พรีกาบาลิน (Pregabalin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาพรีกาบาลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาพรีกาบาลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาพรีกาบาลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาพรีกาบาลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาพรีกาบาลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาพรีกาบาลินอย่างไร?
- ยาพรีกาบาลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาพรีกาบาลินอย่างไร?
- ยาพรีกาบาลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคลมชัก (Epilepsy)
- ยาแก้ปวด และยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
บทนำ
ยาพรีกาบาลิน (Pregabalin) อยู่ในกลุ่มยากันชักยาต้านชัก ถูกนำมาใช้รักษาอาการปวดของระบบเส้นประสาท อีกทั้งยังมีฤทธิ์บรรเทาอาการวิตกกังวลได้อีกด้วย บริษัทยาไฟเซอร์ได้นำมาจัดจำหน่าย โดยมีชื่อการค้าว่า ‘Lyrica’ มีใช้ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆทั่วไปของประเทศไทย ลักษณะยาเป็นชนิดแคปซูลสำหรับรับประทาน
หลังจากที่ร่างกายได้รับยาพรีกาบาลิน ยาจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีเพียงส่วน น้อย ต้องใช้เวลา 5 – 6.5 ชั่วโมงเพื่อทำให้ยาที่อยู่ในกระแสเลือดลดลงประมาณ 50% และขับออกจากร่างกายโดยผ่านมากับปัสสาวะ
ยาตัวนี้ใช้รักษาเฉพาะโรคบางโรคเท่านั้น อีกทั้งมีข้อยกเว้น ข้อห้ามใช้ ผลข้างเคียงต่างๆ มากมาย การใช้ยาพรีกาบาลินที่ปลอดภัย จึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งและดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ยาพรีกาบาลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาพรีกาบาลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาอาการปวดหรือเจ็บในบริเวณ ปลายเส้นประสาท และสมอง
- รักษาอาการปวดปลายประสาทในผู้ป่วย เบาหวาน โรคปวดกล้ามเนื้อ และอาการปวดในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคงูสวัด
- รักษาอาการวิตกกังวล
ยาพรีกาบาลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาพรีกาบาลินคือ ยามีลักษณะโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับสารกาบา (GABA: Gamma-aminobutyric acid, สารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง) ของร่างกาย และจะทำหน้าที่ยับยั้งการหลั่งของสารสื่อประสาทต่างๆ ในบริเวณปลายประสาทที่มีอาการเจ็บปวด จึงอาจเป็นเหตุผลที่ช่วยลดระดับความเจ็บปวดที่ปลายประสาทลงได้
ยาพรีกาบาลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
การจัดจำหน่ายยาพรีกาบาลิน เช่น
- ในรูปแบบแคปซูล ขนาดความแรง 25, 75 และ150 มิลลิกรัม
ยาพรีกาบาลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยาพรีกาบาลิน เช่น
ก. ผู้ใหญ่: เช่น
- สำหรับการปวดบริเวณปลายประสาท: ในช่วงเริ่มต้น รับประทาน 150 มิลลิกรัม/วัน, จากนั้นภายในช่วง 3 – 7 วันต่อมา แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 300 มิลลิกรัม/วัน, อีก 7 วันถัดมา แพทย์สามารถปรับขนาดรับประทานได้อีก โดยขนาดสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
- สำหรับรักษาอาการโรคลมชัก: ขนาดเริ่มต้นรับประทาน 150 มิลลิกรัม/วัน จากนั้นภายใน 1 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทาน เป็น 300 มิลลิกรัม/วัน, และระหว่างสัปดาห์ถัดไป แพทย์สามารถปรับขนาดรับประทานอีก แต่สูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
- สำหรับอาการวิตกกังวล: เช่น ขนาดรับประทานเริ่มต้นที่ 150 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน, หลังการใช้ยาภายใน 1 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 300 มิลลิกรัม/วัน, และสัปดาห์ถัดมา แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 450 มิลลิกรัม/วัน, และแพทย์อาจปรับขนาดได้อีกในสัปดาห์ต่อไป, แต่ขนาดสูงสุดของการรับประทานต้องไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/วัน
- สำหรับผู้ที่มีไตทำงานผิดปกติ: แพทย์อาจต้องปรับลดขนาดรับประทานลง โดยต้องคำนวณจากปริมาณสัมพันธ์ของค่าการทำงานของไต (ครีเอตินีน, Cr: Creatinine) แต่ผู้ที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประ ทาน
ข. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการใช้ยานี้เป็นยามาตรฐานในเด็ก ดังนั้น การใช้ยาในเด็กจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
อนึ่ง:
- ยาพรีกาบาลินนี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- *การรับประทานยานี้เกินขนาด อาจมีอาการง่วงนอนมาก เกิดความรู้สึกสับสน มีอารมณ์ซึมเศร้า กระสับกระส่าย กระวนกระวายใจ การรักษากรณีรับประทานยาเกิน ต้องใช้หัตถการทางการแพทย์ที่เหมาะสม กรณีที่มีอาการรุนแรงมาก อาจต้องใช้วิธีการฟอกเลือด (Hemodialysis) ดังนั้นการใช้ยานี้ ต้องอยู่ในภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ผู้ป่วยไม่สมควรปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง และเมื่อรับประทานยาเกินขนาด ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาพรีกาบาลิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพรีกาบาลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาพรีกาบาลินกับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาพรีกาบาลิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาพรีกาบาลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาพรีกาบาลินมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง) เช่น
ก. อาการข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น
- วิงเวียนศีรษะ
- ง่วงนอน
ข. อาการข้างเคียงที่พบบ่อยรองลงมา เช่น
- การมองภาพไม่ชัดเจน
- ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- การเคลื่อนไหวของร่างกายไม่ประสานงานกัน เช่น มีอาการเดินเซ
- ความจำถดถอย
- มีอาการตัวสั่น
- ปากคอแห้ง
- ท้องผูก
- คลื่นไส้
- อ่อนเพลีย
- จิตใจสับสน
- มึนศีรษะ
- บวมปลายมือปลายเท้า
ค. อาการข้างเคียงที่พบน้อย เช่น
- ซึมเศร้า
- ประสาทหลอน
- เหงื่อออกมาก
- เป็นตะคริว
- ผื่นคัน
ง. อาการข้างเคียงที่ไม่ค่อยพบ แต่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
- ความดันโลหิตต่ำ
- ความดันโลหิตสูง
- ตับอ่อนอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้ยาพรีกาบาลินอย่างไร?
ข้อควรระวังเมื่อใช้ ยาพรีกาบาลิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยาพรีกาบาลิน
- หลังรับประทานยานี้แล้ว หากมีอาการคล้ายเป็นลมพิษ ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ หากหลังใช้ยานี้แล้วมีอาการวิงเวียน หรือง่วงนอน เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ไม่แนะนำการใช้ยานี้กับเด็กเล็ก
- ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนทางด้านความปลอดภัยของการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากับกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว
- การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปีขึ้นไป) แพทย์จะปรับขนาดรับประทานลง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาพรีกาบาลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาพรีกาบาลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาพรีกาบาลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาพรีกาบาลินร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถทำให้เกิดอาการ มึนเมา ด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น จึงห้ามรับประทานร่วมกัน
- การใช้ยาพรีกาบาลินร่วมกับยาคลายความวิตกกังวล/ยาคลายเครียดบางตัว สามารถทำ ให้ฤทธิ์ของยาคลายความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังหากต้องใช้ร่วมกัน ยาคลายความวิตกกังวลดังกล่าว เช่นยา Diazepam และ Lorazepam
- การใช้ยาพรีกาบาลินร่วมกับยารักษาอาการแพ้/ยาแก้แพ้ สามารถก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศ๊รษะและง่วงนอนมากยิ่งขึ้น ยารักษาอาการแพ้/ยาแก้แพ้ดังกล่าว เช่นยา Brompheniramine และ Chlorpheniramine
ควรเก็บรักษายาพรีกาบาลินอย่างไร?
ควรเก็บยาพรีกาบาลิน เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น และ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาพรีกาบาลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาพรีกาบาลิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตดังนี้ คือ
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Lyrica (ไลริก้า) | Pfizer |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Pregabalin[2020,Nov21]
2. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fpregabalin%3fmtype%3dgeneric[2020,Nov21]
3. https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fLyrica%2f%3fq%3dpregabalin%26type%3dbrief [2020,Nov21]
4. https://www.drugs.com/mtm/pregabalin.html [2020,Nov21]
5. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17126531 [2020,Nov21]
6. http://www.drugs.com/drug-interactions/pregabalin-index.html?filter=2&generic_only=#L[2020,Nov21]