พายุไซโตไคน์จากโควิด-19 (ตอนที่ 4)

พายุไซโตไคน์จากโควิด-4

      

ทั้งนี้ พายุไซโตไคน์สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายภาวะ เช่น

  • Macrophage activation syndrome (MAS) – เกิดบ่อยในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรคลูปัสหรือเอสแอลอี (Lupus) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile arthritis) หรือ โรคสติลล์ (Still’s disease)
  • Hemophagocytic lymphohistiocytosis (HLH) - ภาวะมีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์และฮีสติโอไซต์มาก
  • Viral infections – การติดเชื้อไวรัส
  • Sepsis - การติดเชื้อในกระแสเลือด
  • Leukemia and lymphoma – โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมียและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • Cytokine release syndrome - กลุ่มอาการจากการหลั่งไซโตไคน์
  • Graft-versus-host disease - ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย

หรือพายุไซโตไคน์อาจเกิดหลังการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) บางชนิด ซึ่งแม้ว่าโควิด-19 จะอุบัติขึ้นไม่กี่เดือน แต่นักวิจัยเชื่อว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะพายุไซโตไคน์ในตัวผู้ป่วย เพราะระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารไซโตไคน์ที่ทำลายเซลล์ด้วย โดยขึ้นอยู่กับข้อมูลทางพันธุกรรมหรือที่เรียกว่า “จีโนม” (Genome) ว่ามีการกลายพันธุ์เพียงใด นั้นคือเหตุผลว่าทำไมบางคนจึงมีอาการรุนแรงในขณะที่บางคนไม่รุนแรง

ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงจะมีภาวะของพายุไซโตไคน์เกิดด้วย ดังนั้น ปัจจุบันจึงมีงานวิจัยหลายฉบับที่กำลังศึกษาถึงยาและอุปกรณ์ที่จะช่วยลดการหลั่งสารไซโตไคน์ในผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ต้องเสียชีวิต

Mukesh Kumar, PhD นักไวรัสวิทยาและนักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่ง Georgia State University in Atlanta กล่าวว่า ในผู้ป่วยโควิด-19 เซลล์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจะอยู่ในปอด เมื่อเซลล์ตายหรือถูกทำลายด้วยพายุไซโตไคน์ ผนังถุงลมเล็กๆ ในปอดจะรั่วและเต็มไปด้วยของเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดปอดอักเสบ (Pneumonia) หายใจไม่ได้ และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

เพราะเมื่อปอดถูกทำลาย จะเกิดภาวะการหายใจล้มเหลว (Respiratory distress syndrome) อวัยวะอื่นจะทำงานต่อไปไม่ได้ จึงทำให้เสียชีวิต Mukesh Kumar, PhD กล่าวต่อว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 จะสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะพายุไซโตไคน์ได้มากกว่าเชื้อไวรัสซิก้าและเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ถึง 50 เท่า

นอกจากนี้จากการศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 191 รายในโรงพยาบาลที่จีน 2 แห่ง พบว่า ไซโตไคน์ชนิด IL-6 มีความเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคนี้ด้วย

ดังนั้น การหายาที่สามารถยับยั้งการที่เซลล์ทำลายตัวเองจึงสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ เช่น ยา Actemra ที่ใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ด้วยการยับยั้งการทำงานของไซโตไคน์ชนิด IL-6

อย่างไรก็ดี กรณีนี้ยังคงต้องทำงานวิจัยเพิ่มเติมกันต่อไปเพราะเหมือนดาบสองคมที่ยาจะไปลดการทำงานของเซลล์ในการกำจัดเชื้อด้วย กล่าวคือ ผู้ป่วยจะติดเชื้อได้ง่ายเช่นกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. Cytokines and Their Side Effects. https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/treatment-types/immunotherapy/cytokines.html [2020, May 18].
  2. Cytokine storm. https://www.cancer.gov/publications/dictionaries/cancer-terms/def/797584 [2020, May 18].
  3. What is a cytokine storm? https://www.knowablemagazine.org/article/health-disease/2020/what-cytokine-storm [2020, May 18].