พิมาแวนเซอริน (Pimavanserin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาพิมาแวนเซอริน(Pimavanserin) เป็นยาทางเลือกใหม่ที่ใช้บำบัดอาการประสาทหลอนหรืออาการหลงผิดในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ยานี้ได้รับการขึ้นทะเบียนครั้งแรกเมื่อเมษายน ค.ศ.2016(พ.ศ.2559) มีสถิติทางคลินิกระบุว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันประมาณ 50% จะมีอาการได้ยินเสียงหรือเห็นภาพที่ไม่มีอยู่จริงในขณะนั้นหรือที่เรียกว่าประสาทหลอน อาการเหล่านี้จะนำมาด้วยความสูญเสีย การรับรู้ ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนกระทบต่ออารมณ์ของผู้ป่วย

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาพิมาแวนเซอรินเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาบางส่วนจะถูกลำเลียงไปทำลายที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 54–56 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดส่วนใหญ่ทางปัสสาวะและบางส่วนทางอุจจาระ แพทย์จะสั่งจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยรับประทานวันละ1ครั้งต่อเนื่อง ก็เพียงพอต่อการออกฤทธิ์บำบัดอาการประสาทหลอนของผู้ป่วยพาร์กินสันได้แล้ว

การออกฤทธิ์ของยาพิมาแวนเซอรินจะเกิดที่สมอง และมีกลไกที่เรียกในศัพท์วิชาการว่า Inverse agonist และ antagonist ที่ตัวรับ(Receptor) ชนิด Serotonin หรือ 5-HT2A หรือ 5-hydroxytryptamine 2A receptor ทำให้สารสื่อประสาทอย่าง Serotonin มีระดับที่เหมาะสมใกล้เคียงกับภาวะปกติ และส่งผลทำให้อาการประสาทหลอนหรืออาการหลงผิดดีขึ้น

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะต้องรับประทานยาพิมาแวนเซอรินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน 6 สัปดาห์ขึ้นไปจึงจะเห็นประสิทธิผลอย่างชัดเจน

มีคำเตือนบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบเกี่ยวกับยาพิมาแวนเซอริน คือ

1. การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมและมีภาวะประสาทหลอนร่วมด้วย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยประมาณ 4.5% โดยทางคลินิกสรุป สาเหตุของการเสียชีวิตมาจากอาการของโรคหัวใจ เช่น หัวใจล้มเหลว หรือเสียชีวิตด้วยการติดเชื้อ เช่น เกิดโรคปอดบวม จึงมีข้อห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมและมีภาวะประสาทหลอนร่วมด้วย

2. ยาพิมาแวนเซอรินจะส่งผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจตั้งแต่ Q wave ไปจนถึง T wave ยาวนานขึ้น (QT interval prolongation) ซึ่งส่งผลทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติหัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยเสี่ยงต่อการทำให้เกิดหัวใจเต้นช้าและเสียชีวิตในที่สุด

3. ระหว่างที่ได้รับยาพิมาแวนเซอรินแล้วพบอาการเจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก พร้อมกับมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย หรือมีอาการวิงเวียนอย่างรุนแรง ต้องรีบนำผู้ป่วยส่ง โรงพยาบาลทันที

4. สำหรับผู้ที่รับประทานยานี้เกินขนาด สามารถสังเกตได้จาก อาการคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วย กรณีนี้ต้องรีบส่งตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว

5. ไม่แนะนำการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ ด้วยตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ทำลาย สารพิษต่างๆที่รวมถึงยาพิมาแวนเซอรินด้วยเช่นกัน หากตับทำงานบกพร่องโอกาสที่ผู้ป่วยจะได้รับพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากยาพิมาแวนเซอรินย่อมมีมากขึ้น

6. ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้

ยาพิมาแวนเซอรินจัดว่าเป็นยาใหม่ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนมาไม่กี่ปี เราจึงพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในต่างประเทศภายใต้ชื่อการค้าว่า Nuplazid อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีสภาวะประสาทหลอนเป็นปริมาณมากพอสมควร ก็อาจเป็นเหตุผลหรือช่องทางการนำยาพิมาแวนเซอรินเข้ามาใช้ภายในประเทศก็เป็นได้

พิมาแวนเซอรินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

พิมาแวนเซอริน

ยาพิมาแวนเซอริน มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการประสาทหลอนและอาการหลงผิดในผู้ป่วยพาร์กินสัน

พิมาแวนเซอรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

อันที่จริงนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบกลไกออกฤทธิ์อย่างเด่นชัดของยาพิมาแวนเซอริน แต่หลักฐานทางคลินิกพบว่า ยาพิมาแวนเซอรินจะออกฤทธิ์ต่อตัวรับ 5-HT2A ที่อยู่ในเซลล์ประสาทในสมองในลักษณะ Inverse agonist และ antagonist ส่งผลให้เปลี่ยนแปลงสมดุล ของระดับ Serotonin ในสมอง อาจเป็นด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้อาการหลงผิดและอาการประสาทหลอนบรรเทาและดีขึ้นตามลำดับ

พิมาแวนเซอรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพิมาแวนเซอรินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยาPimavanserin ขนาด 17 มิลลิกรัม/เม็ด

พิมาแวนเซอรินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาพิมาแวนเซอรินมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 34 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพิมาแวนเซอริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพิมาแวนเซอริน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาพิมาแวนเซอริน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

พิมาแวนเซอรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพิมาแวนเซอรินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ตัวยาพิมาแวนเซอรินอาจทำให้เกิดอาการประสาทหลอนได้เช่นกัน นอกจากนี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เกิดอาการ คลื่นไส้ ท้องผูก
  • ผลต่อระบบหัวใจและระบบเลือด: เช่น มือ-เท้าเกิดอาการบวม
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น การควบคุมการเดินหรือการเคลื่อนที่ทำได้ไม่ดีเหมือนเดิม
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)

มีข้อควรระวังการใช้พิมาแวนเซอรินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพิมาแวนเซอริน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามหยุดการรับประทานโดยไม่ได้ขอคำปรึกษากับแพทย์
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจ ของแพทย์เท่านั้น
  • ระหว่างได้รับยานี้ ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การทำงานของตับ ตามที่แพทย์นัดหมายเป็นระยะไป
  • หากพบอาการ เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก คลื่นไส้ร่วมกับอาเจียน วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจประเมินอาการทางระบบประสาทตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง ผู้ป่วยไม่ควรละทิ้งการรักษาไปเฉยๆ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใข้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาพิมาแวนเซอรินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

พิมาแวนเซอรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพิมาแวนเซอรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาพิมาแวนเซอรินร่วมกับยา Ritonavir และ Boceprevir ด้วยจะ ทำให้ระดับยาพิมาแวนเซอรินในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดอาการ หัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ห้ามใช้ยาพิมาแวนเซอรินร่วมกับยา Codeine หรือ Morphine เพราะจะทำให้เกิดภาวะกดสมอง จนส่งผลให้ระบบการหายใจผิดปกติ เกิดอาการหายใจขัด จนเกิดภาวะโคม่าและถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
  • ห้ามใช้ยาพิมาแวนเซอรินร่วมกับ ยาCabozantinib ด้วยจะทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจตั้งแต่ Q wave จนถึง T wave มีระยะเวลายาวนานขึ้น จนอาจส่งผลทำให้ วิงเวียน เป็นลม ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหายใจขัดตามมา
  • ห้ามใช้ยาพิมาแวนเซอรินร่วมกับ ยาAmiodarone เพราะเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ระดับอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)อย่าง แมกนีเซียม และ โปแตสเซียม ในเลือดต่ำ ตลอดจนมีอาการท้องเสีย หรืออาเจียนอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง

ควรเก็บรักษาพิมาแวนเซอรินอย่างไร?

เก็บยาพิมาแวนเซอริน ในช่วงอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

พิมาแวนเซอรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพิมาแวนเซอริน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Nuplazid (นูพลาซิด)Acadia Pharmaceuticals Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://thesocialmedwork.com/shop/nuplazid-pimavanserin?gclid=Cj0KCQiA2NXTBRDoARIsAJRIvLwjjhq7qzD-FVvNTNyWkuLqKAdD9MqIsiVvcJcw9j9Zjx8A00XR55QaAqqHEALw_wcB [2018,March10]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Pimavanserin [2018,March10]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2016/207318lbl.pdf [2018,March10]
  4. https://www.drugs.com/mtm/pimavanserin.html [2018,March10]
  5. https://www.drugs.com/sfx/pimavanserin-side-effects.html [2018,March10]