อยมาก และถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ต่ำจึงไม่เหมาะจะนำไปใช้รักษาการติดเชื้อพยาธิตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย ยกเว้นการติดเชื้อในลำไส้เพราะ ยาส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ที่ลำไส้ และส่งผลต่อตัวพยาธิโดยตรง โดยยาฟลูเบนดาโซลจะเข้าจับกับสารโปรตีนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้มีการเคลื่อนตัวในระดับเซลล์ของตัวพยาธิ หรือที่เรียกกันว่าไมโครทิวบูล(Microtubule) การปิดกั้นโดยตัวยาที่มีต่อไมโครทิวบูลดังกล่าว ทำให้ตัวพยาธิไม่สามารถลำเลียงสารอาหารประเภทน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่ตัวมันได้ จึงส่งผลให้เกิดการตัดขาดแหล่งพลังงานในการดำรงชีวิตของพยาธิเหล่านั้น จนเป็นเหตุให้พยาธิเหล่านั้นเป็นอัมพาตและตายลงในที่สุด
การใช้ยาฟลูเบนดาโซลรักษาการติดเชื้อพยาธิแต่ละชนิด มีความแตกต่างกันออกไปในขนาดของยา เช่น การรักษาพยาธิเข็มหมุดให้รับประทานยานี้ 100 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว และอาจต้องให้ยาซ้ำอีก 1 ครั้งในเวลา 2–3 สัปดาห์ถัดมา สำหรับการรักษาเชื้อ พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ และพยาธิแส้ม้า ต้องรับประทานยา 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน ทางคลินิกระบุขนาดการใช้ยานี้ในผู้ใหญ่และเด็กเป็นขนาดเดียวกัน
อย่างไรก็ตามการใช้ยาฟลูเบนดาโซลกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรถ์ ถือเป็นข้อห้าม ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงต่อการใช้ยาแทบทุกประเภทในการอาจเกิดผลข้างเคียง ที่รุนแรง ประกอบกับยาฟลูเบนดาโซลบางส่วนที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้บ้างนั้น อาจก่อผลกระทบบางอย่างที่รุนแรง คือ กดการทำงานของไขกระดูกนั่นเอง
สำหรับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)อื่นๆที่อาจพบเห็นจากยาฟลูเบนดาโซล เช่น รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ อาจพบอาการปวดศีรษะ วิงเวียน ได้บ้าง อาการเหล่านี้จะทุเลาและดีขึ้นเมื่อหยุดใช้ยานี้ และเราอาจพบเห็นการใช้ยานี้ได้ในประเทศเพื่อนบ้านโดยมีชื่อการค้าว่า “Fluvermal”
ฟลูเบนดาโซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาฟลูเบนดาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดการติดเชื้อ พยาธิเข็มหมุด พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า และพยาธิไส้เดือน โดยต้องรับประทานยาในขนาดที่เหมาะสมต่อการฆ่าพยาธิแต่ละชนิด
ฟลูเบนดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิของยาฟลูเบนดาโซลคือ ตัวยาจะเข้าปิดกั้นการทำหน้าที่ของ Microtubule ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อเล็กๆ อยู่ในระดับเซลล์ของตัวพยาธิ จากผลดังกล่าว ทำให้ตัวพยาธิไม่สามารถลำเลียงสารอาหารอย่างน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่ตัวมันได้ ทำให้พยาธิขาดพลังงานในการดำรงชีวิต และตายลงในที่สุด
ฟลูเบนดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟลูเบนดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของยา Flubendazole ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทานที่ผสมยา Flubendazole ขนาด 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ฟลูเบนดาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ก่อนการใช้ยาฟลูเบนดาโซลรักษาโรคพยาธิ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจยืนยันจากแพทย์ว่า มีการติดเชื้อพยาธิชนิดใดเสียก่อน เพราะยาฟลูเบนดาโซลมีขนาดรับประทานต่างกันในแต่ละชนิดของพยาธิ ตัวอย่างเช่น
ก.สำหรับรักษาการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุด:
- ผู้ใหญ่และเด็ก: รับประทานยา 100 มิลลิกรัม ครั้งเดียว และอาจต้องรับประทานยาซ้ำภายในเวลา 2–3 สัปดาห์ถัดมา โดยขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ข.สำหรับรักษาการติดเชื้อ พยาธิแส้ม้า พยาธิไส้เดือน และพยาธิปากขอ:
- ผู้ใหญ่และเด็ก: รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน
อนึ่ง:
- *หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปีลงมา ด้วยทางคลินิกยังไม่ทราบประสิทธิผลของยานี้ที่รวมถึงผลข้างเคียงที่แน่ชัด
- การได้รับยานี้เกินขนาดอาจพบอาการเป็นตะคริวที่หน้าท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หากพบอาการได้รับยาเกินขนาด ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
- ดูแลสุขอนามัยโดยเฉพาะเรื่องการรับประทาน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการติดเชื้อพยาธิซ้ำ
- รับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟลูเบนดาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคเลือด โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูเบนดาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีที่ลืมรับประทานยาฟลูเบนดาโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ทั้งนี้ การรับประทานยาฟลูเบนดาโซลให้ได้ประสิทธิผลของการรักษาเชื้อพยาธิ ต้องอาศัยความต่อเนื่องของการใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์
ฟลูเบนดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟลูเบนดาโซลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดการทำงานของไขกระดูก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง
มีข้อควรระวังการใช้ฟลูเบนดาโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูเบนดาโซล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ก่อนใช้ยานี้ ต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ให้แน่ชัดว่า ติดพยาธิชนิดใด เพราะขนาดยาที่ใช้กับพยาธิแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยน เม็ดยาชื้น หรือแตกหัก หรือยาตกตะกอนแข็งกรณีเป็นยาน้ำ
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเลือด โรคตับ
- ระวังเรื่องสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อป้องกันการกลับมาติดเชื้อพยาธิ เช่น รับประทานอาหารที่สุกสะอาด ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามคำสั่งแพทย์
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูเบนดาโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟลูเบนดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟลูเบนดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูเบนดาโซลร่วมกับยา Amiodarone, Astemizole,Cisapride,Procainamide, ด้วยอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ห้ามใช้ยาฟลูเบนดาโซลร่วมกับยา Oxcarbazepine ด้วยจะเพิ่มการทำลายหรือการกำจัดยาฟลูเบนดาโซลออกจากร่างกายได้เร็วมากขึ้น จนเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาฟลูเบนดาโซลด้อยลงมา
- ห้ามใช้ยาฟลูเบนดาโซลร่วมกับยา Cyclosporine เพราะจะทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงจากยา Cyclosporine มากยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษาฟลูเบนดาโซลอย่างไร?
ควรเก็บยาฟลูเบนดาโซลภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และ เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ฟลูเบนดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟลูเบนดาโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Fluvermal (ฟลูเวอร์มอล) | JANSSEN-ClLAG |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Flutelmium , Flubenol, Biovermin, Flumoxal
บรรณานุกรม
- http://parasitipedia.net/index.php?option=com_content&view=article&id=2702&Itemid=2993[2017,March11]
- http://www.mims.com/india/drug/info/flubendazole/?type=full&mtype=generic#Indications[2017,March11]
- http://www.mims.com/philippines/drug/info/flubendazole?mtype=generic[2017,March11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Flubendazole[2017,March11]
- https://www.medicinep.com/fluvermal-for-synthetic-broad-spectrum-anthelmintic-1316.html[2017,March11]
- https://books.google.co.th/books?id=t7sADAAAQBAJ&pg=PA438&lpg=PA438&dq=phenytoin+with+flubendazole&source=bl&ots=vp5ji8Bt_C&sig=9QD-BrWNVdeUuJz2VL2HcXdLbRQ&hl=en&sa=X&ved=0ahUKEwjcpNz1yJvSAhUGvI8KHcM4AlQQ6AEIGDAA#v=onepage&q=phenytoin%20with%20flubendazole&f=false[2017,March11]