พาราเซตามอล (Paracetamol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นยาแก้ปวดและยาลดไข้ มีใช้ในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง

ชื่ออื่นของยาพาราเซตามอลที่นิยมใช้ในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา คือ ยา ‘อะซีตามิโนเฟน (Acetaminophen)’ หรือยา ‘เอแพบ(APAP)’ ซึ่งย่อมาจากชื่อทางเคมีของยา อะซีตามิโนเฟน คือ ‘N-acetyl-para-aminophenol’

ยาพาราเซตามอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

พาราเซตามอล

ยาพาราเซตามอล มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • แก้ปวดระดับรุนแรงน้อยไปจนถึงระดับรุนแรงปานกลาง แต่ไม่ช่วยลดการอักเสบของร่างกาย เช่น การอักเสบจากถูกกระแทกฟกช้ำ
  • ใช้เป็นยาลดไข้ทั้งเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)และผู้ใหญ่

อนึ่ง: ข้อดีของยาพาราเซตามอล คือ ไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร สามารถรับประทานพร้อมอาหารหรือขณะท้องว่างได้

ยาพาราเซตามอลออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาพาราเซตามอลออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะไปยับยั้งการสร้างสารเคมีบางตัวในสมองของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับอาการปวด เช่น สารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) และยังจะชักนำให้เกิดกลไกการลดอุณหภูมิหรือลดไข้ของร่างกายลงได้อีกด้วย

ยาพาราเซตามอลมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพาราเซตามอลมีรูปแบบจัดจำหน่ายหลายรูปแบบ:

  • ชนิดเม็ด 325 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัม
  • ชนิดน้ำ 120 มิลลิกรัม ใน 1 ช้อนชา และ 250 มิลลิกรัม ใน 1 ช้อนชา
  • ชนิดหยด 60 มิลลิกรัม ในน้ำ 0.6 มิลลิลิตร
  • ชนิดฉีด 300 มิลลิกรัม ในน้ำ 2 มิลลิลิตร

ยาพาราเซตามอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)มี ขนาดยา และช่วงระยะเวลากินยาพาราเซตามอลที่ต่างกันตามอาการและการตอบสนองของร่างกาย ซึ่งเมื่อกินยาพาราเซตามอลแล้วอาการไม่ทุเลาภายใน 1 - 2 วัน ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ค้นหาสาเหตุและปรับแนวทางการรักษา

อนึ่ง การใช้ยาพาราเซตามอลไม่ได้ขึ้นกับน้ำหนักของผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นกับโรคต่างๆของผู้ป่วยด้วย เช่น ผู้ที่มีโรคตับ และ/หรือ โรคไต แพทย์มักต้องปรับลดขนาดยาที่รับประทานลง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเอง

*สำหรับผู้ใหญ่ ขนาดสูงสุดของยาพาราเซตามอลที่รับประทานไม่ควรเกิน 4 กรัม/วัน ดังนั้น ถึงแม้ยาพาราเซตามอลจะเป็นยาสามัญประจำบ้านก็ไม่ควรใช้ยานี้พร่ำเพรื่อ ควรใช้ยานี้แต่เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้เสมอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา โดยเฉพาะการใช้ยานี้ใน เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัวโดยเฉพาะโรคตับ

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาพาราเซตามอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • โรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคความดันโลหิตสูง เพราะยาพาราเซตามอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาหลายประเภทอาจผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาพาราเตามอล สามารถรับประทานยาฯเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาฯใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาฯเป็น 2 เท่า

ยาพาราเซตามอมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง)ไหม?

ยาพาราเซตามอลมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้าง้คียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • การกินยาพาราเซตามอลเป็นเวลานานติดต่อกันเกิน 5 - 7 วัน หรือกินเกินขนาด (ขนาดปกติในผู้ใหญ่ที่ ไม่มีโรคประจำตัวคือ กินครั้งละ 1 - 2 เม็ด ทุก 6 - 8 ชั่วโมง) อาจทำให้เกิดพิษต่อตับ/ตับอักเสบ
  • การกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถทำให้เกิดภาวะตับล้มเหลว/ ตับวายได้ ซึ่งมีบางคนที่กินยาพาราเซตามอลปริมาณมาก ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยสภาวะตับวาย ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน

ยาพาราเซตามอลมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

ยาพาราเซตามอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การกินยาพาราเซตามอล ร่วมกับยากดสมองส่วนกลาง/ยากดประสาทส่วนกลาง เช่น ยากันชัก (ยาต้านชัก) หรือกินพร้อมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์จะเสริมฤทธิ์ความเป็นพิษต่อตับ และมีความเสี่ยงทำให้การทำงานของตับลดลง(ตับอักเสบ หรือถึงขั้นตับวาย) อนึ่ง ยากันชักที่มีใช้ในปัจจุบัน เช่นยา
    • อัลโลบาร์บิทอล (Allobarbital)
    • อะไมโลบาร์บิทอล (Amylobarbitone หรือ Amobarbital)
    • บาร์บิทอล (Barbital)
    • ทอลบิทอล (Butalbital)
    • ฟีนิโตอิน (Phenytoin)
  • การกินยาพาราเซตามอล ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด จะทำให้การจับตัวของเกล็ดเลือดลดลง จึงอาจลดประสิทธิภาพของยาต้านการแข็งตัวของเลือดลงได้ ซึ่งยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา วาร์ฟาริน (Warfarin)

มีข้อควรระวังในการใช้ยาพาราเซตามอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาพาราเซตามอล เช่น

  • ควรระวังเป็นพิเศษ ถ้าต้องใช้ยาพาราเซตามอลในผู้ป่วยที่มีสภาวะตับทำงานผิดปกติ/โรคตับ (ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้เสมอ)
  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่เคยมีการแพ้ยาตัวนี้ (รู้ได้จากมีอาการผิดปกติจากกินยาพาราเซตามอลในครั้งก่อนๆ เช่น ขึ้นผื่นคัน และ/หรือ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก)
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาพาราเซตามอล) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาพาราเซตามอลอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาพาราเซตามอล:

  • ยาเม็ด:
    • ควรเก็บในหีบห่อ (แผงยา)ของบริษัทผู้ผลิต เก็บให้พ้นแสง/แสงแดด
    • ไม่ควรเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิสูง เช่น ตากแดด เป็นต้น
  • ยาน้ำ: การเก็บเหมือนกับยาเม็ด และ
    • ควรอยู่ในขวดที่ปิดสนิท
    • อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส/Celsius (ถ้าทำได้คือ เก็บในตู้เย็น แต่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง)
    • หลังเปิดขวดแล้ว สามารถใช้ยาต่อได้ไม่เกิน 3 เดือน เมื่อยายังไม่เสื่อมสภาพ เช่น สี กลิ่น เปลี่ยนไป
  • ทั้งยาเม็ดและยาน้ำ:
    • หากพบว่าลักษณะของยาเปลี่ยนไป เช่น สี กลิ่น เปลี่ยน หรือ แตก หัก ไม่ควรใช้ยา ให้ทำลายยาทิ้ง
    • อีกประการที่สำคัญ ต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ

ยาพาราเซตามอลมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อยาทางการค้า และชื่อบริษัทผู้ผลิตยาพาราเซตามอล เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Tylenol (ไทลีนอล) Jenssen – Cilag/DKSH
Tempra /Tempra Forte (เทมปรา) Mead Johnson/DKSH
Unicap(ยูนิแคป) Unison
Paracap (พาราแคป) Masalab
Sara (ซารา) Thainakorn pattana
Bakamol Medicpharma

บรรณานุกรม

  1. MIMS. Pharmacy. Thailand. 9th Edition 2009.
  2. MIMS Thailand . TIMS. 110th Ed 2008.
  3. พิสิฐ วงศ์วัฒนะ. (2547). ยา. THE PILL BOOK .
  4. สุภาภรณ์ พงศกร.(2528). ปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยา (Drug Interactions ). เภสัชวิทยา เล่ม 1 . ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Paracetamol [2020,June20]