พิษคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide poisoning)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

พิษคาร์บอนมอนอกไซด์(Carbon monoxide poisoning) คือ ภาวะที่หายใจเอาก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่ปอด/ร่างกายมากเกินปกติ ถ้าได้รับในปริมาณไม่มาก อาการหลัก เช่น ปวดหัว, วิงเวียน, เจ็บหน้าอก, สับสน, แต่เมื่อหายใจเข้าปอดในปริมาณมาก อาการหลักคือ ผิวจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู, หัวใจเต้นผิดจังหวะ,  ชัก, หมดสติ, และถึงตายในที่สุด

ทั่วโลกพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ พบเป็นสาเหตุบ่อยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการ เจ็บป่วยหรือการตายที่เกิดจากสารพิษต่างๆทั้งที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือจากการฆ่าตัวตาย  แต่ไม่มีรายงานสถิติเกิดในภาพรวม, ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบได้มากกว่าปีละ40,000ราย,  เป็นพิษที่เกิดได้ทุกอายุ เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิง

อนึ่ง: ชื่ออื่นของพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ คือ  Carbon monoxide toxicity 

คาร์บอนมอนอกไซด์คืออะไร?

พิษคาร์บอนมอนอกไซด์-01

คาร์บอนมอนอกไซด์ ตัวย่อคือ ซีโอ/CO   คือ ก๊าซพิษที่ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส  เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารอินทรีย์ โดยส่วนประกอบหลักเป็นธาตุคาร์บอนที่รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง   

แหล่งกำเนิดคาร์บอนมอนอกไซด์: ที่รู้จักกันดี เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง  น้ำมันดิน ถ่านหิน ยางไม้  พาราฟิน สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ปิโตรเคมี  การเผาไหม้ ฯลฯ ที่รวมเรียกว่า ‘Carbonaceous materials’ ซึ่งในชีวิตประจำวันจะปนเปื้อนอยู่ในควันต่างๆที่เกิดจากการเผาไหม้สารกลุ่มดังกล่าวที่เราหายใจเข้าไป เช่น ควันจาก น้ำมันรถยนต์, เตาเผา, ตะเกียง, การปิ้งย่าง, ปั๊มน้ำมัน, เตาหลอมต่างๆ, การเผาไม้/เผาถ่าน,  เครื่องทำความร้อน, หม้อน้ำร้อนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ,ก๊าซธรรมชาติที่ใช้หุงต้ม, ควันบุหรี่, ฯลฯ

คาร์บอนมอนอกไซด์ก่อพิษต่อร่างกายอย่างไร?

พิษคาร์บอนมอนอกไซด์เกิดจาก 2 ทาง คือ ทางหายใจ และ จากสัมผัสผิวหนัง

ก. ทางหายใจ: พิษเกิดจากสูดดมก๊าซนี้เข้าสู่ปอด เป็นพิษที่รุนแรงและเป็นเหตุถึงตายได้สูงถ้าสูดดมในปริมาณมากและ/หรือในระยะเวลานานพอ เพราะเมื่อก๊าซนี้ผ่านจากปอดเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับฮีโมโกลบิน(สารในเม็ดเลือดแดงที่เป็นตัวนำออกซิเจนไปเลี้ยง/ให้พลังงานกับทุกเซลล์/ทุกอวัยวะทั่วร่างกาย)แทนออกซิเจน เรียกว่า ‘Carboxyhemoglobin’ ดังนั้นทุกเซลล์ทุกอวัยวะจึงอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน/ขาดพลังงาน ทุกเซลล์/ทุกอวัยวะจึงทำงานไม่ได้ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติกับทุกอวัยวะ(กล่าวใน‘หัวข้อ อาการฯ’)โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญต่อการมีชีวิตที่ต้องใช้ออกซิเจนในปริมาณมาก คือ หัวใจ ปอด และสมอง ที่เมื่อขาดออกซิเจนจะเป็นสาเหตุการตายเฉียบพลัน  โดยอัตราตายจะสูงเมื่อสูดหายใจก๊าซนี้ในปริมาณสูงและ/หรือถึงแม้ปริมาณไม่มากแต่สูดดมต่อเนื่องเป็นเวลานานพอ

อนึ่ง: พิษฯที่เกิดจากการหายใจก๊าซนี้มักเกิดในสถานที่การไหลเวียนอากาศไม่ดี, ผู้คนแออัด,  สถานที่ปิด, หรือควันที่เกิดจากไฟไหม้รุนแรงของโรงงานที่ใช้น้ำมันปริมาณมากเพราะเป็นสถานที่ที่จะเกิดการสะสมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ในปริมาณมาก  

ข. จากสัมผัสผิวหนัง: เมื่อผิวหนังสัมผัสก๊าซนี้โดยตรงในปริมาณมาก เช่น ควัน,  เขม่า,  อาจส่งผลให้ผิวหนังเกิดอาการคล้ายแผลไหม้ได้ (กล่าวในหัวข้อต่อไป ‘หัวข้อ อาการฯ’)

พิษคาร์บอนมอนอกไซด์ก่ออาการอย่างไร?

อาการจากพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่มีอาการเฉพาะ แต่เป็นอาการเหมือนโรคอื่นๆตามความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะต่างๆ   ทั้งนี้อาการอาจเกิดได้ภายในระยะเวลาเป็นนาที หรือ ชั่วโมงหลังได้รับพิษฯ และอาจคงอยู่ได้นานหลายวันถึงเป็นเดือนหรือหลายๆเดือน หรือตลอดไป   ซึ่งอาการเกิดได้กับทุกระบบอวัยวะ  แต่พบบ่อยคือ ระบบหายใจ/ปอด,  หัวใจ,  และสมอง  

ทั้งนี้ ความรุนแรงของอาการฯขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น

  • ความเข้มข้นของก๊าซนี้ในอากาศที่หายใจ หรือที่สัมผัสผิวหนัง
  • ระยะเวลาที่ได้รับก๊าซนี้
  • ช่วงระยะเวลาหลังได้รับก๊าซนี้จนถึงพบแพทย์/หรือได้รับการรักษา
  • ความสามารถในการกำจัดก๊าซนี้ของร่างกาย เช่น สุขภาพทั่วไป, สุขภาพปอด, ไต ตับ
  • การตอบสนองต่อการรักษาโดยเฉพาะต่อการให้ออกซิเจนของแต่ละคน

อาการจากได้รับพิษเฉียบพลัน:

          อาการจากได้รับพิษนี้ในปริมาณมากพออย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาการอาจเกิดทันที,   เป็นนาที หรือ ชั่วโมง หรือ 24 ชั่วโมง, ขึ้นกับปริมาณก๊าซนี้ที่ร่างกายได้รับ ที่พบบ่อย เช่น

ก. พิษที่เกิดจากการหายใจ:

  • เมื่อสูดดมในปริมาณน้อยๆ และในระยะเวลาสั้นๆ: มักเป็นอาการที่ไม่รุนแรง เช่น
    • ปวดหัว
    • วิงเวียน
    • อาเจียน
    • อาจเจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก
    • ตาเห็นภาพไม่ชัด อาจถึงขั้นมองไม่เห็นในบางคน
    • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
  • เมื่อสูดดมก๊าซนี้ในปริมาณมาก และ/หรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน: อาการ เช่น
    • หอบเหนื่อย/หายใจลำบาก, ปอดบวมน้ำ จนถึงขั้นภาวะหายใจล้มเหลว และหยุดหายใจในเวลาต่อมา
    • เจ็บหน้าอก
    • หัวใจเต้นเร็ว, หัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • สับสน เลอะเลือน จำอะไรไม่ได้ อาจเห็นภาพหลอน
    • พูดไม่ชัด
    • อาจชัก
    • หมดสติ
    • น้ำตาลในเลือดสูง
    • ภาวะเลือดเป็นกรด
    • ความดันโลหิตต่ำ
    • อาจไตวายเฉียบพลัน
    • และตายในที่สุด

 

ข. พิษจากผิวหนังสัมผัสก๊าซนี้: อาการพบได้เฉพาะบริเวณที่สัมผัสในปริมาณมากๆ  เช่น

  • ผิวที่สัมผัสเปลี่ยนเป็นสีแดง อาจเกิดเป็นตุ่มน้ำ และอาจเกิดลักษณะคล้ายแผลเนื้อตายได้ ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณก๊าซฯสัมผัส
  • *กรณีสูดดมก๊าซนี้ในปริมาณมาก ผิวหนัง/ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู(Cherry-red)ที่เกิดจากสีของก๊าซนี้ที่จับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง(Carboxyhemoglobin)ในหลอดเลือดทั่วร่างกาย ซึ่งอาการนี้ แพทย์ใช้ช่วยวินิจฉัยว่า ‘ผู้ป่วยน่าจะได้รับพิษจากก๊าซนี้’

 

อาการจากได้รับพิษเรื้อรัง:

 หมายถึงอาการที่เกิดจากการสูดหายใจเอาก๊าซนี้เช่นกัน แต่ในปริมาณน้อยๆและ ต่อเนื่อง อาจเป็นหลายๆสัปดาห์หรือเป็นเดือน ซึ่งอาการที่พบจะไม่มากแต่มักเกิดต่อเนื่อง, ซึ่งไม่มีอาการเฉพาะแต่เป็นอาการทั่วไปคล้ายที่เกิดจากหลากหลายสาเหตุอื่นๆที่ไม่ใช่จากสูดดมก๊าซนี้ เช่น

  • ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • คลื่นไส้ อาจมีอาเจียน
  • สับสน
  • หลงลืมผิดปกติ
  • หูได้ยินลดลง

ทั้งนี้ ถ้าหาสาเหตุได้แต่เนิ่นๆและหยุดการสูดดมก๊าซนี้ และรักษาได้ทัน อาการมักหายเป็นปกติ ยกเว้นบางคนที่สูดดมก๊าซนี้ต่อเนื่องนานๆหลายๆปี

นอกจากนี้  การสูดดมก๊าซนี้ในปริมาณน้อยๆต่อเนื่อง เช่น จากควันในการเผาไหม้สารอินทรีย์ต่างๆ(เช่น ควันจากการปิ้งย่าง หรือการเผา ไม้ หญ้า)

  • มักส่งผลให้อาการทางโรคหัวใจและหลอดเลือดแย่ลง
  • หรืออาจเกิดปัญหาในการเจริญเติบโตต่อทารกในครรภ์ในกรณีผู้สูดดมตั้งครรภ์

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อมีการสูดดมควันต่างๆ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่การไหลเวียนอากาศไม่ดี ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล อาจต้องเป็นการฉุกเฉิน/ทันที่เมื่ออาการรุนแรง

แพทย์วินิจฉัยพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ได้อย่างไร?

หลักที่แพทย์ใช้วินิจฉัยพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ คือ ประวัติการได้รับก๊าซนี้ก่อนเกิดอาการ(หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ)ร่วมกับอาการต่างๆ(หัวข้อ อาการฯ) นอกจากนั้น ที่จะใช้ประกอบ ได้แก่

  • ตรวจวัดสัญญาณชีพ
  • การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจประเมินอาการ ทางการหายใจ ทางหัวใจ ทางสมอง และทางผิวหนัง
  • ในเพศหญิงวัยเจริญพันธ์ คือ การซักถามประวัติ ประจำเดือน อาจรวมถึงการตรวจปัสสาวะ/เลือดดูการตั้งครรภ์
  • *การตรวจเพื่อยืนยันว่า อาการเกิดจากพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ เช่น
    • ตรวจเลือดดูค่าสารที่เกิดจากก๊าซนี้จับในเม็ดเลือดแดง(Carboxyhemoglobin)
  • ตรวจอื่นๆทางห้องปฏิบัติการ เพื่อดูความรุนแรงของอาการ เช่น
    • ตรวจเลือดดู ค่าน้ำตาลในเลือด
    • ตรวจหาค่าออกซิเจนในเลือดจากปลายนิ้ว
    • อื่นๆ ตามดุลพินิจของแพทย์

รักษาพิษคาร์บอนมอนอกไซด์อย่างไร?

แนวทางการรักษาพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ ได้แก่

  • การสูดดมออกซิเจนความเข้มข้น100%จนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • ถ้าอาการรุนแรงมาก และ/หรือ ไม่ตอบสนองต่อการให้ออกซิเจน100% และ/หรือในหญิงตั้งครรภ์ และถ้ามีอุปกรณ์นี้อยู่ แพทย์จะพิจารณาให้ออกซิเจนแรงดันสูง(Hyperbaric oxygen therapy: HBO)
  • การดูแลอื่นๆเพื่อทั้งรักษาและป้องกัน ซึ่งจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น
    • อาการทางปอดและระบบหายใจ
    • อาการทางหัวใจ/ระบบหัวใจและหลอดเลือด
    • อาการทางสมอง
    • อาการทาง ตับ, ไต

พิษคาร์บอนมอนอกไซด์ร้ายแรงไหม? ก่อมะเร็งไหม?

ความรุนแรงของพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ขึ้นกับหลายปัจจัย(หัวข้อ อาการฯ) ถ้าได้รับในปริมาณน้อย อาการต่างๆจะเป็นอยู่ชั่วคราว และสามารถหายเป็นปกติได้

ถ้าได้รับก๊าซนี้ ปริมาณสูง อาจเป็นสาเหตุถึงตายจากสมอง ปอด และหัวใจขาดออกซิเจนเฉียบพลัน

ถ้าได้รับก๊าซนี้ในระดับรุนแรงแต่ไม่ถึงทำให้เสียชีวิต อาการทางปอด หัวใจ และสมอง อาจค่อยๆดีขึ้น แต่มักรักษาไม่หายกลับเป็นปกติ โดยเฉพาะในด้านความจำ ซึ่งอาการเหล่านั้นอาจส่งผลให้ต้องอยู่ในการดูแลต่อเนื่องของแพทย์

ในด้านโรคมะเร็ง: องค์กรด้านโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (IARC: The International Agency for Research on Cancer) จัดให้ก๊าซนี้ ‘ไม่’เป็นสารก่อมะเร็งในคน

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเคยได้รับพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับก๊าซนี้เพิ่มอีก
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่ออาการต่างๆแย่ลง หรือมีอาการผิดปกติใหม่ๆเกิดขึ้น หรือ
  • กังวลในอาการ

ป้องกันพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ได้อย่างไร?

การป้องกันพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ คือ

  • หลีกเลี่ยงการได้รับพิษก๊าซนี้จากในบ้าน

ด้วยการดูแลบำรุงรักษาเครื่องใช้ในบ้านที่สามารถให้กำเนิดควัน ไม่ให้อยู่ในสภาพที่ชำรุดทั้งจากที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและก๊าซ รวมถึง

  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ที่รวมถึงสูบบุหรี่ในบ้าน และ
  • จัดบ้านเรือน โดยเฉพาะสถานที่ๆใช้เครื่องไฟฟ้าและก๊าซต่างๆต้องมีการระบาย/หมุนเวียนอากาศที่ดี เพื่อป้องกันการสะสมควันต่างๆที่มีก๊าซนี้ปนอยู่ด้วย

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK430740/    [2022,June4]
  2. https://www.cdc.gov/co/faqs.htm  [2022,June4]
  3. https://www.cdc.gov/disasters/co_guidance.html  [2022,June4]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Carbon_monoxide_poisoning  [2022,June4]
  5. https://dermnetnz.org/topics/carbon-monoxide-poisoning  [2022,June4]
  6. https://www.nhs.uk/conditions/carbon-monoxide-poisoning/  [2022,June4]
  7. https://emedicine.medscape.com/article/819987-overview#showall  [2022,June4]
  8. https://www.atsdr.cdc.gov/toxfaqs/tfacts201.pdf  [2022,June4]