พารามัยซิน (Paramycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 มกราคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- พารามัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- พารามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- พารามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- พารามัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- พารามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้พารามัยซินอย่างไร?
- พารามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาพารามัยซินอย่างไร?
- พารามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- วัณโรค (Tuberculosis)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
บทนำ
ยาพารามัยซิน(Paramycin) หรือ Sodium aminosalicylate ปัจจุบัน นักวิทยา ศาสตร์ได้กำหนดให้เปลี่ยนการเรียกชื่อใหม่ว่า 4-aminosalicylic acid(ย่อว่า 4ASA) หรือ P-aminosalicylic acid หรือ Para-aminosalicylic acid (ย่อว่า PAS) อดีตที่ผ่านมา ยาพารามัยซินได้ถูกใช้เป็นยาต่อต้านเชื้อวัณโรค(Tubercle bacilli) โดยทางคลินิกจะใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อการใช้ยา Streptomycin และ Isoniazid ใช้ไม่ได้ผล บางประเทศได้นำยาพารามัยซินมาบำบัดรักษาโรคลิชมาเนีย(Leishmaniasis) ที่มีสาเหตุจากเชื้อโปรโตซัว ที่ชื่อลิชมาเนีย และมีเชื้อโรคอื่นบางชนิดที่ยังตอบสนองต่อยาพารามัยซิน
ยาพารามัยซิน มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของเชื้อโรค ทำให้ตัวเชื้อหมดสภาพการแพร่พันธุ์ และตายลง ยาพารามัยซินมีลักษณะของเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทานแบบแกรนูล/Granule/เม็ดยาเล็กๆที่ถูกเคลือบด้วยสารบางชนิดเพื่อป้องกันการทำลายยาโดยกรดในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยสามารถรับประทานยานี้โดยผสมยานี้กับน้ำผลไม้ จากนั้นคนให้เข้ากันดี แล้วจึงรับประทาน แต่ในบางประเทศได้ผลิตยาพารามัยซินแบบยาเม็ดเพื่อใช้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภค/ผู้ป่วย
มีการศึกษาเรื่องการกระจายตัวยาพารามัยซินในร่างกายมนุษย์พบว่า ตัวยาพารามัยซินในสูตรตำรับบางส่วน(ประมาณ 10%) ไม่ได้รับการเคลือบสารที่ป้องกันกรด และจะถูกกรดในกระเพาะอาหารเปลี่ยนไปเป็นสารประกอบที่เรียกว่า meta-aminophenol ซึ่งเป็นพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อตับ ตัวยานี้ที่เหลือจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดที่ลำไส้เล็ก มียานี้บางส่วนถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ ขณะที่ยานี้ในกระแสเลือดที่เป็นสารออกฤทธิ์จะมีเวลาอยู่ในร่างกายเพียงประมาณ 26.4 นาทีก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดเงื่อนไขทางคลินิก ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยด้วยโรคไต และจำเป็นต้องรับประทานยานี้วันละ 2-3 ครั้ง
หลังจากได้รับยาพารามัยซิน ผู้ป่วยยังต้องมารับการตรวจสภาพการทำงานของตับ รวมถึงความเป็นปกติของเม็ดเลือด และอาการของวัณโรค ฯลฯว่า ดีขึ้นเพียงใดผู้ป่วยต้องมารับการตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
การใช้ยาพารามัยซินกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในช่วงให้นมบุตร ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อยาต่างๆหลายชนิด ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้นถึงแม้จะมีงานศึกษษวิจัยในห้องทดลอง และพบว่ายาพารามัยซินไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับตัวอ่อนในครรภ์ของสัตว์ทดลองก็จริง แต่ไม่ได้เป็นข้อยืนยันความปลอดภัยการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ หรือกับสตรีในช่วงให้นมบุตรดังกล่าว ทั้งนี้แพทย์ที่จะใช้ยานี้ ต้องพิจารณาครอบคลุมไปถึงผลข้างเคียงที่สามารถส่งผลกระทบจากยานี้ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมมาประกอบกัน
ยาพารามัยซิน หรือในชื่อ 4-Aminosalicylic acid มีการผลิตจากบริษัทยาน้อยราย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสูตรตำรับยาแผนปัจจุบันที่ใช้เป็นทางเลือกเพื่อรักษาวัณโรค และโรคลิชมาเนีย มีอยู่มากมาย อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังสามารถพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น อินเดีย โดยจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Monopas”
พารามัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาพารามัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาวัณโรคที่ดื้อต่อยา Streptomycin และ Isoniazid ที่เรียกวัณโรคกลุ่มนี้ว่า Multi-drug Resistant TB
- ใช้รักษาโรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis)
พารามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาพารามัยซิน มีกลไกการออกฤทธิ์ ยับยั้งการสังเคราะห์กรดโฟลิก(Folic acid)ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการสร้างผนังเซลล์(Cell wall)ของเชื้อวัณโรค/เชื้อโรค ทำให้เชื้อวัณโรค ฯลฯ หมดสภาพที่จะกระจายพันธุ์ หยุดการเจริญเติบโต และตายลงในที่สุด
พารามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาพารามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแกรนูลชนิดรับประทาน ที่มีตัวยา Paramycin หรือ 4-aminosalicylic acid เป็นตัวยาสำคัญ โดยมีขนาดบรรจุ 4 กรัม/แพ็ค
- ยาแกรนูลชนิดรับประทานที่มีตัวยา Sodium aminosalicylate ขนาด 600 มิลลิกรัม/แพ็ค
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีตัวยา Sodium aminosalicylate ขนาด 1 กรัม/เม็ด
พารามัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานของยาพารามัยซิน เฉพาะ สำหรับรักษาวัณโรค เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาแบบแกรนูล(4 กรัม/แพ็ค) ครั้งละ 4 กรัม วันละ 2–3 ครั้ง
- เด็ก: เด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 40 กิโลกรัม และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมา รับประทานยา 0.2–0.3 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรือ รับประทานยาครั้งละ 0.1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2–3 ครั้ง
- เด็ก: เด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม และเด็กที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปให้ใช้ขนาดรับประทานเท่ากับผู้ใหญ่
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพารามัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพารามัยซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาพารามัยซิน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
พารามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาพารามัยซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำซึ่งแพทย์จะช่วยเหลือโดยให้ยาThyroxine มารับประทาน
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีอาการผื่นคัน
- ผลต่อตับ: เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง ตับอักเสบ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ/เม็ดเลือดขาวน้อย ไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือด(กดไขกระดูก) เกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง
มีข้อควรระวังการใช้พารามัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาพารามัยซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาพารามัยซินโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
- ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายจากแพทย์ โดยเฉพาะตรวจการทำงานของตับ ความผิดปกติของเม็ดเลือด ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- กรณีพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- หากพบอาการปัสสาวะมีสีคล้ำเข้ม/ปัสสาวะเป็นเลือด รู้สึกเหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย ไม่หิวอาหาร/เบื่ออาหาร ปวดท้อง สีอุจจาระซีดจาง ตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่าตับของผู้ป่วยเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ให้รีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาพารามัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
พารามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาพารามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาพารามัยซินร่วมกับ ยา Sodium nitrate ด้วยจะทำให้ความสามารถ ในการนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายลดลงหรือที่ เรียกว่าเกิดภาวะ Methemoglobinemia
- ห้ามใช้ยาพารามัยซินร่วมกับ วัคซีน BCG เพราะจะทำให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของเชื้อวัณโรค ของ BCG ด้อยประสิทธิภาพ
- ห้ามใช้ยาพารามัยซินร่วมกับยา Leflunomide , Lomitapide, Teriflunomide เพราะการใช้ยาร่วมกันจะทำให้เกิดพิษรุนแรงกับตับของผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาพารามัยซินร่วมกับยา Deferasirox ด้วยจะทำให้มีแผลเกิดขึ้นในทางเดินอาหาร(เช่น แผลในกระเพาะอาหาร) และเกิดภาวะเลือดออก(เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร)ตามมา
ควรเก็บรักษาพารามัยซินอย่างไร?
ควรเก็บยาพารามัยซินภายใต้อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส(Celsius) สามารถเก็บยานี้ในตู้เย็นหรือเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็นก็ได้ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
พารามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาพารามัยซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Monopas (โมโนพาส) | Macleods |
Paser (เพเซอร์) | JACOBUS PHARMACEUTICAL CO. INC. |
อนึ่ง ยาชื่ออื่นของยานี้ เช่น Parasal sodium, Sodium PSA, Aminosalicylic sodium, Sodium aminosalicylate dehydrate, Granupas, Pas sodium
บรรณานุกรม
- https://www.sdrugs.com/?c=drug&s=paramycin#indications and usage[2017,Dec16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Aminosalicylic_acid[2017,Dec16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/4-Aminosalicylic_acid[2017,Dec16]
- https://reference.medscape.com/drug/paser-aminosalicylic-acid-999678#0[2017,Dec16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_stibogluconate[2017,Dec16]
- https://www.mims.com/india/drug/info/monopas/[2017,Dec16]
- https://edudrugs.com/P/Paramycin.html[2017,Dec16]
- https://www.drugs.com/ppa/aminosalicylic-acid.html[2017,Dec16]
- https://www.drugs.com/sfx/aminosalicylic-acid-side-effects.html[2017,Dec16]
- https://www.drugs.com/cdi/aminosalicylic-acid.html[2017,Dec16]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/aminosalicylic-acid-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Dec16]