พยาธิสตรองจิลอยด์ สตรองจิลอยดิอาซิส (Strongyloidiasis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

สตรองจิลอยดิอาซิส (Strongyloidiasis) /โรคติดเชื้อพยาธิสตรองจิลอยดิส(Strongyloides) คือ ‘โรคพยาธิลำไส้’ ที่เกิดจากคนติดเชื้อพยาธิในสกุล(Genus) ชื่อ Strongyloides ที่มีหลากหลายชนิด(Species) โดยชนิดพบบ่อยที่สุดและเป็นเกือบทั้งหมดที่ก่อโรคในคนคือ ชนิด Stercoralis (Strongyloides stercoralis หรือ S. stercoralis)

ทั้งนี้ชื่ออื่นของโรคนี้คือ โรคพยาธิสตรองจิลอยด์ หรือ โรคสตรองจิลอยด์

พยาธิสตรองจิลอยดิส (Strongyloides)/พยาธิ์สตรองจิลอยด์ เป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก ตัวเมียที่เป็นตัวเต็มวัย/ตัวแก่ (Adult) มีความยาวประมาณ 2 -3 มิลลิเมตร (มม.) กว้างประมาณ 0.05 มม. ในขณะที่ตัวผู้ตัวเล็กกว่าประมาณเท่าตัว เมื่อพยาธิตัวผู้และตัวเมียผสมพันธุ์ จะได้ไข่มีรูปร่างกลมรีมีขนาดเล็กมากขนาดประมาณ 0.035 x 0.050 มม. มองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งไข่จะเจริญเป็นตัวอ่อน (Larva, L) ระยะต่างๆ 3 ระยะ (L1, L2, L3)

  • ตัวอ่อนระยะ L1, L2 เรียกว่า Rhabditiform larva มีขนาดประมาณ 0.25 X 0.015 มม.
  • ส่วนตัวอ่อนระยะ L3/ตัวอ่อนระยะติดต่อ/Infective stage larva เรียกว่า Filariform larva มีขนาดประมาณ 0.5 X 0.015 มม. ที่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่าได้

อนึ่ง: เนื่องจากพยาธิสตรองจิลอยดิส มีขนาดเล็กมาก และลำตัวเป็นคล้ายเส้นด้าย ทั่วไป จึงเรียกได้อีกชื่อว่า ‘พยาธิเส้นด้าย (Threadworm)’ ซึ่งชื่อจะไปพ้องกับพยาธิเส้นด้าย/พยาธิเข็มหมุด ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Enterobius vermicularis” ที่ทำให้เกิดพยาธิทางเดินอาหารเช่นกันที่เรียกว่า ‘โรคติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย หรือโรคติดเชื้อพยาธิเข็มหมุด(Enterobiasis)’

พยาธิสตรองจิลอยดิส มีรังโรคคือ ดินที่เปียกชื้น (พยาธิจะตายในสิ่งแวดล้อมที่แห้งแล้ง ขาดความชื้น) และมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว รวมถึงคนเป็นโฮสต์จำเพาะ(Definitive host, โฮสต์ที่พยาธิอยู่อาศัยจนเป็นตัวแก่ สืบพันธุ์ และออกไข่) เป็นพยาธิที่พบ ทั่วโลก แต่พบสูงในพื้นที่ทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะเขตร้อนชื้น เช่น อเมริกากลาง และ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่รวมถึงประเทศไทย รวมทั้งพบบ่อยขึ้นในประเทศที่ยังไม่พัฒนาที่ยังใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย และ/หรือยังมีการสาธารณสุขไม่ดีในเรื่องน้ำบริโภค ส้วม และการกำจัดอุจจาระ

สตรองจิลอยดิอาซิส/โรคพยาธิสตรองจิลอยด์/โรคสตรองจิลอยด์ พบทั่วโลก รายงานจาก70 ประเทศทั่วโลก พบประมาณ 100-200ล้านคน โดยเฉพาะในถิ่น/ประเทศดังได้กล่าวแล้ว

สตรองจิลอยดิอาซิส/โรคพยาธิสตรองจิลอยด์/โรคสตรองจิลอยด์ พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบในเด็กและในวัยทำงานสูงกว่าวัยอื่น อาจเพราะมีโอกาสสัมผัสพยาธิที่อยู่ในดินได้สูงกว่าวัยอื่น และพบในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิงซึ่งอาจเพราะเพศชายมีโอกาสสัมผัสพยาธิในดินสูงกว่าในเพศหญิงเช่นกัน

โรคสตรองจิลอยดิอาซิสเกิดได้อย่างไร?

พยาธิสตรองจิลอยด์

โรคสตรองจิลอยดิอาซิ/โรคพยาธิสตรองจิลอยด์/โรคสตรองจิลอยด์ เกิดจากเมื่อคนย่ำดินที่เป็นแหล่งรังโรคของพยาธินี้ ตัวอ่อนระยะ ติดต่อ Filariform ในดินจะไชเข้าผิวหนังที่เท้า โดยไชเข้าผิวหนัง และเยื่อเมือก (เช่น ช่องปาก, ตา) ได้ทุกส่วนที่สัมผัสพยาธิซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นที่’เท้า’ถึงแม้จะไม่มีบาดแผลที่ผิวหนังก็ตาม และเมื่อไชเข้าผิวหนังจะเข้าสู่ร่างกาย ตัวอ่อนนี้จะเข้าสู่กระแสน้ำเหลือง(ระบบน้ำเหลือง) เข้าสู่กระแสเลือด และเข้าสู่ปอดโดยเข้าไปอยู่ในถุงลม

จากถุงลม ตัวอ่อนพยาธิจะเคลื่อนผ่านหรือถูกขย้อนผ่านเข้าคอหอย จึงถูกกลืนเข้าสู่กระเพาะอาหารและลำไส้ โดยในลำไส้เล็กพยาธิตัวอ่อนจะเจริญเป็นตัวแก่ตัวเมียและตัวผู้ ซึ่งเมื่อผสมพันธุ์กัน ตัวเมียจะออกไข่ และไข่จะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะ Rhabditiform ที่จะปนออกมากับอุจจาระ ลงสู่ดินและเจริญในดินเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ Filariform ซึ่งเมื่อคนย่ำดิน ตัวอ่อนระยะติดต่อนี้ก็จะไชเข้าเท้า วนเวียนเป็นวงจรชีวิตของพยาธินี้ (เรียกวงจรนี้ว่า ‘Parasitic cycle, วงจรชีวิตแบบปรสิต’) และก่อให้เกิดการติดเชื้อในคนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้พยาธิตัวผู้ตัวแก่จะตายหลังผสมพันธุ์และซากจะปนมาในอุจจาระ ส่วนตัวแก่ตัวเมียจะออกไข่อยู่ได้อีกนาน 2 - 3 เดือน แต่มีรายงานนานได้ถึง 5 ปี

อนึ่งระยะเวลานับจากพยาธิตัวอ่อน Filariform ไชเข้าเท้าไปจนถึงตรวจพบพยาธิตัวอ่อน Rhabditiform ในอุจจาระใช้เวลาประมาณ 3 - 4 สัปดาห์

นอกจากวงจรชีวิตแบบปรสิตดังกล่าวแล้ว พยาธิสตรองจิลอยดิสยังมีวงจรชีวิตได้อีกแบบที่เกิดวนเวียนอยู่ในดินเรียกว่า ‘Free - living cycle (วงจรชีวิตอิสระ)’ คือ พยาธิตัวอ่อน Rhabditiform ที่ปนในอุจจาระในดิน นอกจากเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ Filariform แล้วยังเจริญเป็นตัวแก่ตัวเมียและตัวผู้ได้ด้วย ซึ่งจะผสมพันธุ์กันและออกไข่ เจริญเป็นตัวอ่อน Rhabditiform และตัวอ่อนระยะติดต่อ Filariform ตามลำดับ ซึ่งตัวอ่อนระยะติดต่อนี้จะไชเข้าเท้าคน เกิดเป็น’วงจรชีวิตแบบปรสิต’ได้ หรือเจริญไปเป็นตัวแก่เป็น’วงจรชีวิตแบบอิสระ’ก็ได้ ซึ่งวงจรชีวิตแบบอิสระและวงจรชีวิตแบบปรสิตจะเกิดคู่กันไป

นอกจากวงจรชีวิตของพยาธิสตรองจิลอยดิสทั้ง 2 แบบแล้ว พยาธินี้ยังสามารถเจริญเติบ โตในคนหรือมีวงจรชีวิตในคนได้อีกแบบเรียกว่า “Autoinfection” กล่าวคือ พยาธิตัวอ่อน Rhabditiform ในคนเมื่อเคลื่อนมาอยู่ในลำไส้ใหญ่จะสามารถเจริญเป็นพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อ Filari form ได้ ซึ่งพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อนี้จะไชเข้าผนังลำไส้และเข้าผิวหนังรอบๆปากทวารหนักเข้าสู่กระแสน้ำเหลือง และกระแสเลือด เข้าสู่ปอด เคลื่อนออกมาอยู่ที่คอหอย ถูกกลืนและไปเจริญเป็นตัวแก่ วนเวียนได้เป็นอีกแบบของวงจรชีวิต ซึ่งวงชีวิตแบบ Autoinfection นี้จะทำให้มีพยาธิสตรองจิลอยดิสอยู่ในคนได้นานตลอดชีวิตของคนๆนั้นถ้าไม่มีการรักษา

อนึ่ง โรคสตรองจิลอยดิอาซิส/โรคพยาธิสตรองจิลอยด์/โรคสตรองจิลอยด์ ไม่ใช่โรคติดต่อจากคนสู่คนหรือสัตว์สู่คน ไม่ติดต่อจากการสัมผัส คลุกคลี หายใจ ไอ จาม หรือกินอาหารร่วมกัน แต่คนติดโรคจากตัวอ่อนระยะติดต่อไชเข้าผิวหนังและ/หรือเนื้อเยื่อเมือก และจากการติดเชื้อแบบ Autoinfection

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคสตรองจิลอยดิอาซิส?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคสตรองจิลอยดิอาซิส/โรคพยาธิสตรองจิลอยด์/โรคสตรองจิลอยด์ ได้แก่

  • ย่ำดินด้วยเท้าเปล่า
  • สัมผัสกับอุจจาระคนเสมอบ่อยๆ เช่น เกษตรกรที่ใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย แหล่งอยู่อาศัยที่แออัด ค่ายอพยพ ค่ายทหาร
  • อาศัยในแหล่งขาดสาธารณสุขพื้นฐานโดยเฉพาะในเรื่องส้วมและการกำจัดอุจจาระ
  • ผู้ท่องเที่ยวเดินทางในแหล่งที่โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นซึ่งมักเป็นประเทศที่ยังไม่พัฒนา หรือกำลังพัฒนา
  • ผู้ติดเชื้อไวรัส HTLV 1 (Human T-cell Lymphotropic virus 1) ที่เป็นสาเหตุของโรค มะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งในคนกลุ่มนี้ ถ้าติดพยาธินี้อาการจะรุนแรงมากจนอาจถึงตายได้ ถึงแม้จะได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มมีอาการ

โรคสตรองจิลอยดิอาซิสมีอาการอย่างไร?

ในคนทั่วไปที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ การติดพยาธิสตรองจิลอยดิสมักไม่ก่ออาการ ยกเว้นเมื่อติดพยาธิจำนวนมาก, หรือร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ต่ำกว่าปกติ, ทั้งนี้ยังไม่ทราบถึงระยะฟักตัวที่แน่นอนของโรคนี้

เมื่อโรคก่ออาการจะพบอาการได้ 3 แบบหลักคือ

ก. อาการจากการติดพยาธิเฉียบพลัน (Acute Strongyloidiasis): เมื่อพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อไชเข้าสู่ผิวหนัง ตรงตำแหน่งที่พยาธิไชเข้าไปอาจมี ผื่นแดง อาจคัน และเจ็บ ต่อมาอาจมีอาการ ระคายคอ ไอ จากพยาธิเข้าสู่ปอดและคอหอย, และประมาณ 2 สัปดาห์ต่อมา ผู้ป่วยอาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร/ช่องท้องเช่น ท้องเสียเป็นน้ำ บางคนอาจท้องผูก ปวดท้องทั่วๆไปไม่เฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง, อาจคลื่นไส้, และมักเบื่ออาหาร ซึ่งอาการต่างๆมักดีขึ้นเองจากการดูแลตนเองตามอาการภายใน 3 - 4 วัน

ข. อาการจากติดพยาธิเรื้อรัง (Chronic strongyloidiasis): ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆหายๆเรื้อรังได้ตลอดระยะเวลาที่มีพยาธินี้อยู่ในร่างกาย ดังนี้เช่น

  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร: ซึ่งเป็นอาการไม่จำเพาะพบได้ในโรคทางเดินอาหารทั่วๆไป เช่น ปวดท้องมักปวดบริเวณลิ้นปี่ ท้องอืด แน่นท้องหลังกินอาหาร อาการแสบร้อนกลางอก ท้องเสีย (มักท้องเสียเป็นน้ำ)สลับท้องผูก ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีอุจจาระเป็นเลือดได้
  • อาการทางผิวหนัง: จะมีอาการลมพิษที่เป็นๆหายๆ และมีการขึ้นผื่นที่มีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า “Larva currens” คือ ผื่นเป็นทาง/เส้นยาว สีออกแดง คัน เจ็บ มักเริ่มมาจากบริเวณรอบปากทวารหนักหรือฝีเย็บ แล้วลามมาหน้าขาหรือลามขึ้นลำตัวและหน้าอก ผื่นอาจมี 1 - 3 เส้นซึ่งเกิดจากทางเดินของตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อที่ไชจากปากทวารหนักในวงจรชีวิตแบบ ‘Autoinfection’ ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ โรคเกิดได้อย่างไร’

อนึ่ง อาการทั้งในข้อ ก และ ข จะเป็นอาการไม่รุนแรง อาการหายได้เองด้วยการดูแลตน เองในระยะเวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์

ค. Hyperinfection syndrome and disseminated strongyloidiasis: เป็นอาการจากการติดพยาธิสตรองจิลอยดิสที่รุนแรง มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงร่วมด้วย เป็นอาการที่มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาโอกาสตายสูงได้ถึงประมาณ 90% แต่ถ้าได้รับการรักษา โอกาสตายจะลดลงกว่าไม่มีการรักษา แต่ก็ยังจัดว่าสูง โดยจะขึ้นกับการตอบสนองต่อยาที่รักษา, รวมไปถึงสภาพร่างกายผู้ป่วย, และโรคที่เป็นเหตุให้ภูมิคุ้มกันฯต่ำด้วย

Hyperinfection syndrome จะเกิดจากมีพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อจำนวนมากที่พบเฉพาะในปอดและในลำไส้ จึงก่ออาการที่ปอดและที่ลำไส้อย่างรุนแรง เป็นอาการที่มักพบในคนที่ใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานานเช่น ในผู้ป่วยโรคหืด หรือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (โรคซีโอพีดี)

Disseminated strongyloidiasis เป็นอาการเกิดจากมีพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อไชกระ จายทุกอวัยวะทั่วร่างกายรวมทั้งที่สมอง เป็นอาการที่มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ในผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะ, และผู้กินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค

ทั้งนี้ อาการ Hyperinfection syndrome and disseminated strongyloidiasis ที่พบได้เช่น

  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสียเป็นน้ำ ท้องอืดมากจากลำไส้บวมและไม่บีบตัวเคลื่อนไหว (อาการคล้ายลำไส้อุดตัน) อุจจาระเป็นเลือดรุนแรง เยื่อบุช่องท้องอักเสบรุนแรง
  • อาการทางปอด: เช่น ไอรุนแรง ไอเป็นเลือด หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงผิดปกติ ปอดบวมรุนแรง และภาวะหายใจล้มเหลว
  • อาการทางสมอง: เช่น ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง แขนขาอ่อนแรง ชัก ซึม และโคม่า
  • อาการทางผิวหนัง: เกิดลมพิษรุนแรงทั่วตัว
  • อื่นๆ: ตัวบวม มีน้ำในท้อง/ท้องมาน มีไข้มักเป็นไข้สูง อ่อนเพลียมาก เบื่ออาหาร กระสับกระส่าย

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคสตรองจิลอยดิอาซิส/โรคพยาธิสตรองจิลอยด์/โรคสตรองจิลอยด์ ที่รุนแรง ได้แก่

  • ใช้ยาสเตียรอยด์นานต่อเนื่องเช่น ในโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(โรคซีโอพีดี)
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น ติดเชื้อเอชไอวี โรคเอดส์ กินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (เช่น ในผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ) ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้ยาเคมีบำบัด
  • ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส HTLV 1

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ ส่วนผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะติดพยาธิ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อขอรับการตรวจอุจจาระ ซึ่งมักต้องตรวจหลายครั้ง (มีรายงานถึง 7 ครั้ง) ถึงจะพบตัวอ่อนพยาธิสตรองจิลอยดิส

แพทย์วินิจฉัยโรคสตรองจิลอยดิอาซิสได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคสตรองจิลอยดิอาซิส/โรคพยาธิสตรองจิลอยด์/โรคสตรองจิลอยด์ ได้จาก

  • ซักถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติอาชีพ การท่องเที่ยว
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจอุจจาระ ซึ่งต้องตรวจหลายครั้งติดต่อกัน (อาจถึงประมาณ 7 ครั้ง)
  • ตรวจเลือด ซีบีซี/CBC (ดูค่าเม็ดเลือดขาว Eosinophil ที่จะขึ้นสูงมาก)
  • ตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทาน และดูสารก่อภูมิต้านทานสำหรับพยาธิชนิดนี้
  • ส่องกล้องปอดและ/หรือลำไส้เล็กเพื่อนำสารคัดหลั่งและ/หรือน้ำย่อยเพื่อการตรวจหาตัวพยาธิตัวอ่อน
  • บางครั้งอาจต้องตัดชิ้นเนื้อจากปอดและ/หรือลำไส้เล็กเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาดูตัวพยาธิตัวอ่อน

รักษาโรคสตรองจิลอยดิอาซิสได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคสตรองจิลอยดิอาซิส/โรคพยาธิสตรองจิลอยด์/โรคสตรองจิลอยด์ ได้แก่ การใช้ยาฆ่าพยาธิ, การรักษาด้วย ยาปฏิชีวนะ, การรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และการรักษาประคับประคองตามอาการ (การรักษาตามอาการ)

ก. การใช้ยาฆ่าพยาธิ (ยาถ่ายพยาธิ): ยาที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคนี้ เช่นยา Ivermectin, Albendazole, Mebendazole

ข. การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ: ใช้รักษาร่วมด้วยในผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่มักเกิดในกลุ่มอาการ Hyperinfection syndrome and disseminated strongyloidiasis ซึ่งจะใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดใด

ค. การรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุให้ภูมิคุ้มกันฯโรคต่ำ: เช่น การรักษาโรคมะเร็ง หรือ รักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี

ง. การรักษาตามอาการ: คือ การรักษาตามอาการของแต่ละผู้ป่วย เช่น ยาแก้ปวด, ยาลดไข้, ยาแก้คัน, ยาแก้แพ้, การให้ออกซิเจนกรณีมีปัญหาทางการหายใจ, การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อผู้ป่วยกิน/ดื่มได้น้อย

โรคสตรองจิลอยดิอาซิสก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบเกิดในโรคสตรองจิลอยดิอาซิส/โรคพยาธิสตรองจิลอยด์/โรคสตรองจิลอยด์ มีได้หลากหลาย เช่น

  • ภาวะทุพโภชนา
  • การอักเสบรุนแรงของทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะ เช่น
    • ลำไส้อุดตัน
    • ปอดอักเสบ /ปอดบวม
    • ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
    • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

โรคสตรองจิลอยดิอาซิสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ในคนทั่วไปที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ปกติ โรคสตรองจิลอยดิอาซิส/โรคพยาธิสตรองจิลอยด์/โรคสตรองจิลอยด์ เป็นโรคมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หายเสมอ

แต่ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ โรคสตรองจิลอยดิเอซิส/โรคพยาธิสตรองจิลอยด์/โรคสตรองจิลอยด์ จะมีการพยากรณ์โรคค่อนข้างเลว โอกาสเกิดอาการรุนแรงจนนำไปสู่การตายค่อนข้างสูง เช่น จากเยื่อบุช่องท้องอักเสบรุนแรง, ภาวะหายใจล้มเหลวจากปอดติดเชื้อรุนแรง, และสมองอักเสบรุนแรงจากสมองติดเชื้อพยาธินี้

อนึ่ง โรคนี้มีการติดโรคซ้ำได้เสมอถึงแม้จะรักษาในครั้งแรกได้หายแล้วก็ตาม จากกลับไปสัมผัสตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่ออีก

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อทราบว่าเป็นโรคสตรองจิลอยดิอาซิส/โรคพยาธิสตรองจิลอยด์/โรคสตรองจิลอยด์ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • สวมร้องเท้าและถุงมือเสมอเมื่อต้องสัมผัสกับดิน
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  • ถ่ายอุจจาระโดยใช้ส้วม และช่วยกันในชุมชนจัดให้มีสุขอนามัยเบื้องต้นโดยเฉพาะในเรื่องส้วมและการกำจัดอุจจาระ
  • ไม่นำอุจจาระมาเป็นปุ๋ย
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง
  • เกิดมีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
  • อาการที่เคยรักษาหายแล้วกลับมามีอาการอีก เช่น อุจจาระเป็นเลือด
  • มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียรุนแรง
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคสตรองจิลอยดิอาซิสได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่ใช้ป้องกันโรคสตรองจิลอยดิอาซิส/โรคพยาธิสตรองจิลอยด์/โรคสตรองจิลอยด์ *แต่มีวิธีป้องกันโรคนี้ที่มีประสิทธิภาพ คือ ‘*การสวมร้องเท้าและถุงมือเมื่อต้องสัมผัสดิน*’ นอกจากนั้นคือ

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  • ถ่ายอุจจาระโดยใช้ส้วมเสมอ และช่วยกันในชุมชนจัดให้มีการสุขอนามัยเบื้องต้นโดย เฉพาะในเรื่องส้วมและการกำจัดอุจจาระ
  • ไม่นำอุจจาระมาเป็นปุ๋ย
  • รณรงค์ให้ชุมชนเข้าใจถึงวิธีติดต่อของโรคและกลไกวงจรชีวิตของพยาธินี้เพื่อช่วยกันตัดวงจรชีวิตของพยาธินี้

บรรณานุกรม

  1. Ponganant Nontasut. et al. (2005). Southeast Asian J Trop Med Public Health. 36, 442-444
  2. Ubonvan Jongwutiwes et al. (2014). Pathogens and Global Health. 108, 137-140. [Abstract]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/229312-overview#showall [2021,June12]
  4. https://www.cdc.gov/parasites/strongyloides/ [2021,June12]
  5. https://www.cdc.gov/parasites/strongyloides/health_professionals/ [2021,June12]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Strongyloides_stercoralis [2021,June12]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Strongyloidiasis [2021,June12]
  8. http://parasite.org.au/para-site/text/strongyloides-text.html [2021,June12]
  9. https://www.cdc.gov/parasites/strongyloides/biology.html [2021,June12]