ฝนตก น้ำท่วม ไฟดูด (ตอนที่ 1)

ฝนตก_น้ำท่วม_ไฟดูด-1

      

      นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เตือนประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย ให้มีการดูแลตนเองป้องกันอันตรายการเจ็บป่วยจากโรคและภัยสุขภาพที่มาพร้อมกับเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งได้แก่ โรคจากสัตว์และแมลงมีพิษกัดต่อย เสียชีวิตจากจมน้ำ ไฟฟ้าซ็อต ไฟฟ้าดูด ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างฉับพลันได้

      ซึ่งจากข้อมูลการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 4 กันยายน 2562 จากกรณีอุทกภัยพบว่ามีรายงานผู้เสียชีวิตจากถูกไฟฟ้าดูด จำนวน 1 ราย

      ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้ตระหนักถึงอันตรายต่าง ๆ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังอันตรายจากโรคและภัยสุขภาพดังกล่าว โดยเฉพาะอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูด ดังนี้

      1. ก่อนน้ำท่วมถึงบริเวณอาคาร บ้านพักอาศัย ควรขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูง หรือที่ปลอดภัยน้ำท่วมไม่ถึง สำรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ทำการตัดไฟโดยปลดสวิทช์ตัดกระแสไฟฟ้าหลักที่จะเข้าตัวบ้านทันที

      2. กรณีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และมีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบ้านให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบริเวณชั้นบนของบ้าน โดยประสานให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือช่างไฟฟ้าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้ามาช่วยตัดสวิทช์

      3. หากเป็นบ้านชั้นเดียว ให้งดใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยเด็ดขาด รวมถึงห้ามเปิดปิดสวิทช์ไฟด้านในและด้านนอกอาคารที่อยู่อาศัย ห้ามแตะสวิทช์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเสียบปลั๊ก รวมทั้งการใช้เครื่องสูบน้ำชนิดที่แช่ในน้ำ หากใช้ไม่ถูกวิธีอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วขณะใช้งานและถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะตัวเปียก หรือยืนแช่น้ำ แม้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นอาจอยู่เหนือระดับน้ำก็ตาม

      4. ระมัดระวังดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณเสาไฟ รั้วโลหะ ประตูเหล็ก ขอบหน้าต่างเพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วอยู่

      ทั้งนี้ หากพบผู้ถูกไฟฟ้าดูด นายแพทย์ธีรวัฒน์ได้แนะนำถึงการช่วยเหลือเบื้องต้น ดังนี้

      1. อย่าใช้มือเปล่าแตะต้องตัวผู้ที่ติดอยู่กับกระแสไฟฟ้า หรือตัวนำที่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายเด็ดขาด เพื่อป้องกันมิให้ถูกกระแสไฟฟ้าดูด จนได้รับอันตรายไปด้วย

      2. ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ผ้า ไม้แห้ง เชือกแห้ง สายยาง หรือพลาสติกแห้ง ถุงมือยาง หรือผ้าแห้งพันมือให้หนา แล้วผลัก หรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว หรือใช้ผ้าคล้อง หรือให้ผู้มีความรู้ด้านไฟฟ้าปลดสวิทช์ จากนั้นปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน โทร.1669

      

แหล่งข้อมูล:

  1. สคร.7 เตือนประชาชน ระมัดระวังไฟฟ้าดูด โดยเฉพาะพื้นที่มีน้ำท่วม. http://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG190906085257695 [2019, September 20].
  2. .