พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 ธันวาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- พิเมโครลิมัสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- พิเมโครลิมัสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- พิเมโครลิมัสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- พิเมโครลิมัสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- พิเมโครลิมัสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้พิเมโครลิมัสอย่างไร?
- พิเมโครลิมัสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาพิเมโครลิมัสอย่างไร?
- พิเมโครลิมัสมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- กลุ่มยายับยั้งแคลซินูริน (Calcineurin Inhibitors)
- โรคเซบเดิร์ม โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- ยากดภูมิคุ้มกัน(Immunosuppressants or Immunosuppressive agents)
- โรคพุ่มพวง / โรคลูปัส (Lupus) / โรคเอสแอลอี (SLE)
- โรคด่างขาว (Vitiligo)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory tract infection)
- ทาโครลิมัส (Tacrolimus)
บทนำ
ยาพิเมโครลิมัส(Pimecrolimus) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย (Calcineurin inhibitor) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยารักษาอาการอักเสบของผิวหนัง เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบที่เรียกว่า โรคเซบเดิร์ม(Seborrheic dermatitis), โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี(Cutaneous lupus erythematosus), โรคไลเคนพลานัส(Lichen Planus)ซึ่งเป็นการอักเสบบริเวณปาก
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาพิเมโครลิมัสเป็นยาครีม ที่ใช้ทาเฉพาะที่ตรงผิวหนังที่เกิดโรค และกลไกการออกฤทธิ์ที่ชัดเจนยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดนัก
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัยในการใช้ยาพิเมโครลิมัสเป็นเวลาต่อเนื่องนานๆ และไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
อย่างไรก็ตามยาพิเมโครลิมัส ถูกกำหนดให้ระบุคำเตือนบน ฉลากยา ว่า ‘ยาพิเมโครลิมัสสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงกับการเป็นมะเร็งผิวหนัง’ได้เช่นกัน
เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วย ก่อนที่จะใช้ยาพิเมโครลิมัส แพทย์จะสอบถามประวัติการเจ็บป่วยโดยละเอียด อาทิ
- เคยแพ้ยาพิเมโครลิมัสหรือไม่
- มีโรคทางผิวหนังอะไรบ้าง เช่น มะเร็งผิวหนัง มีการติดเชื้อทางผิวหนัง หรือเป็นผู้ที่มีผิวหนังบางกว่าปกติหรือไม่
- มีการใช้ยากดภูมิคุ้มกันของร่างกายใดๆหรือไม่
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะให้นมบุตร หรืออยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือไม่
นอกจากนี้ระหว่างการใช้ยาพิเมโครลิมัส ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดหรือแสงไฟที่มีความเข้มสูงๆ
- ห้ามรักษาผิวหนังด้วยการฉายแสง/รังสี ร่วมกับยาพิเมโครลิมัส
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัดเพื่อลดการสัมผัสกับเชื้อโรคต่างๆ
- ควรต้องล้างมือบ่อยๆ
- ห้ามใช้ยารักษาผิวหนังชนิดอื่นทาร่วมกับยาพิเมโครลิมัส นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
- ห้ามกลืนยาชนิดนี้และต้องระวังมิให้ยาเข้าดวงตา
ยาพิเมโครลิมัสเป็นยาที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย โดยจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย ผู้บริโภคจึงต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
พิเมโครลิมัสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาพิเมโครลิมัสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาโรคผิวหนังอักเสบต่างๆ เช่น
- โรคเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี (Cutaneous lupus erythematosus)
- โรคไลเคนพลานัส (Oral lichen planus)
- โรคด่างขาว (Vitiligo)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
พิเมโครลิมัสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
เท่าที่การศึกษาค้นคว้าและหลักฐานทางคลินิกพบว่า หลังจากผู้ป่วยทายาพิเมโครลิมัส บริเวณผิวหนัง ตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของกลุ่มโปรตีนที่มีชื่อว่า Calcineurin ที่ปกติโปรตีนCalcineurin จะช่วยกระตุ้นการทำงานและการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาว ชนิดที-เซลล์ (T-Cell) ด้วยเหตุผลดังกล่าวส่งผลให้ที-เซลล์หยุดการเจริญเติบโต และหยุดการแบ่งเซลล์ จากนั้นจะเกิดการกีดกันการปลดปล่อยสารที่กระตุ้นการอักเสบ ของผิวหนังออกมา(Inflammatory cytokines) จากกลไกดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
พิเมโครลิมัสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาพิเมโครลิมัส:
- ยาครีมทาผิวหนังภายนอก ที่ประกอบด้วยตัวยา Pimecrolimus ที่มีความเข้มข้น 1%
พิเมโครลิมัสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาพิเมโครลิมัสมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป : ทายาบางๆ บริเวณผิวหนังที่มีการอักเสบหรือมีรอยโรควันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
อนึ่ง:
- หากอาการโรคไม่ดีขึ้นภายใน 6 สัปดาห์ ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาขอคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาล
- ห้ามทายานี้บริเวณผิวหนังที่เป็นแผลเปิด
- ไม่ทายานี้บริเวณผิวหนังที่มีสภาพเป็นปกติ
- ห้ามมิให้ยานี้ เข้าปาก เข้าตา
- ใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่ เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพิเมโครลิมัส ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคมะเร็งผิวหนัง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพิเมโครลิมัสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมทายาพิเมโครลิมัส สามารถทายาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดการทายาเป็น 2 เท่า ให้ทายาที่ขนาดปกติเท่านั้น
พิเมโครลิมัสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาพิเมโครลิมัส สามารถกระตุ้นให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดอาการผื่นคัน ระคายเคืองผิวที่สัมผัสยา ผิวหนังอักเสบ เกิดลมพิษ ติดเชื้อไวรัสตรงบริเวณผิวหนังที่ทายา เช่น งูสวัด หรือเริม
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ /ปวดหัว มีไข้
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น
- เยื่อจมูกอักเสบ
- เจ็บคอ-คออักเสบ
- โรคติดเชื้อ ทางเดินหายใจส่วนบน
- ไอ
- หลอดลมอักเสบ
*อนึ่ง: ทั่วไป อาการข้างเคียงดังกล่าวจะหายไปเองเมื่อหยุดใช้ยานี้
มีข้อควรระวังการใช้พิเมโครลิมัสอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาพิเมโครลิมัส เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยาเองโดยไม่ขอคำแนะนำจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานานเกินคำสั่งแพทย์
- หลีกเลี่ยงการออกแดดหรืออยู่ในบริเวณที่มีแสงไฟที่มีความสว่างมากๆ
- ห้ามใช้ผ้า หรือ พลาสเตอร์ยา ปิดทับบริเวณผิวหนังที่ทายา
- ล้างมือก่อนและหลังใช้ยาทุกครั้ง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาพิเมโครลิมัสด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
พิเมโครลิมัสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาพิเมโครลิมัสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาพิเมโครลิมัส ร่วมกับ ยาTacrolimus ด้วยจะทำให้ความเข้มข้นของยาตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้ง 2 ตัวเพิ่มมากขึ้นในกระแสเลือด จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายตามมา
ควรเก็บรักษาพิเมโครลิมัสอย่างไร?
ควรเก็บรักษาพิเมโครลิมัส เช่น
- สามารถเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
พิเมโครลิมัสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาพิเมโครลิมัส มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Elidel (อีลิเดล) | Norvartis |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pimecrolimus [2019,Nov30]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2006/021302s011lbl.pdf [2019,Nov30]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/pimecrolimus/?type=brief&mtype=generic [2019,Nov30]
- https://www.drugs.com/cdi/pimecrolimus.html[2019,Nov30]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/pimecrolimus-topical.html[2019,Nov30]