พินโดลอล (Pindolol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาพินโดลอล(Pindolol) เป็นยาในกลุ่ม เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker) โดยตัวยามีการออกฤทธิ์ต่อตัวรับหรือหน่วยรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า เบต้า รีเซ็ปเตอร์ (Beta receptor) หน่วยรับดังกล่าวถูกพบที่กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบ หลอดลม หลอดเลือดฝอย ไต และเนื้อเยื่อของเซลล์ประสาทชนิด Sympathetic nervous system ทางการแพทย์นำมาใช้รักษา โรคความ ดันโลหิตสูง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด(Angina pectoris) บางประเทศนำไปใช้รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ เป็นยาชนิดรับประทาน

ตัวยาพินโดลอล มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 87% จากนั้นจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 40-60 % ยาพินโดลอลสามารถซึมผ่านรก และเข้าสู่น้ำนมของมารดาได้ ตับเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลง/ทำลายโครงสร้างเคมีของยาพินโดลอล และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 – 4 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ยาพินโดลอล จะมีผลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงการบีบตัวลดลง และจะส่งผลดีต่อความดันโลหิตของผู้ป่วย

ข้อจำกัดในการใช้ยาพินโดลอล ที่ผู้บริโภคควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาพินโดลอล
  • มีอัตราการเต้นของหัวใจช้าอย่างรุนแรง ป่วยเป็นโรคหัวใจล้มเหลว หรืออยู่ใน ภาวะช็อกที่เกิดจากหัวใจทำงานผิดปกติ
  • มีอาการหอบหืด
  • มีการใช้ยา Mibefradil (ยาลดความดันโลหิต) อยู่ก่อนแล้ว

ทั้งนี้ ยังมีการเจ็บป่วยอื่นๆ หรือสถานะของสุขภาพต่างๆที่ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบทุกครั้งก่อนที่จะมีการสั่งจ่าย ยาพินโดลอล เช่น อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ อยู่ในภาวะให้นมบุตร มีอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นโรคหัวใจ อาการป่วยของโรคไต โรคตับ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เนื้องอกในบริเวณต่อมหมวกไต (Pheochromocytoma) เป็นต้น

อนึ่ง อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่สามารถพบเห็นได้จากการใช้ยาพินโดลอล เช่น วิงเวียน เป็นลม และระหว่างการใช้ยาพินโดลอลในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก ผู้ป่วยอาจพบอาการเหนื่อยง่าย หากอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์หลังรับประทานยานี้ ผู้ป่วยควรรีบต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ประเมินการรักษาอีกครั้ง

กรณีที่ได้รับยาพินโดลอล แพทย์จะกำชับไม่ให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยานี้ทันที ด้วยจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ หรือหัวใจล้มเหลวตามมา

ดังนั้น จะเห็นว่ายาพินโดลอล มีข้อจำกัดและข้อควรระวังในการใช้มากมาย การใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

พินโดลอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

พินโดลอล

ยาพินโดลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง(Hypertension)

พินโดลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาพินโดลอลคือ ตัวยาจะเข้าไปปิดกั้นตัวรับที่เรียกว่า Beta receptor ตัวรับดังกล่าวจะอยู่ตามเนื้อเยื่อของ หัวใจ และ หลอดเลือด ส่งผลให้หัวใจและหลอดเลือดลดการบีบตัว และลดอัตราการเต้นลง จนเป็นผลให้ลดความดันโลหิตได้ในที่สุด

พินโดลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพินโดลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด

พินโดลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดยาพินโดลอลที่ใช้จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินจาก ชนิดของโรค ความรุนแรงของอาการ และโรคประจำตัวต่างๆของผู้ป่วย ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง ขนาดรับประทานสำหรับในโรคความดันโลหิตสูง เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 10-60 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งสามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือพร้อม อาหารก็ได้
  • เด็ก: ขนาดการใช้ยานี้กับเด็กยังมิได้ถูกระบุในทางคลินิก ชัดเจน การใช้ยานี้กับเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง

  • รับประทานยานี้ตรงเวลาตามคำสั่งแพทย์เสมอ ห้ามหยุดรับประทานยานี้เอง ถึงแม้จะรู้สึกว่าอาการป่วยหายดีแล้ว
  • ตรวจสอบความดันโลหิตระหว่างที่ใช้ยาพินโดลอลเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาพินโดลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพินโดลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาพินโดลอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาพินโดลอลตรงเวลา เพราะการลืมรับประทานยานี้บ่อยครั้ง อาจส่งผลทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ และเกิดอันตรายตามมา

พินโดลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพินโดลอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะหัวใจเต้นช้า บวมตามร่างกาย หัวใจหยุดเต้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการ วิงเวียน ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น อาจตุ้นให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปากแห้ง รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดตะคริว ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น สมรรถภาพทางเพศด้อยลง

มีข้อควรระวังการใช้พินโดลอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพินโดลอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาพินโดลอล
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อกด้วยโรคหัวใจล้เหลว ผู้ป่วยด้วยโรคหืด ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าอย่างรุนแรง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเองในทันที
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอระหว่างที่ใช้ยานี้ ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ให้หยุดใช้ยานี้ทันที และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • ระหว่างการใช้ยานี้ แล้วอาการไม่ดีขึ้นตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ควรออกกำลังกาย รับประทานอาหาร พักผ่อน ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพินโดลอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

พินโดลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพินโดลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาพินโดลอลร่วมกับยา Verapamil และ Diltiazem อาจทำให้หัวใจเต้นช้าอย่างรุนแรงจนเกิดอันตราย จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาพินโดลอลร่วมกับยา Hydralazine, Hydrochlorothiazide, MAOIs, อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา หากไม่มีความจำเป็นใด ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การรับประทานยาพินโดลอลร่วมกับยา Dolasetron สามารถทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาพินโดลอลอย่างไร?

ควรเก็บยาพินโดลอล ที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความชื้นและความร้อน เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

พินโดลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพินโดลอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Visken (วิสเคน)Novartis

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/dosage/pindolol.html#Usual_Adult_Dose_for_Hypertension [2016,Aug13]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Pindolol [2016,Aug13]
  3. http://www.mims.com/malaysia/drug/info/pindolol?mtype=generic [2016,Aug13]
  4. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2007/018285s034lbl.pdf [2016,Aug13]