พาราซิมพาโทมิเมติก (Parasympathomimetic drugs) หรือ คอลิเนจิก (Cholinergic drugs)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- บทนำ
- ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกอย่างไร?
- ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกอย่างไร?
- ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- แอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers)
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
- ซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic drug)
บทนำ
กลุ่มยาพาราซิมพาโทมิเมติก (Parasympathomimetic drugs หรือ Cholinomimetic drugs) อาจเรียกอีกชื่อ เช่น Parasympathomimetic alkaloid เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติที่มีชื่อว่า พาราซิมพาเทติก (Parasympathetic nervous system) ของร่าง กาย หรืออีกชื่อหนึ่งที่วงการแพทย์ใช้กันอย่างคุ้นเคยคือ “กลุ่มยาคอลิเนจิก (Cholinergic drugs)” ตัวยาต่างๆของยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อเกิดกลไกใดกลไกหนึ่งหรือทั้ง 2 กลไกดังต่อไปนี้
1. กลไกออกฤทธิ์โดยตรง (Direct acting): ตัวยาจะจับกับตัวรับ (Receptor) ที่ชื่อว่า นิโคตินิก หรือ มัสคารินิก (Nicotinic or muscarinic receptors) และตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นที่ตัวรับโดยตรง
2. กลไกออกฤทธิ์โดยอ้อม (Indirect acting): ตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของสารเคมีที่มีชื่อว่า คอลีนเอสเทอเรส (Cholinesterase, สารเคมีที่เป็นเอนไซม์เกี่ยวข้องกับการทำงานของสารสื่อประสาทชื่อ Acetylcholine) ในขณะเดียวกันจะสนับสนุนให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทที่เรียกว่า อะเซ ทิลคอลีน (Acetylcholine, สารสื่อประสาทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสมองและระบบประสาทอัตโนมัติ)
จากกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันดังกล่าวข้างต้น กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จึงมีข้อตกลงให้แบ่งหมวดหมู่ของสารออกฤทธิ์และหมวดยากลุ่มนี้ตามกลไกที่กล่าวมาข้างต้นคือ
1. กลุ่มสารเคมีหรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทพาราซิมพาโทมิเมติกโดยตรง เช่น
- สารกลุ่มคอลีน เอสเทอร์ (Choline esters) เช่น Acetylcholine, Bethanechol, Carbachol และ Methacholine
- สารแอลคาลอยด์จากพืช (Plant alkaloids) เช่น Arecoline, Nicotine, Muscarine และ Pilocarpine
2. กลุ่มสารเคมีหรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทพาราซิมพาโทเมติกโดยอ้อม เช่น
- สารเคมีประเภท Reversible cholinesterase inhibitors เช่น Donepezil, Edrophonium, Neostigmine, Physostigmine, Pyridostigmine, Rivastigmine, Tacrine, Caffeine และ Huper zine A
- สารเคมีประเภท Irreversible cholinesterase inhibitors เช่น Echothiophate, Isofluro phate และ Malathion
- สารเคมีที่สนับสนุนการหลั่งอะเซทิลคอลีน (ACh release promoters) เช่น Cisapride, Droperidol, Domperidone, Metoclopramide, Risperidone, Paliperidone และ Trazodone
- ยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านสารอะดรีเนอร์จิก (Anti-adrenergics/alpha blocker & beta blocker) เช่น Clonidine, Methyldopa, Propranolol, Atenolol, Prazosin และ Oxymetazoline
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่ายากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีหมวดยาและตัวยามากมายหลายตัว ซึ่งสรุปหมวดโรคที่สามารถใช้ยากลุ่มนี้รักษาได้ดังนี้
- ภาวะความดันภายในลูกตาสูง
- อาการปากแห้งเนื่องจากรับการฉายรังสีในบริเวณช่องปากและลำคอ
- ภาวะหรืออาการปัสสาวะไม่ออก (Urinary retention)
- โรคซึมเศร้า (Depressant)
- โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ไม่มีแรงบีบตัว (Gastrointestinal atony)
- หัวใจเต้นช้าผิดปกติ (Bradycardia)
- โรคที่มีการติดเชื้อพยาธิต่างๆเช่น ตืดหมู
- โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis)
- อาการเคลื่อนตัวน้อยของลำไส้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด
- โรคความดันโลหิตต่ำ (Orthostatic hypotension)
- โรคกรดไหลย้อน (GERD)
- อาการคลื่นไส้จากการได้รับยาเคมีบำบัด จากไมเกรน จากการตั้งครรภ์
- โรคทางจิตประสาทเช่น Schizophenia, Bipolar disorder
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลว
- โรควิตกกังวล (Anxiety)
- และอื่นๆ
จะเห็นได้ว่า ยาของกลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกเป็นกลุ่มยาหมวดที่ใหญ่มาก และถูกพัฒนาให้รองรับกับหลากหลายอาการโรค ทั้งขนาด วิธีใช้ยา เกณฑ์ของอายุผู้ป่วย หรือแม้แต่ความเหมาะสมของร่างกายในผู้ป่วยแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันออกไป แพทย์เท่านั้นที่จะสามารถระบุการใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย
ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีสรรพคุณดังนี้ เช่น
- ใช้รักษาโรคต้อหินเช่น ยา Pilocarpine, Physostigmine
- รักษาอาการปัสสาวะขัดเช่น Bethanechol
- รักษาอาการซึมเศร้าเช่น Arecoline
- รักษาอาการวิตกกังวลเช่น ยากลุ่มเบตา - บล็อกเกอร์ (Beta blockers)
- บำบัดรักษาอาการโรคจิตเภท (Shizophena) และอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) เช่น Risperidone
- บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนเช่น Methoclopramide
- รักษาโรคความดันโลหิตสูงเช่น แอลฟา - บล็อกเกอร์ (Alpha blockers)
- รักษาอาการความจำเสื่อม (Alzheimer’s disease) เช่น Tacrine(ยานี้ ยกเลิกการใช้ในสหรัฐอเมริกาแล้ว), Donepezil
- รักษาอาการกรดไหลย้อน (GERD) เช่น Cisapride
- รักษาอาการหัวใจขาดเลือด (Angina Pectoris) หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia) ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure) เช่น Propranolol
- รักษาโรคพยาธิ (Antihelmintic) เช่น Arecoline
- และอื่นๆ
ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากลุ่มนี้มีกลไกการออกฤทธิ์หลัก 2 กลไกคือ
1.ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับที่มีชื่อว่า Nicotinic receptors และ Muscarinic receptors จากนั้นจะกระตุ้นให้อวัยวะที่มีตัวรับดังกล่าวข้างต้น (หัวข้อ บทนำ) ตอบสนองตามชนิดของตัวยานั้นๆ
2. ตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ คอลีนเอสเทอเรส และกระตุ้นหรือสนับสนุนให้อวัยวะที่มีการตอบสนองต่อยาที่ได้รับ เกิดการหลั่งสารอะเซทิลคอลีน
ทั้งนี้ จากทั้ง 2 กลไกดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษา
ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายหลากหลายขึ้นกับแต่ละตัวยาเช่น ยารับประทานทั้งชนิดเม็ดและยาน้ำ, ยาฉีด, ยาใช้เฉพาะที่ (ยาใช้ภายนอกเช่น ยาหยอดตา) และพลาส เตอร์ปิดผิวหนัง
ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีการบริหารยาอย่างไร?
ด้วยยาในกลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีหลากหลายรายการ ขนาดรับประทานหรือการบริหารยา/การใช้ยาจึงขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูล/ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย รวมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการใช้ยาจึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาในกลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาในกลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกสามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า อย่างไรก็ตาม หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาบ่อยๆหลายๆครั้งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการรักษา
ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น อาจมีอาการแน่นหน้าอก/หายใจลำบาก เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้น ความดันโลหิตต่ำ ตาพร่า เหงื่อออกมาก กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย หลอดลมหดตัว/หายใจลำบาก กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต/กล้ามเนื้ออ่อนแรง
มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกดังนี้เช่น
- ห้ามใช้ยาชนิดที่เคยแพ้ยา
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเช่น โรคหืด
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้ หรือมีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ป่วยโรคความดันโล หิตต่ำ
- ระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานเกี่ยวกับเครื่อง จักร
- ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ การตัด สินใจใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- หากพบอาการคล้ายการแพ้ยา (เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว หายใจลำบาก) ให้หยุดยาและรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- การใช้ยากลุ่มแอลฟา - บล็อกเกอร์ (Alpha blocker) ร่วมกับยากลุ่มเบตา - บล็อกเกอร์ (Beta blocker) จะเพิ่มความเสี่ยงของความดันโลหิตสูง ควรเลี่ยงการใช้ร่วมกันหรือแพทย์ปรับขนาดรับประ ทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาไฟโสสติกมีน (Physostigmine) ร่วมกับยาบางกลุ่มสามารถทำให้ประสิทธิภาพของยาไฟโสสติกมีนลดลงไป ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Quinine, Chloroquine, Hydroxychloroquine, Quinidine, Procainamide, Lithium, Propafenone และยากลุ่ม Beta blockers หากมีความจำเป็น ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาซิซาไพรด์ (Cisapride) ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์สงบประสาท/ยาคลายเครียดเช่น ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์จะส่งผลให้เพิ่มฤทธิ์ของการสงบประสาทมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาดอมเพอริโดน (Domperidone) ร่วมกับยาต้านเชื้อราบางตัวสามารถทำให้ระดับ ของยาดอมเพอริโดนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาดอมเพอริโดนมากยิ่งขึ้น ยาต้านเชื้อราดังกล่าวเช่น Itraconazole และ Ketoconazole เป็นต้น
- การรับประทานยาโพรพราโนลอล (Propranolol) ร่วมกับยาขยายหลอดลมเช่น Amino phylline จะส่งผลให้ฤทธิ์ในการรักษาของโพรพาโนลอลด้อยลงไป อีกทั้งทำให้ฤทธิ์ของ Amino phylline เพิ่มมากขึ้น โดยพบอาการเช่น คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ ตัวสั่น ชีพจร/หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดและระยะเวลาในการรับประทานเป็นกรณีไป
- การใช้ยาโคลนิดีน (Clonidine) ร่วมกับยารักษาโรคหัวใจเช่น Digitalis หรือยารักษาอาการทางจิตประสาทเช่น Lithium อาจทำให้เกิดพิษของยาเหล่านี้ต่อร่างกายได้เพิ่มมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษายากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกอย่างไร?
โดยทั่วไปให้เก็บยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากลุ่มพาราซิมพาโทมิเมติกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Emetal (อีเมทัล) | Asian Pharm |
Hawkperan (ฮ็อกเพอแรน) | L.B.S. |
H-Peran (เฮท-เพอแรน) | L.B.S. |
K.B. Meta (เค.บี. เมต้า) | K.B. Pharma |
Manosil (แมโนซิล) | March Pharma |
Maril (แมริล) | Atlantic Lab |
Metoclopramide GPO (เมโทโคลพราไมด์ จีพีโอ) | GPO |
Metoclor (เมโทคลอ) | Pharmaland |
Dovizin (โดวิซิน) | Ranbaxy |
Dozozin (โดโซซิน) | Umeda |
Duracard (ดูราการ์ด) | Sun Pharma |
Genzosin (เจนโซซิน) | Genovate Biotechnology |
Pencor (เพนคอร์) | Unison |
Xadosin (ซาโดซิน) | MacroPhar |
Urief (ยูรีฟ) | Eisai |
Atodel (อโทเดล) | Remedica |
Hyposin 2 (ไฮโพซิน 2) | V S Pharma |
Lopress (โลเพรส) | Siam Bheasach |
Mima (มิมา) | New Life Pharma |
Minipress (มินิเพรส) | Pfizer |
Polypress (โพลีเพรส) | Pharmasant Lab |
Prazosin T.O. (พราโซซิน ที.โอ.) | T.O. Chemicals |
Pressin (เพรสซิน) | Utopian |
Harnal OCAS (ฮาร์นอล โอซีเอเอส) | Astellas Pharma |
Xatral XL (ซาทอล เอ็กซ์แอล) | sanofi-aventis |
Hytrin (ไฮทริน) | Abbott |
Desirel (ดิไซเรล) | Codal Synto |
Trazo (ทราโซ) | Medifive |
Trazodone Pharmasant (ทราโซโดน ฟาร์มาซันท์) | Pharmasant Lab |
Zodonrel (โซดอนเรล) | Condrugs |
Zorel (โซเรล) | Utopian |
Bi Miotic (ไบ ไมโอติก) | Bell Pharma |
Antilirium (แอนไทไลเรียม) | Forest |
Isopto Eserine (ไอซอปโต อีเซอรีน) | Alcon |
Anticholium (แอนไทโคเลียม) | Dr. Kohler Pharma |
Cipasid (ซิพาซิด) | Siam Bheasach |
Cisapac (ซิซาแพค) | Inpac Pharma |
Cisapid (ซิซาพิด) | Inpac Pharma |
Cisaride (ซิซาไรด์) | Pharmasant Lab |
Palcid (แพลซิด) | Pharmadica |
Pri-De-Sid (ไพร-เด-ซิด) | Polipharm |
Auto (ออโต้) | Patar Lab |
Avomit-M (เอโวมิท-เอ็ม) | V S Pharma |
Dany (แดนี) | The Forty-Two |
Dolium (โดเลี่ยม) | Utopian |
Domerdon (โดเมอร์ดอน) | Asian Pharm |
Dominox (โดมิน็อก) | T. Man Pharma |
Domp (ดอมพ์) | Community Pharm PCL |
Domperdone (ดอมเพอร์โดน) | Polipharm |
Domper-M (ดอมเพอร์-เอ็ม) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Domp-M (ดอมพ์-เอ็ม) | Community Pharm PCL |
Alperol (อัลพิรอล) | Pharmasant Lab |
Betalol (เบตาลอล) | Berlin Pharm |
Betapress (เบตาเพรส) | Polipharm |
C.V.S. (ซี.วี.เอส) | T. Man Pharma |
Cardenol (คาร์ดินอล) | T.O. Chemicals |
Chinnolol (ชินโนลอล) | Chinta |
Emforal (เอ็มโฟรอล) | Remedica |
Idelol 10 (ไอดิลอล 10) | Medicine Products |
Inderal (อินดิรอล) | AstraZeneca |
Normpress (นอร์มเพรส) | Greater Pharma |
Palon (พาลอล) | Unison |
Perlol (เพอร์ลอล) | Asian Pharm |
Hypodine (ไฮโปดีน) | Central Poly Trading |
Clonidine Hydrochloride Injection (โคลนิดีน ไฮโดรคลอไรด์ อินเจ็กชั่น) | APP Pharmaceuticals, LLC |
Clonidine Hydrochloride Tablet (โคลนิดีน ไฮโดรคลอไรด์ แท็บเล็ท) | Qualitest Pharmaceuticals |
Catapres (คาทาเพรส) | Boehringer Ingelheim Pharmaceutical Inc |
Duraclon (ดูราคลอน) | Xanodyne |
Clonidine Patch (โคลนิดีน แพทช์) | Mylan Pharmaceuticals Inc |
Ucholine (ยูคอลีน) | M & H Manufacturing |
Neuris (นูริส) | NeuPharma |
Lopress (โลเพรส) | Siam Bheasach |
บรรณานุกรม
- http://quizlet.com/9040982/mod-4-systemic-parasympathomimetic-drugs-flash-cards/ [2018,Jan13]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Parasympathomimetic_drug [2018,Jan13]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Alpha-1_blocker [2018,Jan13]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/propranolol.html [2018,Jan13]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/clonidine.html [2018,Jan13]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/cisapride-index.html?filter=3&generic_only= [2018,Jan13]
Updated 2018, Jan13