พระก็ป่วยเป็นนะโยม (ตอนที่ 12)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 6 ธันวาคม 2562
- Tweet
ส่วนเบาหวานชนิดอื่นอาจเป็นผลมาจากการผ่าตัด การใช้ยา การป่วยด้วยโรคอื่นๆ หรือจากการตั้งครรภ์ซึ่งเรียกว่า โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes)
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) มักเกิดระหว่างการตั้งครรภ์ช่วงกลางหรือช่วงปลาย จะเกิดขึ้นเมื่อมีระดับกลูโคสในเลือดสูงระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะทารกต้องการกลูโคสเพื่อใช้พัฒนาร่างกาย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์อาจมีผลกระทบต่ออินซูลินซึ่งทำให้เกิดระดับกลูโคสในเลือดสูง โรคเบาหวานชนิดนี้พบได้ประมาณร้อยละ 2-10 ของหญิงตั้งครรภ์
ทั้งนี้ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจก่อความเสี่ยงต่อทารกได้ เช่น น้ำหนักแรกเกิดผิดปกติ มีปัญหาเรื่องการหายใจตั้งแต่แรกเกิด มีโอกาสอ้วนสูง และมีความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานเมื่อโตขึ้น
หญิงตั้งครรภ์ที่มีโอกาสสูงในการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
- หญิงอายุมากกว่า 35 ปี
- มีน้ำหนักตัวมาก
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- มีประวัติการเป็นกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (Polycystic ovarian syndrome)
อย่างไรก็ดี ระดับกลูโคสในเลือดมักจะกลับสู่สภาพปกติภายหลังการคลอด และผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ก็มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในอนาคต
สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานนั้นยังไม่เป็นที่ทราบชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่
- ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน
- น้ำหนักตัวมาก
- มีความเครียดทางกาย (Physical stress) เช่น เจ็บป่วยหรือผ่าตัด
- ใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์
- ตับอ่อนได้รับบาดเจ็บ เช่น ติดเชื้อ มีก้อนเนื้องอก ผ่าตัด หรือ เกิดอุบัติเหตุ
- โรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease)
- ความดันโลหิตสูง
- ระดับคลอเรสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์ผิดปกติ
- อายุ (ยิ่งอายุมากยิ่งเสี่ยง)
- สูบบุหรี่
- มีประวัติเคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
แหล่งข้อมูล:
- Types of Diabetes Mellitus. https://www.webmd.com/diabetes/guide/types-of-diabetes-mellitus#1 [2019, December 5].
- Diabetes Mellitus: An Overview. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/7104-diabetes-mellitus-an-overview [2019, December 5].