ผลบวกจริง (True positive) ผลบวกปลอม ผลบวกลวง (False positive) ผลลบจริง (True negative) ผลลบปลอม ผลลบลวง (False negative) ผลตรวจเป็นบวก(Test positive) ผลตรวจเป็นลบ (Test negative)

การวินิจฉัยโรคหรือการวินิจฉัยภาวะผิดปกติต่างๆ ด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือห้องแลป (Laboratory หรือ ย่อว่า Lab) เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การตรวจอุจจาระ การรายงานผลตรวจวิธีการหนึ่ง คือ รายงานว่า ผลตรวจเป็นบวก หรือ ผลตรวจเป็นลบ

“ผลตรวจเป็นบวก” หมายความว่า มีโอกาสเป็นโรคนั้น หรือ มีภาวะนั้นๆ แต่อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจทุกอย่างมีความผิดพลาดได้เสมอ ทั้งนี้อาจเนื่องจากลักษณะการดำเนินโรคเอง, โรค/ภาวะผิดปกติอื่นๆที่ส่งผลรบกวนการตรวจ เช่น การกินยาบางชนิด, และ/หรือความผิดพลาดทางเทคนิค (เช่น จากความผิดพลาดของเครื่องตรวจเอง หรือจากประสิทธิภาพของน้ำยาที่ใช้ตรวจ) ดังนั้นในการวินิจฉัยโรค แพทย์จะไม่ใช้ผลจากการตรวจเพียงวิธีการเดียว แต่อย่างน้อยจะใช้ 2-3 วิธีร่วมกัน โดยที่ 2 วิธีสำคัญที่สุด คือ ประวัติอาการ/ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย ส่วนวิธีที่ 3 คือ ผลจากการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม ซึ่งในโรคที่รุน แรงถ้าการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้ผลบวก แพทย์มักต้องมีหลักฐานจากประวัติทางการ แพทย์ การตรวจร่างกาย และการตรวจสืบค้นซ้ำด้วยเทคนิคที่ 2 ซึ่งเป็นวิธีที่ซับซ้อน มีค่าใช้ จ่ายสูงกว่าวิธีแรก (เป็นวิธีที่ใช้เฉพาะเพื่อการยืนยันผลตรวจครั้งแรก) ซึ่งถ้าทั้ง 3 ปัจจัยให้ผลตรงกัน การตรวจครั้งแรก เรียกว่า “ผลบวกจริง” แต่ถ้าให้ผลว่าผู้ป่วยไม่มีโรค/ไม่มีภาวะนั้นๆ เรียกผลการตรวจนั้นๆว่า “ผลบวกปลอม หรือ ผลบวกลวง” คือ”ให้ผลว่าเป็นโรค/มีภาวะนั้นๆ ทั้งที่ความเป็นจริง คือ ปกติ” ตัวอย่างเช่น ตรวจเลือดครั้งแรกดูการติดเชื้อ เอชไอวี ถ้าให้ผลบวก แพทย์ต้องดูประวัติเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย และมีการตรวจเลือดซ้ำด้วยอีกเทคนิคหนึ่ง เพื่อพิสูจน์ว่า การตรวจครั้งแรก เป็นผลบวกจริง ไม่ใช่ ผลบวกปลอม หรือ ผลบวกลวง

“ผลตรวจเป็นลบ” มีความหมายตรงข้ามกับผลตรวจเป็นบวก คือ ไม่เป็นโรค หรือไม่มีภาวะนั้นๆ ทั้งนี้เช่นเดียวกัน ในการตรวจครั้งแรก ถ้าได้ผลเป็นลบ และตรงกับประวัติทางการ แพทย์และการตรวจร่างกายว่า ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แพทย์จะสรุปได้ว่า ผลตรวจนั้นเป็น “ผลลบจริง” แต่ถ้าจากประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกาย ผู้นั้นอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ผลตรวจนั้น อาจผิดได้ คือ แท้จริงมีโรค/มีภาวะผิดปกติแต่ผลตรวจไม่สามารถตรวจพบได้ เรียกว่า เป็น “ผลลบปลอม หรือ ผลลบลวง” คือ มีโรค/มีความผิดปกติ แต่ตรวจไม่พบ/ตรวจให้ผลว่าไม่เป็นโรค/ไม่ผิดปกติ ดังนั้นถ้าประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกายเป็นกลุ่มเสี่ยง แพทย์จะต้องตรวจซ้ำด้วยการตรวจเทคนิคเดิม หรืออีกเทคนิคที่มีความแม่นยำสูงกว่า (ถ้ามีวิธีตรวจนั้นๆ) เพื่อพิสูจน์ว่า เป็นผลลบจริง หรือ ผลลบลวง ทั้งนี้ เหตุผลที่ทำให้เกิดการตรวจผิดพลาดเป็นผลลบล่วง เช่นเดียวกับในการตรวจแล้วเกิด ผลบวกลวง นอกจากนั้น อาจเกิดจากในการตรวจขณะนั้น ร่างกายยังสร้างสารที่จะใช้วินิจฉัยโรคได้ในปริมาณน้อยจนไม่สามารถตรวจพบได้ เช่น ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (ในคนที่เพิ่งขาดประจำเดือนได้ 1-2 สัปดาห์) หรือ สารภูมิต้านทานต่างๆ (เช่น เพิ่งสัมผัสเชื้อเอชไอวีได้ประมาณ 1 สัปดาห์) ทั้งนี้ เพราะร่างกายจำเป็นต้องใช้ระ ยะเวลาในการสร้างสารเหล่านี้ ให้ได้ปริมาณมากพอที่จะตรวจพบได้ ซึ่งทั่วไปมักประมาณ 4 สัปดาห์หลังจากสัมผัสโรค หรือในการสร้างฮอร์โมนต่างๆ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น การตรวจเลือดดูการติดเชื้อ เอชไอวี ถ้าผลเป็นลบในคนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ผลลบนั้น เป็นผลลบจริง แต่ถ้าการตรวจให้ผลลบในผู้มีปัจจัยเสี่ยง แพทย์จะต้องนึกถึงว่า อาจเป็นผลลบลวงได้ ผู้นั้นจึงต้องตรวจเลือดซ้ำอีกครั้ง ประมาณ 3 เดือนนับจากวันสัมผัสเชื้อ ซึ่งจะให้ผลบวกจริง หรือ ผลลบจริงได้สูงถึง 97%

บรรณานุกรม

  1. HIV test window periods http://www.sfaf.org/hiv-info/testing/hiv-test-window-periods.html [2013,Sept 24].