ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือ โพรแซค (Prozac)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 เมษายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาฟลูออกซิทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาฟลูออกซิทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาฟลูออกซิทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาฟลูออกซิทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาฟลูออกซิทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูออกซิทีนอย่างไร?
- ยาฟลูออกซิทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาฟลูออกซิทีนอย่างไร?
- ยาฟลูออกซิทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคจิต (Psychosis)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- โรคซึมเศร้า (Depression): สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า
- กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS / Premenstrual syndrome)
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
บทนำ
ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยาชื่อการค้าที่คนมักรู้จัก คือ ‘โพรแซค (Prozac)’ เป็นยารัก ษาโรคซึมเศร้า/ ยาต้านเศร้า ที่จัดอยู่ในกลุ่มยาประเภท Selective serotonin reuptake inhibitors โดยได้รับการยืนยันประสิทธิภาพจากคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) และถือเป็นยาลำดับต้นๆที่ได้ถูกคัดกรองเพื่อนำมารักษาภาวะซึมเศร้าดังกล่าว และยังถูกนำมาใช้ในวัตถุประ สงค์การรักษาอื่นอีกอาทิเช่น รักษาอาการย้ำคิดย้ำทำ รักษาอาการตื่นตระหนก (Panic disorder) รัก ษาอาการของผู้ป่วยที่มีการบริโภคอาหารผิดปกติ เป็นต้น
ฟลูออกซิทีนยังจัดเป็นยาต้านการซึมเศร้าที่ถูกนำมาใช้กับเด็กมากกว่ายาตัวอื่นๆที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
การศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า ยาฟลูออกซิทีนถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ประมาณ 72% และเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ถึง 94 - 95% ตับจะเป็นอวัยวะที่ช่วยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ และร่างกายต้องใช้เวลา 1 - 3 วันในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ และบางส่วนถูกขับออกมาทางอุจจาระ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาตัวนี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยาได้ปลอดภัยตรงตามวัตถุประสงค์ของการรักษา จึงต้องอยู่ภายในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
ยาฟลูออกซิทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาฟลูออกซิทีนมีสรรพคุณ/ขอบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)
- รักษาอาการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ (Eating disorder)
- บรรเทาอาการย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive disorder)
- รักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual dysphoric disorder)
ยาฟลูออกซิทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของฟลูออกซิทีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของสารเซโรโทนิน (Serotonin, สารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์/จิตใจ) เข้าสู่เซลล์สมอง จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์บรรเทาอาการซึมเศร้าได้ตามสรรพคุณ
ยาฟลูออกซิทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟลูออกซิทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูล ขนาดความแรง 20 มิลลิกรัม/แคปซูล
ยาฟลูออกซิทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟลูออกซิทีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.รักษาโรคซึมเศร้า (Major depressive disorder): เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 20 มิลลิกรัม/วันในตอนเช้า ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษา ให้รับประทาน 20 - 60 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 - 2ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 8 - 18 ปี: รับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็ก: อายุต่ำกว่า 7 ปี ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็กและดุลพินิจของแพทย์
ข.รักษาอาการย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive disorder): เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 20 มิลลิกรัม/วันในตอนเช้า ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษา ให้รับประทาน 20 - 60 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 – 2 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: อายุ 7 - 18 ปี รับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็ก: อายุต่ำกว่า 7 ปี ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็กและดุลพินิจของแพทย์
ค.รักษาอาการรับประทานอาหารผิดปกติ (Eating disorder): เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 60 มิลลิกรัมวันละครั้งในตอนเช้า ผู้ป่วยบางรายอาจเริ่มต้นรับ ประทานต่ำกว่า 60 มิลลิกรัมก็ได้ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็กและดุลพินิจของแพทย์
ง.รักษาอาการตื่นตระหนก (Panic disorder): เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละครั้งในตอนเช้า หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ควรปรับขนาดรับประทานเป็น 20 มิลลิกรัมวันละครั้งตอนเช้า
- เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็กและดุลพินิจของแพทย์
จ. รักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual dysphoric disorder):
- การใช้ยาตัวนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟลูออกซิทีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูออกซิทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟลูออกซิทีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาฟลูออกซิทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟลูออกซิทีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- สามารถพบอาการผื่นคัน
- มีไข้
- หนาวสั่น
- ปวดข้อ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- เหงื่อออกมาก
- สับสน
- มีอาการชัก
- ผิวเย็นและซีด
- ท้องเสีย
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- ปากคอแห้ง
- หิวบ่อย
- กระหายน้ำ
- หายใจลำบาก
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูออกซิทีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูออกซิทีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้มีประวัติแพ้ยาฟลูออกซิทีน
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่มยา Monoamine oxidase inhibitor/ เอมเอโอไอ (ยาต้านเศร้า , ยาโรคพาร์กินสันชนิดหนึ่ง), Pimozide (ยาจิตเวช)
- ไม่แนะนำการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยที่มีประวัติด้วยโรคลมชัก
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวต่ำ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูออกซิทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาฟลูออกซิทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟลูออกซิทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาฟลูออกซิทีนร่วมกับยาแก้ปวด เช่นยา Aspirin อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร/เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่ายขึ้น หากต้องใช้ยาร่วมกันควรปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาฟลูออกซิทีนร่วมกับยารักษาอาการคัดจมูก/Nasal congestion ที่ชื่อยา Phenylpropranolamine (เช่น ในโรคหวัด ไซนัสอักเสบ) ฟลูออกซิทีนอาจทำให้ยาแก้คัดจมูกดังกล่าวมีผล ข้างเคียงต่อร่างกายมากขึ้น จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาฟลูออกซิทีนร่วมกับรักษาโรคหัวใจ เช่นยา Amiodarone อาจเกิดความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาฟลูออกซิทีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาฟลูออกซิทีน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาฟลูออกซิทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟลูออกซิทีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
Actisac (แอคติแซค) | Polipharm |
Anzac (แอนแซค) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Deproxin (เดพร็อกซิน) | Siam Bheasach |
Flulox 20 (ฟลูล็อกซ์ 20) | Medicine Products |
Flumed (ฟลูเมด) | Medifive |
Fluoxetine Medicpharma (ฟลูออกซิทีน เมดิกฟาร์มา) | Medicpharma |
Fluoxine (ฟลูโอซีน) | T. O. Chemicals |
Flusac (ฟลูแซค) | Sriprasit Pharma |
Flutine (ฟลูทีน) | Pharmasant Lab |
Fluxetil (ฟลูเซทิล) | Unison |
Fluxetin Atlantic (ฟลูเซทิน แอทแลนติก) | Atlantic Lab |
Fluzac-20 (ฟลูแซค-20) | L. B. S. |
Foxetin (โฟเซทิน) | GPO |
F-ZAC (เอฟ-แซค) | Patar Lab |
Loxetine-20 (โลซีไทน์-20) | March Pharma |
Magrilan (แมกริแลน) | Medochemie |
Oxetine 20 (ออกซิทีน 20) | Pharmaland |
Oxsac (ออกแซค) | Masa Lab |
Masa Lab | Eli Lilly |
Unprozy (อันโพรซี) | Condrugs |
Xetin (ซีทิน) | T. Man Pharma |
Zezac (เซแซค) | Suphong Bhaesaj |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fluoxetine [2020,April 11]
- https://www.emedexpert.com/compare/ssris.shtml#2 [2020,April 11]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2ffluoxetine%3fmtype%3dgeneric [2020,April 11]
- https://www.drugs.com/prozac.html [2020,April 11]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00472 [2020,April 11]
- https://www.drugs.com/dosage/fluoxetine.html [2020,April 11]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fDrug%2finfo%2fDeproxin%2f%3ftype%3dbrief [2020,April 11]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/amiodarone-with-fluoxetine-167-0-1115-0.html [2020,April 11]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/9617977 [2020,April 11]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a689006.html#storage-conditions [2020,April 11]