พาซิรีโอไทด์ (Pasireotide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาพาซิรีโอไทด์(Pasireotide หรือ Pasireotide diaspartate)เป็นสารประกอบที่สังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโซมาโตสแตติน (Somatostatin, ฮอร์โมนชนิดหนึ่งจากต่อมใต้สมอง) มีฤทธิ์กดการทำงานของฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth hormone) และสเตียรอยด์ฮอร์โมน ทางคลินิกจึงใช้ยาพาซิรีโอไทด์มารักษาอาการ

  • Cushing’s syndrome อันมีสาเหตุจากร่างกายมีฮอร์โมน Glucocorticoid มากเกินไป
  • Acromegaly ที่เป็นภาวะร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติซึ่งมีสาเหตุจากร่างกายมีฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth hormone) มากเกินไปนั่นเอง

ยาพาซิรีโอไทด์ที่พบเห็นการใช้ในปัจจุบัน จะมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด โดยต้องฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ/เข้ากล้าม ตัวยานี้ในกระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 88% และจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางชีวะโมเลกุลโดยตับ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด และผ่านทิ้งไปกับอุจจาระ มีส่วนน้อยไปกับปัสสาวะ

ผู้ที่จะใช้ยาพาซิรีโอไทด์ได้นั้น ต้องไม่ป่วยเป็นโรคตับในระยะรุนแรง รวมถึงต้องไม่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยาชนิดนี้มาก่อน

ยาพาซิรีโอไทด์จัดอยู่ในประเภทยาควบคุมพิเศษ การใช้ยานี้กับผู้ป่วย ต้องเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น ซึ่งก่อนได้รับยานี้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ เพื่อยืนยันว่าตนเองมีสภาวะฮอร์โมนต่างๆผิดปกติจริง โดยขนาดและความถี่ของการใช้ยานี้ จะมีความแตกต่างกันตามระดับอาการและความรุนแรงของโรค

หลังจากได้รับยาพาซิรีโอไทด์แล้ว ผู้ป่วยยังต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยานี้ และต้องควบคุมอาการต่างๆเหล่านั้นให้เป็นปกติเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เช่น ภาวะหัวใจเต้นช้า อาการจากมีระดับฮอร์โมน Cortisol ในร่างกายต่ำ ปวดกล้ามเนื้อ น้ำหนักตัวลด อยากอาหารประเภทรสเค็ม อารมณ์แปรปรวน น้ำตาลในเลือดสูง กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมาก ปากแห้ง และอื่นๆ

สำหรับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่ค่อนข้างรุนแรงจากยาพาซิรีโอไทด์ เช่น มีภาวะหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม และมีผื่นคัน เกิดขึ้นตามร่างกาย อาการดังกล่าว ล้วนแต่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำรงชีวิตและอาจเป็นอันตรายรุนแรงตามมาหากปล่อยทิ้งไว้ กรณีพบเห็นอาการข้างเคียงดังกล่าว ควรรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือผู้ป่วยจะต้องใช้ยาพาซิรีโอไทด์อย่างต่อเนื่องและควรมารับยานี้ตรงตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อแพทย์ตรวจดูความก้าวหน้าของการรักษา รวมถึงเพื่อแพทย์ประเมินระดับน้ำตาลในเลือดว่าปกติหรือไม่ ตรวจดูระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือด ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจวัดระดับเกลือแร่ในเลือด อย่างเช่น แมกนีเซียม และโปแตสเซียม/โพแทสเซียม

หากผู้ป่วยไม่สามารถมารับการฉีดยาพาซิรีโอไทด์ตามนัดหมาย อาจส่งผลต่ออาการโรค ที่นอกจากจะไม่ทำให้สภาพเจ็บป่วยดีขึ้นแล้ว ยังจะส่งผลให้อาการโรคกลับมาใหม่ หรือมีอาการรุนแรงขึ้น

ยังมีข้อห้าม ข้อควรระวังอีกหลายประการของการใช้ยาพาซิรีโอไทด์ ที่ไม่สามารถนำมาระบุในบทความนี้ได้หมด ซึ่งหากผู้บริโภค/ผู้ป่วยมีข้อสงสัยการใช้ยาพาซิรีโอไทด์เพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลต่างๆได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษา หรือสอบถามจากเภสัชกรได้ทั่วไป

พาซิรีโอไทด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

พาซิรีโอไทด์

ยาพาซิรีโอไทด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการโรค Acromegaly
  • รักษาอาการโรค Cushing’s syndrome

พาซิรีโอไทด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาพาซิรีโอไทด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเข้าจับกับตัวรับ(Receptor) ที่มีชื่อว่า Somatostatin receptor มีผลให้เกิดการยังยั้งการหลั่ง Cortisol และฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth hormone)จากต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของ Cushing’s syndrome และ Acromegaly จากกลไกดังกล่าวทำให้อาการของผู้ป่วยทุเลา และดีขึ้นเป็นลำดับ

พาซิรีโอไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพาซิรีโอไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาฉีดชนิดสารละลายที่ประกอบด้วย Pasireotide ขนาด 0.6 และ 0.9 มิลลิกรัม/ขวด

ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อที่ประกอบด้วย Pasireotide ขนาด 40 มิลลิกรัม/ขวด

พาซิรีโอไทด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาพาซิรีโอไทด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก.สำหรับรักษาอาการ Cushing’s syndrome:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.6 มิลลิกรัม หรือ 0.9 มิลลิกรัม วันละ 2ครั้ง ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 0.3–0.9 มิลลิกรัม โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง วันละ 2 ครั้ง ขนาดใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 0.9 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข.สำหรับรักษาอาการ Acromegaly:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 40 มิลลิกรัม ทุกๆ 28 วัน ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุกๆ 28 วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ก่อนการใช้ยานี้บำบัดอาการ Acromegaly จะต้องประเมินระดับน้ำตาลในเลือด ค่าน้ำตาลสะสมในเลือด(HbA1C) ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือด ค่าECG ระดับเกลือแมกนีเซียมและโปแตสเซียม ในเลือด เพื่อเป็นการป้องกัน และควบคุมอาการความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นหลังการใช้ยาพาซิรีโอไทด์
  • สำหรับผู้ป่วยโรคไต ไม่ต้องปรับขนาดการใช้ยานี้แต่อย่างใด
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง และสำหรับผู้ป่วยโรคตับที่ความรุนแรงโรคในระดับกลางๆหรือระดับต่ำ ให้ปรับขนาดการใช้ยาลงมาดังนี้ Acromegaly ให้ลดขนาดฉีดยาลงมาเป็น 20 มิลลิกรัม ทุกๆ 28 วัน ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม ทุกๆ 28 วัน; Cushing’s syndrome เริ่มต้นฉีดยาขนาด 0.3 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 0.6 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพาซิรีโอไทด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพาซิรีโอไทด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมหรือไม่ได้มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดเพื่อรับการฉีดยาพาซิรีโอไทด์ ให้รีบติดต่อ แพทย์/พยาบาล ผู้ทำการดูแลรักษา เพื่อทำการนัดหมายและมารับการฉีดยานี้โดยเร็ว

พาซิรีโอไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพาซิรีโอไทด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นช้า
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง เกิดผื่นคัน ผิวแห้ง
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ ไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เป็นโรคหวัด

มีข้อควรระวังการใช้พาซิรีโอไทด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพาซิรีโอไทด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาทีมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น สีน้ำยาเปลี่ยนไป
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีระดับเกลือแมกนีเซียม หรือเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ ผู้ป่วยโรคหัวใจ เช่น หัวใจวาย หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ
  • ระหว่างใช้ยานี้ต้องคอยควบคุม ระดับน้ำตาลในเลือด อัตราการเต้นและการทำงานของหัวใจ ระดับอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในร่างกาย ตามแพทย์แนะนำเสมอ
  • กรณีที่เกิดอาการข้างเคียงจากยานี้ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • แจ้งแพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีโรคประจำตัว และใช้ยาประเภทใด อยู่บ้าง
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพาซิรีโอไทด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

พาซิรีโอไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพาซิรีโอไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาพาซิรีโอไทด์ร่วมกับยา Beta-blockers เช่น Propranolol, Diltiazem, หรือ Verapamil เพราะอาจส่งผลทำให้หัวใจเต้นช้าลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาพาซิรีโอไทด์ร่วมกับยารักษาอาการ/ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างเช่นยา Amiodarone ด้วยจะทำให้ฤทธิ์ของยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะด้อยประสิทธิภาพลงมา
  • ห้ามใช้ยาพาซิรีโอไทด์ร่วมกับยา Bromocriptine เพราะจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาพาซิรีโอไทด์เพิ่มมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยาพาซิรีโอไทด์ร่วมกับยา Cyclosporine เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยา Cyclosporine ด้อยลง

ควรเก็บรักษาพาซิรีโอไทด์อย่างไร?

ควรเก็บยาพาซิรีโอไทด์ตามเงื่อนไขที่ระบุมากับเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

พาซิรีโอไทด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพาซิรีโอไทด์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Signifor (ซิกนิฟอร์)Novartis

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/mtm/pasireotide.html[2017,March18]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Pasireotide[2017,March18]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB06663[2017,March18]
  4. http://www.mims.co.uk/signifor-indicated-acromegaly/endocrine/article/1351664[2017,March18]