พยาธิวิทยา (Pathology)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 27 ตุลาคม 2557
- Tweet
- การตรวจทางพยาธิวิทยา
- การตรวจทางเซลล์วิทยา
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจทางห้องแลบ (Laboratory investigation)
พยาธิวิทยา เป็นการแพทย์แขนงวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด เป็นการแพทย์ที่เกี่ยว ข้องกับการเกิดโรคต่างๆ การพยากรณ์โรค การวินิจฉัยโรค ที่ให้การวินิจฉัยได้ถูกต้องแม่นยำที่ สุด (Final diagnosis) โดยเป็นการตรวจวินิจฉัยโรคทั้งใน
- ระดับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- ระดับโมเลกุล
- ระดับเซลล์ (การตรวจทางเซลล์วิทยา)
- ระดับเนื้อเยื่อจากการตัดชิ้นเนื้อ (การตรวจทางพยาธิวิทยา หรือการตรวจเซลล์ของเนื้อเยื่อ/Histology/Histopathology)
- และการตรวจอวัยวะต่างๆทั่วทั้งร่างกายเมื่อเสียชีวิตแล้ว (การตรวจศพ/Autopsy)
ทั้งนี้แพทย์ทุกคนจะต้องผ่านการเรียนการสอนด้านพยาธิวิทยาก่อนที่จะได้ปฏิบัติงานจริงกับผู้ป่วย เพื่อให้เข้าใจในการเกิดอาการและในอาการแสดงต่างๆของผู้ป่วย ให้เข้าใจพยาธิสภาพของโรค การดำเนินโรค/ธรรมชาติของโรค จนถึงความเข้าใจถึงขั้นตอนและการเลือกวิธีรักษา
การแพทย์ด้านพยาธิวิทยา เรียกในภาพรวมว่า General pathology ซึ่งแบ่งเป็นสาขาวิชาย่อยมากมายตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค แต่โดยทั่วไป
- เมื่อเป็นการแพทย์ทางด้านอวัยวะต่างๆของร่างกายเรียกว่า “กายวิภาคพยาธิวิทยา (Anatomical pathology)”
- และเมื่อเป็นการแพทย์ทางด้านห้องปฏิบัติการจะเรียกว่า “พยาธิวิทยาคลินิก (Clinical pathology)”
แพทย์ที่ทำงานด้านพยาธิวิทยาเรียกว่า “พยาธิแพทย์” เป็นแพทย์ที่ไม่ได้ตรวจผู้ป่วย แต่มีหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยวิธีการทางห้องปฏิบัติการ ทางเซลล์วิทยา ทางพยาธิวิทยา และการตรวจศพ เป็นต้น นอกจากนั้นยังต้องให้คำปรึกษาในด้านการวินิจฉัยโรคแก่แพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยเสมอ
พยาธิแพทย์เป็นสาขาแพทย์ที่ขาดแคลนมากที่สุดพอๆกับการขาดแคลนแพทย์สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา เนื่องจากเป็นสาขาวิชาที่แพทย์ประจำบ้านไม่นิยมเรียน
บรรณานุกรม
1. Pathology as medical specialty http://en.wikipedia.org/wiki/Pathology_as_a_medical_specialty [2014,Sept17]
2. Pathology http://www.news-medical.net/health/Pathology-What-is-Pathology.aspx [2014,Sept27]