ปาปาเวอรีน (Papaverine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 14 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ปาปาเวอรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ปาปาเวอรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ปาปาเวอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ปาปาเวอรีนมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ปาปาเวอรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ปาปาเวอรีนอย่างไร?
- ปาปาเวอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาปาปาเวอรีนอย่างไร?
- ปาปาเวอรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
บทนำ
ยาปาปาเวอรีน (Papaverine หรือ Papaverine hydrochloride) จัดอยู่ในกลุ่มสารแอลคา ลอยด์ (Alkaloid) ประเภทฝิ่น ใช้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบตามอวัยวะต่างๆเช่น หลอดเลือด ท่อปัสสาวะ ถุงน้ำดี ทำให้อาการปวดเกร็ง/ปวดบีบของอวัยวะต่างๆเหล่านั้น บรรเทาลง ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะเข้ายับยั้งเอนไซม์ชื่อ ฟอสโฟไดเอสเทอเรส (Phospho diesterase, เอนไซม์เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานทางชีวเคมีของร่างกาย) ทำให้ร่างกายมีระดับสารไซคลิก เอเอ็มพี/Cyclic AMP/Cyclic adenosine monophosphate, สารที่เป็นตัวส่งข้อมูล/Messenger ของการทำงานระหว่างเซลล์ต่างๆของร่างกาย) เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระตุ้นกระบวนการทางชีวะเคมีของร่างกายที่ส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อเรียบกลับมาเป็นปกติ
ยาปาปาเวอรีนมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นทั้งชนิดยารับประทาน ยาฉีด และยาเหน็บทวารหนัก เมื่อตัวยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับโปรตีนได้ประมาณ 90% ตัวยานี้จะถูกทำลายโดยตับและต้องใช้เวลาประมาณ 1.5 - 2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ
ยาปาปาเวอรีนมีข้อจำกัดการใช้อยู่บางประการที่ผู้บริโภคควรทราบไว้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
- ผู้ที่อยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น
- การใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยโรคตับ อาจได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยานี้จึงต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังกับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
ยาปาปาเวอรีนยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆเช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย เบื่ออาหาร ปวด บวม ตามร่างกาย
กรณีผู้ป่วยได้รับยาปาปาเวอรีนเกินขนาดอาจจะพบเห็นอาการวิตกกังวล ตาพร่า หายใจติดขัด/หายใจลำบาก ซึมเศร้า หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ การทรงตัวเสียไป อาจเกิดภาวะชัก ปวดศีรษะรุนแรง และมีภาวะโคม่า หากพบเห็นอาการเหล่านี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ยาปาปาเวอรีนจะต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น หากเป็นกรณียาฉีดก็จะมีการใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น หากเป็นยารับประทาน แพทย์มักจะแนะนำญาติให้เป็นผู้ควบคุมการใช้ด้วยยานี้สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการติดยาได้ สำหรับประเทศไทยจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้น้อยแล้วอาจเป็นเพราะมียาต้านการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลายขนานเพื่อใช้เป็นทางเลือกนั่นเอง
ปาปาเวอรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาปาปาเวอรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคของระบบหลอดเลือดส่วนปลาย (ส่วนแขน-ขา) ที่เกิดจากการหดเกร็งตัว
- บำบัดอาการปวดเกร็งของอวัยวะต่างๆภายในร่างกายเช่น ท่อปัสสาวะ ท่อน้ำดี รวมถึงอาการปวดเกร็งในระบบทางเดินอาหาร
ปาปาเวอรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาปาปาเวอรีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อผนังกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดรวมถึงของอวัยวะต่างๆของร่างกายส่งผลเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆเช่น หัวใจ สมอง และปอด รวมถึงลดอาการหดเกร็งตัวของอวัยวะต่างๆทำให้บรรเทาอาการปวดเกร็ง จนเป็นที่มาของสรรพคุณ
ปาปาเวอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยยาปาปาเวอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 150 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาฉีดขนาด 30 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ปาปาเวอรีนมีขนาดบริหารยาอย่างไร?
ยาปาปาเวอรีนทั้งชนิดยารับประทานและยาฉีดจะต้องบริหารการใช้ยาโดยแพทย์เท่านั้น โดยแพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาได้อย่างเหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยประเมินจากสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ดังนั้นจึงจะไม่กล่าวถึงขนาดการใช้ยาปาปาเวอรีนในบทความนี้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาปาปาเวอรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาปาปาเวอรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาปาปาเวอรีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาปาปาเวอรีนตรงเวลา และการลืมรับประทานยานี้บ่อยครั้งอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะถอนยาตามมาได้
ปาปาเวอรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาปาปาเวอรีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง อุจจาระมีสีคล้ำ เบื่ออาหาร คลื่นไส้และอาเจียน
- ผลต่อการมองเห็นภาพ: เช่น มีอาการตาพร่า มองเห็นภาพซ้อน การแยกแยะสีต่างๆทำได้ไม่ดีเหมือนเดิม
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย
- ผลต่อตับ: ทำให้มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบผื่นคัน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก หายใจช้าลง
- อื่นๆ: เช่น มีไข้
มีข้อควรระวังการใช้ปาปาเวอรีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาปาปาเวอรีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยขณะที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน
- ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการตัวเหลืองตาเหลือง/ตับอักเสบ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาปาปาเวอรีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ปาปาเวอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาปาปาเวอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- ห้ามรับประทานยาปาปาเวอรีนร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาปาปาเวอรีนร่วมกับยาในกลุ่ม Clozapine, Fluphenazine, Selegiline, Tizanidine ด้วยอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
ควรเก็บรักษาปาปาเวอรีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาปาปาเวอรีนดังนี้เช่น
ก. การเก็บรักษาในสถานพยาบาล: ควรเก็บยากลุ่มนี้ในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และยาที่หมดอายุต้องขออนุมัติการทำลาย
ข. การเก็บรักษาในที่พัก/บ้าน: เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
ปาปาเวอรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาปาปาเวอรีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
DBL Papaverine (ดีบีแอล ปาปาเวอรีน) | Mayne Pharma |
Papaverine hydrochloride SR (ปาปาเวอรีน ไฮโดรคลอไรด์ เอสอาร์) | UDL Laboratories Inc |