ผีอำ (Sleep paralysis) - Update
- โดย ภวรัญชน์ วีระวุฒิพล
- 8 มีนาคม 2568
- Tweet
สารบัญ
เกริ่นนำ
- อาการและสัญญาณของผีอำ
- พยาธิสรีรวิทยา
- ภาพหลอน
- ภาวะระแวดระวังภัยขั้นสูง
- การวินิจฉัย
- การวินิจฉัยแยกโรค
- การป้องกัน
- การรักษา
- การใช้ยา
- การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม
- ระบาดวิทยา
เกริ่นนำ
ผีอำ (Sleep paralysis) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นขณะกำลังจะตื่นนอนหรือกำลังจะหลับ ซึ่งผู้มีอาการจะยังมีสติแต่ไม่สามารถขยับร่างกายได้แม้แต่น้อย ในระหว่างเกิดอาการ อาจมีอาการประสาทหลอน (ได้ยิน, รู้สึก, หรือมองเห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง) ซึ่งมักก่อให้เกิดความหวาดกลัว โดยทั่วไปอาการผีอำจะเกิดขึ้นเป็นเวลาสั้น ๆ ไม่กี่นาที โดยอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือเกิดซ้ำหลายครั้งก็ได้
ผีอำสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ที่มีสุขภาพปกติหรือผู้ที่เป็นโรคลมหลับ (Narcolepsy) และอาจถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมจากการเปลี่ยนแปลงของยีนบางชนิด นอกจากนี้ อาการผีอำมักถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ โดยที่พบบ่อย ได้แก่ การอดนอน ความเครียดทางจิตใจ และวงจรการนอนที่ผิดปกติ เราเชื่อว่ากลไกที่อยู่เบื้องหลังอาการผีอำเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการนอนหลับในช่วงหลับฝัน REM (= Rapid eye movement) วินิจฉัยจากคำบรรยายอาการของผู้ป่วย ภาวะอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกับผีอำ ได้แก่ โรคลมหลับ (Narcolepsy), อาการชักแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Atonic seizure) และภาวะอัมพาตเป็นระยะจากโพแทสเซียมในเลือดต่ำเกิน (Hypokalemic periodic paralysis)
ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับวิธีรักษาภาวะผีอำมากนัก โดยทั่วไปจะแนะนำให้ผู้ที่มีอาการทราบว่าภาวะนี้เป็นเรื่องปกติและไม่อันตรายร้ายแรง อย่างไรก็ตามยังมีแนวทางอื่น ๆ ที่สามารถช่วยป้องกันภาวะผีอำได้ เช่น การดูแลสุขอนามัยการนอน การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy) และการรับยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants)
ประชากรร้อยละ 8 ถึง 50 เคยมีอาการผีอำอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต และราวร้อยละ 5 มีอาการเกิดขึ้นเป็นประจำ ภาวะนี้พบได้เท่า ๆ กันทั้งในเพศชายและเพศหญิง
อาการและสัญญาณของผีอำ
อาการหลักของผีอำคือการไม่สามารถขยับร่างกายหรือพูดได้ขณะกำลังจะตื่น
ระหว่างเกิดอาการ บางคนอาจได้ยินเสียงในจินตนาการ เช่น เสียงฮัม เสียงดังฟ่อ เสียงซ่า เสียงช็อตไฟฟ้า หรือเสียงหึ่ง ๆ นอกจากนี้เคยมีรายงานว่าผู้มีอาการผีอำได้ยินเสียงพูดคุย เสียงกระซิบ หรือเสียงคำรามอีกด้วย ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกเหมือนถูกกดทับที่หน้าอกหรือปวดศีรษะมาก ๆ โดยบ่อยครั้งอาการเหล่านี้จะมาพร้อมอารมณ์รุนแรง เช่น รู้สึกกลัวและตื่นตระหนก บางคนอาจรู้สึกเหมือนถูกลากลงจากเตียง รู้สึกเหมือนกำลังลอย มีอาการชาหรือรู้สึกเหมือนไฟฟ้าช็อตหรือสั่นไปทั่วร่างกาย
ผีอำอาจเกิดพร้อมกับภาพหลอน เช่น รู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในห้อง เห็นเงาดำที่มักถูกเรียกว่า "ปีศาจผีอำ” (Sleep paralysis demons) หรือเกิดพร้อมความรู้สึกหวาดกลัว หายใจไม่ออกหรือมีแรงกดทับที่หน้าอก ทำให้หายใจลำบาก
พยาธิสรีรวิทยา
มีทฤษฎีเกี่ยวกับพยาธิสรีรวิทยาของอาการผีอำมากมาย แต่ปัจจุบันเรายังไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิดได้แน่ชัด ทฤษฎีหนึ่งมาจากความเข้าใจที่ว่าอาการผีอำคือภาวะผิดปกติขณะนอนหลับ (Parasomnia) รูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นความผิดปกติของการทับซ้อนกันระหว่างช่วงนอนหลับฝัน REM และช่วงกำลังจะตื่นนอน การศึกษาด้วยการตรวจการนอนหลับ (Polysomnographic) พบว่า ผู้ที่มีอาการผีอำมักมีระยะเวลาเข้าสู่ช่วงหลับฝัน REM สั้นกว่าคนทั่วไป รวมถึงมีวงจรของการนอนหลับช่วงหลับธรรมดา NREM (= Non-REM) และหลับฝัน REM กระชั้น นอกจากนี้การนอนหลับแบบหลับฝัน REM ก็ไม่ต่อเนื่อง การศึกษานี้ช่วยสนับสนุนข้อสังเกตที่ว่าสิ่งที่รบกวนการนอนทั่ว ๆ ไปเองก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการผีอำได้ เนื่องจากการนอนหลับแบบหลับฝันที่ไม่ต่อเนื่องมักเกิดขึ้นเมื่อเราถูกรบกวนการนอน และมักเกิดขึ้นพร้อมกับอาการผีอำนั่นเอง
อีกทฤษฎีหนึ่งคือ ความไม่สมดุลของการทำงานส่วนระบบประสาทที่ควบคุมการนอนหลับทำให้สถานะของการนอนหลับทับซ้อนกัน ในกรณีนี้ พบว่ากลุ่มเซลล์ประสาทที่ควบคุมการนอนหลับ (Cholinergic sleep "on") จะถูกกระตุ้นมากเกินไป ในขณะที่กลุ่มเซลล์ประสาทที่ควบคุมการตื่น (Serotonergic sleep "off") ถูกกระตุ้นน้อยเกินไป ส่งผลให้เซลล์ที่สามารถส่งสัญญาณเพื่อปลุกให้ตื่นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งก็คือกลุ่มเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับเซโรโทเนอร์จิก (Serotonergic neural populations) ไม่สามารถเอาชนะสัญญาณจากกลุ่มเซลล์ที่คงสมองให้อยู่ในสภาวะหลับได้
หากผลของกลุ่มเซลล์ประสาทที่ควบคุมการนอนหลับ ไม่ถูกยับยั้ง ลักษณะของการนอนช่วงหลับฝัน REM จะยังคงอยู่แม้บุคคลกำลังจะตื่นขึ้นมาแล้ว ผลกระทบทั่วไปของอาการผีอำ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาการหวาดระแวง แต่อัมพาตในช่วงผีอำไม่ได้เกิดโดยสมบูรณ์ จากการศึกษาโดยการใช้วิธีการวัดการตอบสนองทางไฟฟ้าของเซลล์ต่าง ๆ ในจอตา EOG (= Electrooculography) พบว่าการเคลื่อนไหวของดวงตายังคงเกิดขึ้นได้ในช่วงที่เกิดอาการผีอำ อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ประสบกับอาการผีอำจะไม่สามารถพูดได้อยู่ดี
มีงานวิจัยพบว่า อาการผีอำมีองค์ประกอบเกี่ยวเนื่องทางพันธุกรรม การไม่ต่อเนื่องของช่วงหลับฝัน การเกิดภาพหลอนขณะตื่น (Hypnopompic hallucinations) และภาพหลอนขณะกำลังหลับ (Hypnagogic hallucinations) มีองค์ประกอบที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ไม่ต่างกับพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติชนิดอื่น ๆ การศึกษาในกลุ่มฝาแฝดพบว่า หากคนใดคนหนึ่งในคู่แฝดแท้มีอาการผีอำ ฝาแฝดอีกคนก็มีแนวโน้มสูงที่จะมีอาการนี้ด้วย
- ภาพหลอน
อาการหลอนหลายประเภทมีความเชื่อมโยงกับอาการผีอำ ได้แก่ การเชื่อว่ามีผู้บุกรุกอยู่ในห้อง ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งอยู่ใกล้ตัว และความรู้สึกเหมือนตัวลอย ภาพหลอนที่พบได้บ่อยอย่างหนึ่งคือความรู้สึกว่ามีปิศาจอินคิวบัส (Incubus) อยู่ใกล้ ๆ ตามสมมติฐานทางประสาทวิทยา อาการผีอำอาจเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นคลื่นสมองแบบไมโอโคลนิก (Myoclonic spike) ไปชั่วขณะในซีรีเบลลัม (Cerebellum) ซึ่งปกติจะทำหน้าที่ประสานการเคลื่อนไหวของร่างกายและให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งของร่างกาย ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกำลังตัวลอยเมื่อเกิดอาการดังกล่าว
- ภาวะระแวดระวังภัยขั้นสูง
ภาวะระแวดระวังภัยขั้นสูง (Hyper-vigilance) ที่เกิดขึ้นในสมองส่วนกลางอาจมีส่วนเสริมให้เกิดภาพหลอนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลไกตอบสนองฉุกเฉินในสมองถูกกระตุ้นเมื่อบุคคลตื่นขึ้นมาในสภาพที่เป็นอัมพาตและง่ายต่อการถูกโจมตี ความรู้สึกหมดทางสู้อาจส่งผลเพิ่มความรุนแรงของการตอบสนองต่อภัยคุกคามให้สูงกว่าระดับที่พบในความฝันปกติ ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าเหตุใดภาพหลอนในระหว่างเกิดผีอำถึงได้มีความสมจริงอย่างมาก ระบบเฝ้าระวังภัยคุกคาม (Threat-activated vigilance system) นี้เองเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ต่างกลไกป้องกันโดยแยกแยะระหว่างสถานการณ์ที่เป็นอันตรายและพิจารณาว่าการตอบสนองด้วยความกลัวนั้นเหมาะสมหรือเปล่า
ในทางประสาทวิทยาเสนอว่าภาพหลอนเกิดจากการทำงานร่วมกันของระบบเฝ้าระวังภัยคุกคามและภาวะกล้ามเนื้ออัมพาตที่เกี่ยวข้องกับอาการผีอำ ซึ่งทำให้บุคคลสูญเสียการควบคุมการหายใจ นอกจากนี้ ลักษณะบางประการของรูปแบบการหายใจในช่วงหลับฝัน REM ยังทำให้ความรู้สึกหายใจไม่ออกทวีความรุนแรงขึ้น เช่น การหายใจตื้นและเร็ว ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูง (Hypercapnia) และการอุดกั้นทางเดินหายใจเล็กน้อย ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
จากแนวคิดนี้ บุคคลที่ประสบกับอาการผีอำจะพยายามหายใจเข้าให้ลึกขึ้นแต่ไม่สามารถทำได้ ซึ่งสร้างความรู้สึกของแรงต้าน ระบบเฝ้าระวังภัยคุกคามจึงตีความสิ่งนี้ว่ามีสิ่งเหนือธรรมชาติกำลังนั่งทับหน้าอกและพยายามทำให้ตัวเราหายใจไม่ออก ความรู้สึกดังกล่าวอาจทำให้เกิดวงจรป้อนกลับ (Feedback loop) โดยที่ความกลัวการขาดอากาศหายใจทวีความรุนแรงขึ้น ยิ่งทำให้เราพยายามดิ้นรนเพื่อหยุดอาการผีอำ
การวินิจฉัย
โดยมากอาการผีอำสามารถวินิจฉัยได้ผ่านการพูดคุยและการตัดความเป็นไปได้ของโรคการนอนหลับอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของความรู้สึกเหมือนเป็นอัมพาตออก มีวิธีวินิจฉัยหลายวิธีที่ช่วยแยกแยะและคัดกรองภาวะผีอำที่เกิดขึ้นซ้ำได้
อาการผีอำสามารถเกิดขึ้นร่วมกับภาวะอื่น ๆ เช่น โรคลมหลับ (Narcolepsy) หรือ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) อย่างไรก็ตาม หากอาการผีอำเกิดขึ้นโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะเหล่านี้หรือการใช้สารกระตุ้น เราจะเรียกภาวะนี้ว่า "อาการผีอำแบบแยกเดี่ยว" (Isolated sleep paralysis: ISP) และหากอาการเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายหรือรบกวนการใช้ชีวิต จะจัดเป็น "อาการผีอำแบบแยกเดี่ยวที่เกิดซ้ำซ้อน" (Recurrent isolated sleep paralysis: RISP) โดยทั่วไป อาการผีอำแต่ละครั้งจะกินเวลาประมาณ 1–6 นาที แม้ว่าจะมีบางกรณีที่อาจเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานกว่านั้นได้
การแยกระหว่างภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน (Cataplexy) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคลมหลับ กับอาการผีอำอาจมิใช่เรื่องง่าย เนื่องจากทั้งสองภาวะมีลักษณะทางกายภาพที่คล้ายคลึงกัน วิธีที่ดีที่สุดในการแยกความแตกต่างคือการสังเกตเวลาที่เกิดอาการ กล่าวคือ อาการของโรคลมหลับมักเกิดขึ้นขณะเข้าสู่ภาวะหลับ ในขณะที่อาการผีอำแบบ ISP และ RISP มักเกิดขึ้นขณะตื่นจากการหลับ
- การวินิจฉัยแยกโรค
ภาวะที่มีอาการคล้ายคลึงอาการผีอำ ได้แก่
- อาการหัวระเบิด หรืออาการได้ยินเสียงดังลั่นขณะกำลังจะผล็อยหลับ (Exploding head syndrome: EHS) เป็นภาวะที่อาจทำให้รู้สึกหวาดกลัว แต่ภาพหลอนมักจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ และมักมีเสียงดังหรือกระแทก ไม่มีอาการอัมพาตเกิดขึ้นในภาวะนี้
- ฝันร้าย (Nightmare disorder: ND) เป็นภาวะผิดปกติของการนอนหลับที่เกิดขึ้นในระยะหลับฝัน REM
- ฝันผวา (Sleep terrors: STs) ภาวะผิดปกติของการนอนหลับที่อาจน่ากลัว แต่ไม่ได้เกิดในระยะหลับฝัน REM ผู้มีอาการมักขาดการรับรู้สิ่งรอบข้าง ลักษณะเฉพาะของ STs คืออาการกรีดร้อง
- อาการตื่นตระหนกในยามค่ำคืน (Nocturnal panic attacks: NPAs) เกี่ยวข้องกับความกลัวและความทุกข์เฉียบพลัน แต่ไม่มีอาการอัมพาตและไม่มีภาพในความฝัน
- ภาวะเครียดหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-traumatic stress disorder: PTSD) มักเกิดภาพหลอนที่น่ากลัวพร้อมกับความรู้สึกวิตกกังวล อย่างไรก็ตาม อาการไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงการเปลี่ยนผ่านระหว่างการนอนและการตื่นเท่านั้น
การป้องกัน
มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดอาการผีอำ ได้แก่ การนอนไม่หลับ การนอนไม่พอ การนอนหลับไม่เป็นเวลา ความเครียด และความเหนื่อยล้าทางร่างกาย นอกจากนี้เรายังเชื่อว่าพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการผีอำแบบแยกเดี่ยวที่เกิดซ้ำซ้อน พิจารณาจากการเกิดผีอำชนิดนี้ในฝาแฝดซึ่งมีพันธุกรรมแบบเดียวกัน อนึ่ง การนอนหงายเองก็เป็นตัวกระตุ้นสำคัญของอาการผีอำด้วย
การนอนหงายจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการผีอำ เนื่องจากเพดานอ่อน (Soft palate) จะหย่อนลงมาอุดกั้นทางเดินหายใจ นอกจากนี้เรายังอาจมีอาการตื่นตัวขณะนอนหลับ (Microarousals) ได้มากขึ้นขณะนอนหงาย เนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่กดทับลงมายังปอด
แม้จะมีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดผีอำ แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย
การรักษา
การรักษาทางการแพทย์เริ่มต้นด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับระยะการนอนและการไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อในระยะหลับฝัน หากอาการยังเกิดต่อเนื่อง บุคคลควรเข้ารับการวินิจฉัยโรคลมหลับ การรักษาที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับอาการผีอำคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนให้ดีขึ้น ในกรณีที่อาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจใช้ยาต้านซึมเศร้าประเภทไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants) หรือยากลุ่มสารยับยั้งการดูดกลับเซโรโทนิน (Selective serotonin reuptake inhibitor: SSRIs) อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการใช้ยาดังกล่าว แต่ปัจจุบันยังไม่มียาใดที่สามารถหยุดอาการผีอำได้อย่างสมบูรณ์
- การใช้ยา
ปัจจุบันยังไม่มีการทดลองยาเพื่อรักษาผีอำโดยเฉพาะเป็นกิจจะลักษณะ แต่ก็มียาหลายตัวที่ให้ผลดีในคนไข้หลายคน ตัวอย่างเช่น การทดลองใช้กรดแกมมาไฮดรอกซีบิวทีริก (Gamma-hydroxybutyric: GHB) ในผู้ป่วยโรคลมหลับสองรายช่วยลดอาการผีอำลงได้
- การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม
การบำบัดอาการผีอำในช่วงแรก ๆ จะใช้การบำบัดทางพฤติกรรมที่เรียกว่า CBT (= Cognitive behavior therapy) โดยมุ่งเน้นที่การให้ความรู้และการปรับเปลี่ยนความคิดที่มองว่าอาการผีอำเป็นเหตุการณ์ร้ายแรง ในระยะหลัง การบำบัดนี้ได้ถูกใช้ในการรักษาผีอำในประเทศอียิปต์ แม้ว่าจะยังไม่มีการทดลองทางการแพทย์ที่ยืนยันประสิทธิภาพของการบำบัดนี้ก็ตาม
การรักษาทางความคิดที่ถูกเผยแพร่ออกมาครั้งแรกสำหรับรักษาการผีอำแบบแยกเดี่ยวที่เกิดซ้ำซ้อนนั้นเริ่มต้นด้วยการให้ผู้ป่วยติดตามอาการด้วยตนเอง ให้ปรับความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเช่นความคิดที่ว่า “อาการผีอำนี้จะเกิดถาวร” และการให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะของอาการผีอำ สอนเทคนิคการป้องกันด้วยการดูแลสุขอนามัยการนอนหลับที่เฉพาะเจาะจงสำหรับอาการผีอำแบบแยกเดี่ยวที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อน และการใช้เทคนิคการผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น การหายใจทางท้อง การฝึกสติ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อแบบค่อยเป็นค่อยไป และการทำสมาธิ เป็นต้น
ระบาดวิทยา
อาการผีอำพบได้ในผู้ชายและผู้หญิงเท่า ๆ กัน อัตราการเกิดในแต่ละช่วงชีวิตที่ได้จากการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ประมาณร้อยละ 8 ของประชากรทั่วไป ร้อยละ 28 ของคนวัยเรียน และร้อยละ 32 ของผู้ป่วยทางจิตมีประสบการณ์เกิดอาการผีอำอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต อัตราการเกิดซ้ำของอาการผีอำยังไม่ทราบชัดเจนนัก แต่ประมาณร้อยละ 15–45 ของผู้ที่มีประวัติการเกิดผีอำอาจเข้าตามเกณฑ์การวินิจฉัยอาการผีอำแยกเดี่ยวที่เกิดซ้ำซ้อน (RISP) และเมื่ออิงจากการสำรวจในหลายประเทศ พบว่าผู้คนกว่าร้อยละ 20-60 เคยมีประสบการณ์ผีอำอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ประมาณ 36% ของประชากรทั่วไปที่ประสบกับผีอำแบบแยกเดี่ยวจะมีอาการนี้ในช่วงอายุ 25-44 ปี
และอาการผีอำแบบแยกเดี่ยวมักพบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมหลับ โดยประมาณร้อยละ 30–50 ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าวเคยมีอาการผีอำเป็นอาการเสริม ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เคยมีอาการผีอำจะมีอาการเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่เดือนละครั้งถึงปีละครั้ง มีเพียงร้อยละ 3 ของผู้ที่มีอาการผีอำชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับโรคกล้ามเนื้อที่ประสบกับอาการนี้ทุกค่ำคืน
อ่านตรวจทานโดย ศ. นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า
แปลและเรียบเรียงจาก https//en.wikipedia.org/wiki/Sleep_paralysis [2025, March 7] โดย ภวรัญชน์ วีระวุฒิพล