พารัลดีไฮด์ (Paraldehyde)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

พารัลดีไฮด์ (Paraldehyde)  คือ ยาใช้รักษาอาการลมชัก เคยนำมาใช้บำบัดผู้ที่ติดสุรารวมถึงอาการทางจิตประสาทเช่น อาการซึมเศร้า ช่วยผ่อนคลายและทำให้นอนหลับอีกด้วย เคยมีข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างการใช้ยาพารัลดีไฮด์กับยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) พบว่า ยาพารัลดีไฮด์ก่อให้เกิดภาวะกดการหายใจ (อาการคือ หายใจช้าเบาและตื้น และอาจหยุดหายใจได้)น้อยกว่า จากข้อมูลนี้จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ใช้ยาพารัลดีไฮด์เป็นยารักษาอาการลมชักของเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ในที่พักอาศัย  อย่างไรก็ตามด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของการใช้ยาจึงมีการใช้ยาอื่นทดแทนพารัลดีไฮด์ในการรักษาอาการติดสุราและอาการทางประสาท

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาพารัลดีไฮด์อาจแบ่งได้ดังนี้  

  • ยาน้ำชนิดรับประทาน: ซึ่งมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ที่เด่นชัดคือ ทำให้ลมหายใจของผู้ที่รับประทานยานี้มีกลิ่นแรง-ฉุน และอาจทำความรบกวนทั้งผู้ป่วยและผู้ที่อยู่รอบข้างได้ แต่กลิ่นเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเองภายในเวลา 1 วันหลังการใช้ยา
  • ยาฉีด: ซึ่งมีใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น การใช้ยาจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • ยาน้ำสำหรับสวนเข้าทางทวารหนัก: ซึ่งมักจะใช้รักษาอาการลมชักของเด็กเล็กที่แพทย์แนะนำให้ผู้ปกครองสามารถใช้รักษาอาการลมชักของบุตรหลาน ณ.ที่พักอาศัยได้

ยังมีเหตุผลบางประการที่แพทย์มักนำมาประกอบในการเลือกใช้ยาพารัลดีไฮด์ว่าเหมาะสมกับผู้ป่วยมากน้อยเพียงใดหรือไม่อย่างเช่น

  • ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาพารัลดีไฮด์มาก่อนหรือไม่
  • เคยมีประวัติติดยาเสพติดหรือติดสุราหรือไม่ด้วยร่างกายผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถตอบสนองทำให้ติดยาพารัลดีไฮด์ได้เช่นเดียวกันจนส่งผลกระทบต่อการรักษา
  • หากผู้ป่วยมี ภาวะลำไส้อักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร การใช้ยาพารัลดีไฮด์ชนิดรับประทานอาจทำให้อาการอักเสบเหล่านั้นรุนแรงมากขึ้น
  • ผู้ป่วย โรคปอด โรคหืด โรคตับ หากได้รับยาพารัลดีไฮด์อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงกับตัวผู้ป่วยได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น

อนึ่ง หลังจากมีการจ่ายยาพารัลดีไฮด์กับผู้ป่วยเพื่อนำกลับไปใช้ที่บ้าน ยังมีข้อพึงระวังปลีก ย่อยที่ไม่ควรละเลย แพทย์/เภสัชกรจะให้คำแนะนำและมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกอาทิ

 ก. สำหรับยารับประทาน: เช่น

  • ห้ามใช้ช้อนพลาสติกหรือแก้วพลาสติกในการตวงยา ด้วยตัวยาจะทำปฏิกิริยากับเนื้อพลาสติกและกระทบต่อประสิทธิภาพในการรักษา ควรใช้ภาชนะที่เป็นโลหะหรือแก้วเท่านั้น
  • สามารถผสมยาในนมหรือน้ำผลไม้เย็นๆก่อนการรับประทาน ทั้งนี้จะช่วยปรับปรุงรสชาติให้น่ารับประทานมากขึ้น และลดความรู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ได้บ้างพอสมควร

 ข. สำหรับยาชนิดสวนเข้าทางทวารหนัก: เช่น

  • ผู้ปกครองต้องเรียนรู้วิธีการใช้ยารูปแบบสวนเข้าทางทวารหนักอย่างถูกต้องจากสถาน พยาบาลที่ตรวจรักษา และสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเมื่ออาการลมชักเกิดขึ้นกับบุตร-หลาน

ทั้งนี้ยาพารัลดีไฮด์มีข้อควรระวังอีกมากมาย การเลือกรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมต้องอาศัยดุลยพินิจของแพทย์มาประกอบเท่านั้น ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลและต้องปฏิบัติตัวตามคำ แนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดการใช้ยาด้วยตนเองเป็นอันขาด

พารัลดีไฮด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

พารัลดีไฮด์

ยาพารัลดีไฮด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด ช่วยให้นอนหลับ
  • ใช้บำบัดอาการโรคลมชัก, อาการชักจากโรคบาดทะยัก, อาการชักจากพิษของยาอื่น
  • บำบัดอาการสั่น-เพ้อด้วยเหตุขาดสุรา

พารัลดีไฮด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาพารัลดีไฮด์คือ เป็นยาที่มีฤทธิ์สงบประสาทช่วยให้นอนหลับ และรักษาอาการลมชัก โดยยาจะออกฤทธิ์ที่สมองและก่อให้เกิดการปรับสมดุลของกระแสประสาทจากสมอง ส่งผลต่ออาการชักให้สงบและทุเลาลง ตัวยายังสามารถซึมผ่านเข้าปอด น้ำไขสันหลัง ก่อนที่จะถูกขับออกไปกับปัสสาวะ ข้อดีบางประการของยานี้คือ มีผลกระทบต่อระบบการหายใจและต่อระบบความดันโลหิตของผู้ป่วยได้บ้าง แต่ไม่ค่อยพบถึงขั้นอันตรายรุนแรง

พารัลดีไฮด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพารัลดีไฮด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

  • ยาฉีด ขนาดความแรง 100% ขนาดบรรจุ 5 มิลลิลิตร/ขวด
  • ยาน้ำชนิดรับประทานและยาน้ำชนิดสวนเข้าทางทวารหนัก โดยขนาดบรรจุจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลเป็นผู้จัดทำให้กับผู้ป่วย

พารัลดีไฮด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาพารัลดีไฮด์มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น

  1. ยาชนิดฉีด: เช่น

ก.เพื่อช่วยให้นอนหลับ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อครั้งละ 10 มิลลิลิตร
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 0.3 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ข. บำบัดอาการชักจากโรคบาดทะยักหรือจากการได้รับพิษของยาอื่น: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อครั้งละ 5 - 10 มิลลิลิตร
  • เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็ก ความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ค. สำหรับอาการสั่นด้วยเหตุขาดสุรา:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อครั้งละ 5 มิลลิลิตรทุก 4 - 6 ชั่วโมงเป็นเวลา 1 วัน จากนั้น แพทย์อาจลดความถี่ในการให้ยาเหลือทุก 6 ชั่วโมงในวันถัดมา ขนาดการให้ยาสูงสุดในวันแรกไม่เกิน 30 มิลลิลิตร/วันและ 20 มิลลิลิตร/วันในวันถัดมาของการรักษา
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  1. ยาชนิดที่ใช้ทางทวารหนัก: เช่น

สำหรับอาการชักในเด็ก: เด็กอายุ 1 เดือน - 18 ปี: ให้ยาทางทวารหนักขนาด 0.4 มิลลิ ลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยต้องเจือจางยาด้วยน้ำมันมะกอกเท่าตัวก่อนสวนเข้าทางทวารหนักของเด็ก ห้ามสวนเข้าทวารหนักโดยไม่ได้เจือจางตัวยาก่อนเป็นอันขาด

  1. ยาชนิดรับประทาน: เช่น สำหรับสงบประสาท: เช่น
  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 4 - 8 มิลลิลิตรโดยเจือจางกับนมหรือน้ำผลไม้
  • เด็ก: รับประทานครั้งละ 0.15 -3 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยเจือจางกับนมหรือน้ำผลไม้

*อนึ่งยานี้รับประทานหลังอาหาร

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาพารัลดีไฮด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพารัลดีไฮด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาพารัลดีไฮด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

พารัลดีไฮด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยาพารัลดีไฮด์ที่อาจพบได้จากทุกรูปแบบผลิตภัณฑ์ มีดังนี้ เช่น

ก. ชนิดฉีด: เกิดอาการไอ ปอดบวม มีเลือดออกในปอด ความดันโลหิตต่ำ

ข. ชนิดที่ให้ทางทวารหนัก: เกิดการระคายเคืองในบริเวณทวารหนักหรือเกิดแผลในทวารหนัก ง่วงนอน อาจเกิดผื่นคันทางผิวหนัง

ค. ชนิดรับประทาน: เกิดอาการง่วงนอน ปวดหัว    คลื่นไส้อาเจียน ลมหายใจมีกลิ่นแรงและฉุน อาจพบอาการวิงเวียนคล้ายกับอาการเมาค้างได้บ้าง

*สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: อาจพบอาการปัสสาวะมีสีขุ่น รู้สึกสับสน ปัสสาวะน้อย หายใจเร็วและแรง กล้ามเนื้อกระตุก คลื่นไส้-อาเจียน กระสับกระส่าย หัวใจเต้นช้า เป็นตะคริวที่ท้องอย่างรุนแรง และอ่อนเพลีย ซึ่งถ้าผู้ป่วยใช้ยานี้และมีอาการดังกล่าวให้หยุดใช้ยานี้และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้พารัลดีไฮด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้พารัลดีไฮด์ เช่น   

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรด้วยตัวยาพารัลดีไฮด์สามารถ ซึมผ่านรกและเข้าสู่น้ำนมมารดาได้ หากตัวยาถูกส่งผ่านถึงทารกอาจก่อให้เกิดภาวะกดการหาย ใจในเด็กทารกได้
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคปอด โรคตับ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรค                         ลำไส้อักเสบ
  • หลีกเลี่ยงมิให้ยาพารัลดีไฮด์เข้าตา สัมผัสผิวหนังหรือเสื้อผ้า
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานอาจทำให้ร่างกายเกิดการติดยา เกิดพิษต่อตับและต่อไตของผู้ป่วย รวมถึงเกิดภาวะเลือดเป็นกรดอันเนื่องมาจากกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย (อาการเช่น หายใจเร็ว สับสน อ่อนเพลียมาก อาจโคม่า)
  • การหยุดใช้ยานี้โดยทันทีอาจทำให้เกิดภาวะประสาทหลอนหรือเกิดอาการคลุ้มคลั่งขึ้นได้ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำการหยุดยานี้อย่างเป็นขั้นตอนเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด
  • การใช้ยาพารัลดีไฮด์เพื่อช่วยให้นอนหลับควรใช้เพียงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ตัวยาจะกระ ตุ้นให้เกิดอาการง่วงนอนได้อย่างรวดเร็วขณะที่ได้รับยานี้ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการควบคุมเครื่องจักรต่างๆ
  • มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าของอาการผู้ป่วยหลังการบำบัดด้วยยานี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพารัลดีไฮด์) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

พารัลดีไฮด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพารัลดีไฮด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น  เช่น

  • ห้ามดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ร่วมกับการใช้ยาพารัลดีไฮด์ด้วยจะทำให้มี อาการข้างเคียงต่อระบบประสาทอย่างมาก เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ เกิดการสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจ
  • การใช้ยาพารัลดีไฮด์ ร่วมกับยา Disulfiram อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น ใบหน้าแดง มีอาการปวดตุบๆในศีรษะและบริเวณคอ หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียน เจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน เป็นลม ตาพร่า เกิดอาการชัก ภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อป้องกันการเกิดอาการข้างเคียงดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาพารัลดีไฮด์ ร่วมกับยา Propoxyphene อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการ ทำงานของเซลล์ประสาท โดยพบอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ ความสามารถในการตัดสินใจด้อยประสิทธิภาพลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาพารัลดีไฮด์ ร่วมกับยา Sodium oxybate ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะ กดการหายใจ เกิดความดันโลหิตต่ำ  เป็นลม จนถึงขั้นโคม่า และอาจตายได้ในที่สุด

ควรเก็บรักษาพารัลดีไฮด์อย่างไร?

ควรเก็บยาพารัลดีไฮด์:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

พารัลดีไฮด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพารัลดีไฮด์  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Paraldehyde DBL (พารัลดีไฮด์ ดีบีแอล) David Bull
Paral (พารัล) Forest Laboratories

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Paraldehyde   [2022,May7]
  2. https://www.drugs.com/cons/paraldehyde-oral-injection-rectal.html  [2022,May7]
  3. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/paraldehyde-oral-route-injection-route-rectal-route/side-effects/drg-20065329  [2022,May7]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/paraldehyde?mtype=generic  [2022,May7]
  5. https://www.mims.com/Singapore/drug/info/Paraldehyde%20DBL/  [2022,May7]
  6. https://www.mims.com/India/drug/info/paraldehyde/?type=full&mtype=generic  [2022,May7]
  7. https://www.gosh.nhs.uk/conditions-and-treatments/medicines-information/paraldehyde-and-olive-oil-enema/  [2022,May7]
  8. https://www.evelinalondon.nhs.uk/resources/patient-information/administration-of-rectal-paraldehyde-to-children.pdf  [2022,May7]
  9. https://www.drugs.com/food-interactions/paraldehyde.html  [2022,May7]
  10. https://www.drugs.com/drug-interactions/paraldehyde-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,May7]
  11. https://www.sdrugs.com/  [2022,May7]