พาริทาพรีเวียร์ (Paritaprevir)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 กรกฎาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- พาริทาพรีเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- พาริทาพรีเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- พาริทาพรีเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- พาริทาพรีเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- พาริทาพรีเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้พาริทาพรีเวียร์อย่างไร?
- พาริทาพรีเวียร์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาพาริทาพรีเวียร์อย่างไร?
- พาริทาพรีเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคตับ (Liver disease)
- ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)
- โรคไวรัสตับอักเสบ ซี (Viral hepatitis C)
- โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Viral hepatitis B)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- โรคไวรัสตับอักเสบ ซี (Viral hepatitis C)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
บทนำ
ยาพาริทาพรีเวียร์(Paritaprevir) เป็นยาที่ใช้บำบัดโรคไวรัสตับอักเสบซี แบบเรื้อรัง เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา นักวิทยาศาสตร์จึงออกแบบสูตรตำรับของยาพาริทาพรีเวียร์เป็นแบบยารับประทานที่ผสมร่วมกับตัวยาอื่น และได้สูตรตำรับออกมาดังนี้ ออมบิทาสเวียร์(Ombitasvir) + พาริทาพรีเวียร์(Paritaprevir) + ริโทนาเวียร์(Ritonavir) การใช้ยาสูตรตำรับพาริทาพรีเวียร์อย่างต่อเนื่องและถูกต้องจะทำให้เชื้อไวรัสตับอักเสบซีสายพันธุ์ที่ตอบสนองต่อสูตรตำรับนี้ทยอยลดจำนวนลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและหายป่วยในที่สุด อย่างไรก็ตามสูตรตำรับดังกล่าวก็อาจต้องพึ่งพายาต้านไวรัสตับอักเสบซีตัวอื่นที่มีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันออกไป เช่น ใช้ร่วมกับยาDasabuvir และRibavirin
มีข้อห้ามหลายประการที่ผู้ป่วยควรทราบและพึงปฏิบัติก่อนใช้ยาสูตรตำรับยาผสม/สูตรตำรับยาพาริทาพรีเวียร์นี้ เช่น
1. กรณีผู้ป่วยเป็นสตรี ก่อนเริ่มใช้สูตรตำรับผสมของพาริทาพรีเวียร์จะต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบว่าตนเองใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือไม่ ด้วยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดร่วมกับสูตรตำรับผสมของพาริทาพรีเวียร์จะส่งผลให้เกิดความเป็นพิษกับตับ
2. ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี ตัวยาในสูตรตำรับพาริทาพรีเวียร์สามารถทำให้อาการป่วยของตับอักเสบบีกลับมากำเริบได้
3. แจ้งแพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมียาอะไรรับประทานอยู่ก่อน ด้วยยาหลายรายการสามารถกระตุ้นภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยากับสูตรตำรับของยาออมบิทาสเวียร์ เช่น Alfuzosin, Colchicine, Dronedarone, Efavirenz, Ranolazine, Rifampin, Sildenafil และตัวยาอื่นๆอีกมากมาย
4. แจ้งประวัติโรคประจำตัวทุกโรคให้แพทย์ทราบ ด้วยอาการของโรคหลายประเภท สามารถทวีความรุนแรงได้ เมื่อใช้ยาในสูตรตำรับของยาออมบิทาสเวียร์ เช่น โรคตับชนิดต่างๆที่นอกเหนือจากโรคไวรัสตับอักเสบซี โรคเอชไอวี มีการผ่าตัดเปลี่ยนตับใหม่ ป็นโรคหัวใจ หรือ โรคเลือด
5. ยาสูตรตำรับยาพาริทาพรีเวียร์สามารถทำให้ทารกในครรภ์มารดาเสียชีวิตได้จึงห้ามใช้ยาสูตรตำรับนี้แก่ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยสตรีในภาวะให้นมบุตร
6. ห้ามใช้สูตรตำรับยาพาริทาพรีเวียร์กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
7. ห้ามหยุดใช้ยานี้โดยกะทันหัน ด้วยจะทำให้อาการของโรคไวรัสตับอักเสบซีกลับมาทวีความรุนแรงมากกว่าเดิม
8. ระหว่างได้รับยานี้แล้วพบว่าตนเองมีอาการ รู้สึกสับสน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ปัสสาวะมีสีเข้ม ตัวเหลืองตาเหลือง ต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
ในตลาดยา เราสามารถพบเห็นการใช้ยาชื่อการค้าของสูตรตำรับยาพาริทาพรีเวียร์ว่า Viekira Pak และ Technivie เพื่อประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วยต้องรับประทานยาตรงตามขนาดและเวลาตามคำสั่งแพทย์ และ
ระหว่างที่ได้รับยาสูตรตำรับพาริทาพรีเวียร์ หากพบอาการ หายใจลำบาก วิงเวียนคล้ายเป็นลม ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ ใบหน้าบวม ลิ้น-คอ-ปากบวม หรือเกิดผื่นคันต่อผิวหนัง ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
พาริทาพรีเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ไวรัสตับอักเสบซี มี 7 สายพันธุ์ แต่ด้วยการออกฤทธิ์ของยาทั้ง 3 รายการ (Ombitasvir + Paritaprevir + Ritonavir) ร่วมกับยา Dasabuvir และ Ribavirin ทำให้การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีมีความจำเพาะเจาะจงเฉพาะต่อสายพันธุ์ 1เอ , 1บี และสายพันธุ์ที่ 4
พาริทาพรีเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
เชื้อไวรัสตับอักเสบซี จะแทรกซึมตัวมันเข้าไปในเซลล์ของตับ และจะปลดปล่อยสาร RNA เข้าสู่ไซโตพลาสซึม(Cytoplasm)ของเซลล์ตับ RNA ของไวรัสฯดังกล่าวจะเข้ารวมตัวกับสาร Ribosomeในไวรัสฯ ทำให้เกิดการจำลองโปรตีนที่กลับมาสนับสนุน RNA ของไวรัสฯเพื่อสร้างRNA รุ่นใหม่ บนสายโปรตีนดังกล่าวยังประกอบไปด้วยโปรตีน 2 ลักษณะคือ Structural protein และ Non-structural protein ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยย่อยอื่นๆอีกที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า NS2, NS3, NS4, ซึ่งประกอบด้วยNS4A, NS4B, NS5A, NS5B,
- ตัวยา Ombitasvir จะเข้าจับกับ NS5A และแสดงฤทธิ์เป็นNS5A inhibitor
- ตัวยาParitaprevir จะเข้าจับ NS3 และNS4A และแสดงฤทธิ์เป็น NS3-NS4A inhibitor
- ตัวยาRitonavir จะสนับสนุนการออกฤทธิ์ของ Paritaprevir โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อว่า Protease enzyme
ด้วยกลไกของยาทั้ง 3 ตัว ทำให้กระบวนการจำลอง RNA ของไวรัสหยุดชะงักลง ส่งผลให้ไวรัสตับอักเสบซี หยุดการกระจายตัว เป็นเหตุให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลง และหายเป็นปกติในที่สุด
พาริทาพรีเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาพาริทาพรีเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย/ผสมรวมตัวยา Ombitasvir 12.5มิลลิกรัม + Paritaprevir 75 มิลลิกรัม + Ritonavir 50 มิลลกรัม
พาริทาพรีเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาพาริทาพรีเวียร์ มีขนาดรับประทานสำหรับรักษาไวรัสตับอักเสบซี เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาตำรับผสม ‘Ombitasvir 12.5 มิลลิกรัม + Paritaprevir 75 มิลลิกรัม+ Ritonavir 50 มิลลิกรัม’ 2 เม็ดในตอนเช้าร่วมกับอาหารเช้า อาจใช้ร่วมกับยา Dasabuvir 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ตามคำสั่งแพทย์
- ผู้อายุต่ำกว่า 18ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนในขนาดยาและความปลอดภัยจากการใช้ยานี้
อนึ่ง:
- กรณีของไวรัสตับอักเสบซี สายพันธุ์ที่ 1เอ แต่ไม่มีภาวะตับแข็ง แพทย์จะใช้ยาRibavirin ร่วมในการรักษาเป็นเวลา 12 สัปดาห์
- กรณีของไวรัสตับอักเสบซี สายพันธุ์ที่ 1เอ และมีภาวะตับแข็ง แพทย์จะใช้ยาRibavirin ร่วมในการรักษาเป็นเวลา 24 สัปดาห์
- กรณีของไวรัสตับอักเสบซี สายพันธุ์ที่ 1บี แต่ไม่มีภาวะตับแข็ง แพทย์จะใช้แต่สูตรตำรับของพาริทาพรีเวียร์ (Ombitasvir + Paritaprevir + Ritonavir ) เป็นเวลา 12 สัปดาห์
- กรณีของไวรัสตับอักเสบซี สายพันธุ์ที่ 1บี และมีภาวะตับแข็ง แพทย์จะใช้ยา Ribavirin ร่วมในการรักษาเป็นเวลา 12 สัปดาห์
- ห้ามหยุดการรับประทานยานี้เอง โดยไม่ขอคำแนะนำจากแพทย์
- ระยะเวลาการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา พาริทาพรีเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคตับชนิดอื่น โรคเอชไอวี รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพาริทาพรีเวียร์ อาจส่งผลให้อาการของ โรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาพาริทาพรีเวียร์ สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากลืมรับประทานยานี้นานเกิน 12 ชั่วโมง ให้รับประทานยามื้อถัดไปในเวลาเดิม และใช้ขนาดรับประทานปกติ ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
พาริทาพรีเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
สูตรตำรับยาผสมของยาพาริทาพรีเวียร์ สามารถทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่างๆดังต่อไปนี้ เช่น
- ผลต่อการทำงานของตับ:เช่น ทำให้เอนไซม์ในตับสูงขึ้น ค่าบิลิรูบินสูง มีภาวะดีซ่าน เกิดภาวะตับวาย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความจำแย่ลง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดกระดูก เจ็บหน้าอก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผิวแห้ง เกิดผื่นคัน ผื่นผิวหนังอักเสบ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด ไอ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง ฮีโมโกลบินลดลง
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
มีข้อควรระวังการใช้พาริทาพรีเวียร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาพาริทาพรีเวียร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับในระยะรุนแรง
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยกะทันหัน
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาพาริทาพรีเวียร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
พาริทาพรีเวียร์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาพาริทาพรีเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาพาริทาพรีเวียร์ร่วมกับ ยาAlprazolam, Alfentanil, และ Amiodarone ด้วยยาพาริทาพรีเวียร์จะทำให้ระดับยาต่างๆดังกล่าวในกระแสเลือดสูงขึ้น และอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆจากยาเหล่านั้นสูงขึ้นตามมา
- กรณีใช้ยาพาริทาพรีเวียร์ร่วมกับ ยา Aprepitant จะทำให้ระดับยาพาริทาพรีเวียร์ ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาพาริทาพรีเวียร์ร่วมกับ ยาApalutamide เพราะจะทำให้ระดับ พาริทาพรีเวียร์ในเลือดลดลง จนส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาพาริทาพรีเวียร์ด้อยไป
ควรเก็บรักษาพาริทาพรีเวียร์อย่างไร?
ควรเก็บยาพาริทาพรีเวียร์ ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาที่ หมดอายุ ไม่ทิ้งทำลายยาลงในคูคลองตามธรรมชาติ
พาริทาพรีเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
พาริทาพรีเวียร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
VIEKIRA PAK (ไวคิรา พาค) | AbbVie Inc. |
TECHNIVIE (เทคนิวี) | AbbVie Inc. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Paritaprevir [2018,June30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/NS3_(HCV) [2018,June30]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/206619lbl.pdf [2018,June30]
- https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.3644.pdf [2018,June30]
- https://www.drugs.com/uk/viekirax.html [2018,June30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/NS3_(HCV)#/media/File:HCV_genome.png [2018,June30]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB09297 [2018,June30]
- https://www.drugs.com/sfx/ombitasvir-paritaprevir-ritonavir-side-effects.html [2018,June30]