พาลิวิซูแมบ (Palivizumab)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 มิถุนายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- พาลิวิซูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- พาลิวิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- พาลิวิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- พาลิวิซูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- พาลิวิซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้พาลิวิซูแมบอย่างไร?
- พาลิวิซูแมบมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาพาลิวิซูแมบอย่างไร?
- พาลิวิซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)
- โรคอาร์เอสวี หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial virus infection)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
บทนำ
ยาพาลิวิซูแมบ (Palivizumab) เป็นยาประเภทโมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal antibody) มีฤทธิ์รบกวนการรวมตัวของไวรัสอาร์เอสวี(Respiratory syncytial virus/RSV ที่ก่อ โรคอาร์เอสวี)กับเซลล์ในระบบทางเดินหายใจ การผลิตยาชนิดนี้ต้องใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมโดยการสร้างดีเอนเอสายผสม(Recombinant DNA technology) ทางคลินิกนำยานี้มาใช้เป็นยาป้องกันโรคติดเชื้ออาร์เอสวี/โรคติดเชื้อทางเดินหายใจอาร์เอสวี/โรคอาร์เอสวีในเด็กเล็ก และทางการแพทย์ยังค้นพบว่า ยาพาลิวิซูแมบเหมาะสมที่จะใช้กับเด็กเล็กที่มีอาการป่วยได้อีกหลายกลุ่ม เช่น
- เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี และมีอาการป่วยเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด (Congenital heart disease)
- เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี และป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อร่วมประสาท (Neuromuscular disorders) ทำให้ไม่สามารถขับเสมหะ-น้ำมูกออกจากระบบทางเดินหายใจตอนบนได้
- เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด หรือเด็กที่ได้รับการปลูกถ่ายปอดใหม่ และเด็กกลุ่มนี้อยู่ในฤดูกาลที่มีการระบาดของไวรัสอาร์เอสวี
- เด็กดาวน์ซินโดรม(Down’s syndrome) ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค ทางเดินหายใจตอนล่าง
- เด็กเล็กในแถบอลาสก้าและอเมริกันอินเดียนเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี
อนึ่ง แพทย์จะพิจารณาใช้ยาพาลิวิซูแมบกับเด็กเล็กที่มีอาการป่วยดังข้างต้นตามความเหมาะสมเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง ยาพาลิวิซูแมบเป็นยาฉีดที่ต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อ/ฉีดเข้ากล้าม การใช้ยาชนิดนี้จึงมีแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยควรฉีดยาเข็มแรกให้กับเด็กก่อนจะมีการระบาดของไวรัสอาร์เอสวี และเพื่อประสิทธิผลในการป้องกันเมื่อมีการระบาดเกิดขึ้น ให้ฉีดยานี้เดือนละ 1ครั้ง ผู้ปกครองควรนำเด็กมารับการฉีดยาตรงตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง ซึ่ง แพทย์จะหยุดใช้ยานี้เมื่อการระบาดสิ้นสุดลง
นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามใช้ยาพาลิวิซูแมบกับเด็กที่มีประวัติการแพ้ยาชนิดนี้ รวมถึงกลุ่มเด็กที่มีปริมาณเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำ
ยาพาลิวิซูแมบได้รับการรับรองให้ใช้เป็นยารักษาโรคมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1958 (พ.ศ.2541) และมีวางจำหน่ายมาจนกระทั่งปัจจุบันภายใต้ยาชื่อการค้าว่า Synagis
พาลิวิซูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาพาลิวิซูแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus ย่อว่า RSV) ที่ก่อโรค อาร์เอสวี
พาลิวิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาพาลิวิซูแมบเป็นยาประเภทโมโนโคลนอลแอนตีบอดี กลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะเข้าจับกับไวรัสอาร์เอสอีที่ตำแหน่ง F Protein (Fusion protein)ของไวรัส ทำให้การรวมตัวของไวรัสกับเซลล์ในระบบทางเดินหายใจถูกรบกวน ส่งผลให้ไวรัสอาร์เอสวีไม่สามารถเจาะหรือแทรกเข้าในเซลล์ต่างๆของระบบทางเดินหายใจของเด็กเล็ก จึงเป็นที่มาของกลไกการป้องกันการติดโรคอาร์เอสวีดังกล่าว
พาลิวิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาพาลิวิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดแบบสารละลายปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วย Palivizumab 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
พาลิวิซูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาพาลิวิซูแมบมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- เด็กอายุตั้งแต่ 24 เดือนลงมา: ฉีดยาเข้ากล้ามขนาด 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 1 ครั้ง/เดือน ควรฉีดยาล่วงหน้าก่อนเข้าฤดูแพร่ระบาดของโรคอาร์เอสวี และระหว่างการระบาดของโรคอาร์เอสวี ให้ฉีดยาซ้ำเดือนละ1ครั้งจนกว่าการระบาดของโรคจะยุติลง
- เด็กอายุมากกว่า24 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่เพียงพอในการใช้ยานี้
- ผู้ใหญ่: ห้ามใช้ยานี้
อนึ่ง:
- เพื่อให้ยานี้ในร่างกายเด็กทารกโดนทำลายลง จะต้องใช้เวลา 24.5 วัน จึงเป็นเหตุผลให้ฉีดยานี้เพียงเดือนละ 1ครั้งก็เพียงพอต่อการป้องกันโรค
- มารับการฉีดยาตรงตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพาลิวิซูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคหืด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพาลิวิซูแมบ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมหรือไม่สามารถนำเด็กมารับการฉีดยาพาลิวิซูแมบ ให้รีบทำการนัดหมายกับแพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนัดหมานการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว
พาลิวิซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาพาลิวิซูแมบสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีอาการหายใจลำบาก/หลอดลมเกร็งตัว หอบหืด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ปวดบวมบริเวณที่ได้รับการฉีดยา มีผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการชัก
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ระดับเกล็ดเลือดต่ำ
อนึ่ง
- ผลข้างเคียงข้างต้นอาจจะเกิดหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของเด็ก/ผู้ป่วยแต่ละคน
- มีอาการข้างเคียงบางอย่างหากเกิดขึ้นแล้ว แพทย์จำเป็นต้องพิจารณาหยุดการใช้ยานี้ เช่น มีผื่นคันหรือลมพิษขึ้นตามผิวหนัง เกิดอาการหายใจลำบากหรือมีภาวะเลือดออกง่าย
- กรณีพบเห็นอาการดังกล่าวข้างต้น ต้องรีบนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลทันที
มีข้อควรระวังการใช้พาลิวิซูแมบอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาพาลิวิซูแมบ เช่น
- ยานี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับ ผู้ใหญ่ สตรีมีครรภ์ หรือสตรีในภาวะให้นมบุตร
- ระหว่างการใช้ยานี้ต้องระวังภาวะเลือดออกง่ายที่อาจเกิดกับเด็กเล็กที่ได้รับยาชนิดนี้
- กรณีใช้ยาพาลิวิซูแมบ แล้วเด็กมีอาการป่วยด้วยโรคอาร์เอสวี ให้รีบนำตัวเด็กมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที
- พาเด็กมาพบแพทย์เพื่อการประเมินร่างกาย และรับการฉีดยาตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาพาลิวิซูแมบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
พาลิวิซูแมบมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาพาลิวิซูแมบ ยังไม่มีข้อมูลของการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา/ภาวะยาตีกันกับยาชนิดอื่น อย่างไรก็ตามหากพบเห็นอาการผิดปกติเมื่อใช้ยาพาลิวิซูแมบร่วมกับยาใดๆ ให้รีบนำ ตัวเด็กมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
ควรเก็บรักษาพาลิวิซูแมบอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาพาลิวิซูแมบ ดังนี้ เช่น
- เก็บยาฉีดภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว
พาลิวิซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาพาลิวิซูแมบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Synagis (ซินาจิส) | MedImmune |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Palivizumab [2018,June9]
- https://www.youtube.com/watch?v=oIoQ20EZulc [2018,June9]
- https://www.youtube.com/watch?v=QkxB3cpNjwc [2018,June9]
- https://www.drugs.com/monograph/palivizumab.html [2018,June9]
- https://www.drugs.com/mtm/palivizumab.html [2018,June9]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/palivizumab/?type=brief&mtype=generic [2018,June9]