พยาธิตืดหมูกระดึ้บในลำไส้ (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

พยาธิตืดหมูกระดึ้บในลำไส้-2

      

ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อพยาธิตืดหมูจะไม่แสดงอาการหรือมีอาการอย่างอ่อนๆ โดยอาการมักเกิดขึ้นประมาณ 8 สัปดาห์หลังการกินอาหารที่มีพยาธิปนเปื้อน ซึ่งอาการที่พบ ได้แก่

- ปวดท้อง

- คลื่นไส้

- ท้องเสีย

- ท้องผูก

- เบื่ออาหาร

- น้ำหนักลด

- บางรายอาจพบก้อนนูนใต้ผิวหนัง

อาการอาจจะคงอยู่จนกว่าตัวพยาธิจะตาย ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 2-3 ปี

กรณีที่เป็นโรคถุงพยาธิตืดหมู หรือ โรคจากไข่พยาธิตัวตืด (Cysticercosis) ที่เกิดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีไข่ของพยาธิตัวตืด Taenia solium ปนเปื้อนอยู่ จะก่อให้เกิดผลต่อระบบประสาท โดยอาการจะแตกต่างกันไปตามจำนวน ขนาด และระยะของไข่พยาธิ รวมถึงบริเวณอวัยวะที่ติดเชื้อ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจได้แก่

- ปวดศีรษะเรื้อรัง

- ตาบอด

- ชัก

- ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus)

- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)

- สมองเสื่อม (Dementia)

สำหรับการวินิจฉัยโรคทำได้ด้วยการตรวจอุจจาระ ซึ่งต้องเก็บตัวอย่างส่งตรวจ 3 วัน ส่วนไข่พยาธิอาจใช้เวลา 2-3 เดือนหลังการติดเชื้อจึงจะตรวจพบได้ นอกจากนี้ อาจใช้การซีทีสแกนหรือเอ็มอาร์ไอ

การรักษาพยาธิตืดหมูเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อป้องกันโรคพยาธิตัวตืดขึ้นสมอง (Neurocysticercosis) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น โดยในการรักษาแพทย์อาจให้ยา

- Praziquantel

- Niclosamide

- Albendazole

กรณีรักษาโรคพยาธิตัวตืดขึ้นสมองอาจต้องอาศัยยาสเตียรอยด์ ยากันชัก หรือการผ่าตัดร่วมด้วย ส่วนการป้องกันที่สามารถทำได้คือ การกินอาหารที่ปรุงสุกและดื่มน้ำที่สะอาด

แหล่งข้อมูล:

  1. Parasites - Taeniasis. https://www.cdc.gov/parasites/taeniasis/index.html [2020, Jul 27].
  2. Taeniasis/cysticercosis fact sheet. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/taeniasis-cysticercosis [2020, Jul 27].