ปัสสาวะเล็ด (Urinary incontinence)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 25 เมษายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คืออะไร? พบบ่อยไหม?
- ปัสสาวะเล็ดมีกี่ชนิด? มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- มีอาการอื่นเกิดร่วมกับปัสสาวะเล็ดไหม?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุปัสสาวะเล็ดได้อย่างไร?
- รักษาปัสสาวะเล็ดได้อย่างไร?
- ปัสสาวะเล็ดรุนแรงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันปัสสาวะเล็ดอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ปัสสาวะบ่อย (Frequent urination)
- การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี (Urinary incontinence in women)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- ขมิบช่องทวารเบา ขมิบช่องคลอด การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel exercise)
- ผู้สูงอายุ (Older person)
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
- ต่อมลูกหมากโต หรือ บีพีเอช (Benign prostatic hypertrophy or BPH)
บทนำ: คืออะไร? พบบ่อยไหม?
ปัสสาวะเล็ด หรือ ฉี่เล็ด(Urinary incontinence)คือ อาการที่เกิดจากมีปัสสาวะเล็ดไหลออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งนี้มักมีกลไกเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับท่อปัสสาวะหย่อนยาน/เสื่อม ซึ่งหูรูดนี้ทำหน้าที่หดตัว/กลั้นน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะไม่ให้ไหลเข้าสู่ท่อปัสสาวะ ส่วนสาเหตุที่ทำให้หูรูดนี้หย่อนยาน/เสื่อมมีหลากหลายสาเหตุซึ่งจะกล่าวต่อไปใน’หัวข้อสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’โดยสาเหตุพบบ่อยคือ การเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น
ปัสสาวะเล็ด/ฉี่เล็ด เป็นอาการไม่ใช่โรค(โรค-อาการ-ภาวะ) เป็นอาการพบบ่อย ทั่วโลกพบประมาณ 35%ของประชากรทั้งหมดที่อายุมากกว่า 60 ปี พบทุกเพศ ทุกวัย แต่พบสูงขึ้นมากในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ โดยเพศหญิงพบบ่อยกว่าเพศชายประมาณ 2 เท่า
‘เล็ด’: พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554: เมื่อเป็นคำกริยา หมายถึง ‘ลอดออกแต่น้อย’
ปัสสาวะเล็ดมีกี่ชนิด? และมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
ชนิด และ/สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของปัสสาวะเล็ด/ฉี่เล็ด ได้แก่
ก. ชนิดของปัสสาวะเล็ด: มีหลากหลายชนิด ทั่วไปได้แก่
- Stress incontinence: คือปัสสาวะเล็ด/ฉี่เล็ด ที่เกิดจากหูรูดระหว่างกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะเสื่อมสมรรถภาพ ดังนั้นเมื่อมีแรงดันต่อกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้นจึงส่งผลให้เกิดปัสสาวะเล็ด เช่น ไอ จาม หัวเราะ เปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว วิ่ง กระโดด เล่นกีฬา การออกกำลังกาย หรือ ยกของหนัก ซึ่งปัสสาวะเล็ดกลุ่มนี้พบบ่อยที่สุดของปัสสาวะเล็ดทุกชนิด และยังเป็นชนิดสามารถพบบ่อยในวัยก่อนวัยกลางคน
- Urge incontinence: คือ ปัสสาวะเล็ด/ฉี่เล็ด ที่เกิดเมื่อปวดปัสสาวะจะปวดมากจน ต้องถ่ายปัสสาวะทันที กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งเป็นปัสสาวะเล็ดชนิดพบบ่อยรองลงมาจากชนิดแรก มักพบในวัยกลางคนขึ้นไปโดยเฉพาะเพศหญิง ปัสสาวะเล็ดกลุ่มนี้มักมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย มักมากกว่า 8 ครั้งต่อวัน และถ่ายปัสสาวะบ่อย โดยที่ปัสสาวะแต่ละครั้งปริมาณไม่มาก สาเหตุมักเกิดจากกระเพาะปัสสาวะไวเกินจากการกระตุ้นของน้ำปัสสาวะ ปัสสาวะเล็ดชนิดนี้จึงมีอีกชื่อ คือ ‘Overactive bladder’
- Mixed incontinence: คือ ชนิดเกิดจากกลไกจากทั้ง2ชนิดดังกล่าวร่วมกัน
- Over flow incontinence: คือ ชนิดที่มีน้ำปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะมากกว่าปกติ น้ำปัสสาวะจึงไหลเล็ดลอดออกมาได้ง่ายจึงส่งผลให้เกิดเป็นปัสสาวะเล็ด โดยสาเหตุอาจจาก กล้ามเนื้อช่วยการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะเสื่อมสมรรถภาพ, หรือมีการอุดกั้นท่อปัสสาวะ ปัสสาวะจึงไหลออกจากกระเพาะปัสสาวะได้ยากจนส่งผลให้มีการกักคั่งของน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ เช่น ในผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
- Functional incontinence: เกิดจากกลั้นปัสสาวะนานเพราะปัญหาทางร่างกาย เช่น หาห้องน้ำไม่พบ หรือมีปัญหาในการถอดชุดชั้นใน หรือในท่าทางการปัสสาวะ เช่น ไม่สามารถนั่งส้วมแบบนั่งยองๆได้
- Total incontinence: คือ ชนิดที่ผู้ป่วยปัสสาวะไหลตลอดเวลา กระเพาะปัสสาวะไม่สามารถเก็บกักปัสสาวะไว้ได้ เช่น มีรูรั่วระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับช่องคลอด, หรือ เส้นประสาทควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะเสียโดยสิ้นเชิง เช่น อุบัติเหตุต่อไขสันหลังส่วนควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ, หรือผู้ป่วยที่มีความพิการแต่กำเนิดของกระเพาะปัสสาวะและ/หรือของท่อปัสสาวะ
ข. สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด: คือ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีการกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ, และ/หรือ เพิ่มแรงดัน/แรงกดทับกระเพาะปัสสาวะ, และ/หรือทำให้เกิดการเสื่อมในการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทในท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานที่ควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งได้แก่
- อายุ: คือผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไปโดยเฉพะที่อายุมากกว่า 60 ปี
- เพศหญิง: โดยเฉพาะ
- วัยหมดประจำเดือน เพราะขาดฮอร์โมนที่ช่วยการทำงานของเนื้อเยื่อ/อวัยวะ/เส้นประสาทในอุ้งเชิงกรานรวมถึงของกระเพาะปัสสาวะ
- ผู้หญิงที่มีบุตรโดยเฉพาะหลายคน และที่คลอดวิธีธรรมชาติ
- ภาวะการตั้งครรภ์: โดยเฉพาะครรภ์ใน3เดือนสุดท้าย เพราะน้ำหนักครรภ์จะกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน: เพราะจะเพิ่มแรงดัน/แรงกดเบียดทับในช่องท้องรวมถึงในท้องน้อยที่ส่งผลถึงกระเพาะปัสสาวะ
- ท้องผูกเรื้อรัง หรือ ชอบเบ่งอุจจาระเป็นประจำซึ่งทำให้มีความดันในช่องท้องน้อยเพิ่มผิดปกติต่อเนื่อง
- สูบบุหรี่: เพราะเป็นสาเหตุการไอเรื้อรัง ซึ่งการไอจะเพิ่มแรงดันในช่องท้องน้อย
- มีประวัติเคยผ่าตัดในช่องท้องน้อย เช่น ผ่าตัดมดลูก ผ่าตัดไส้ติ่ง เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดพังผืด หรือการบาดเจ็บเสียหายของเนื้อเยื่อต่างๆในท้องน้อยรวมถึงเส้นประสาท
- มีโรคไขสันหลัง, โรคสมอง, หรือ โรคเส้นประสาท(เช่น จากเบาหวาน), เพราะสมอง,ไขสันหลัง, เส้นประสาท มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะโดยตรง
- ต่อมลูกหมากโต (เพศชาย)เพราะต่อมลูกหมากที่โตจะกดเบียดท่อปัสสาวะ ส่งผลให้น้ำปัสสาวะไหลออกยาก ปัสสาวะจึงคั่งในกระเพาะปัสสาวะมาก แรงดันในกระเพาะปัสสาวะจึงสูงขึ้น
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะของกระเพาะปัสสาวะ และ/หรือของท่อปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ท่อปัสสาวะอักเสบ
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ยาบางกลุ่มที่เพิ่มน้ำปัสสาวะ: เช่น ยาขับปัสสาวะ
- เครื่องดื่มบางชนิดที่เพิ่มปริมาณน้ำปัสสาวะ และอาจก่อการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจึงบีบตัวมากกว่าปกติ เช่น เครื่องดื่มคาเฟอีน(เช่น ชา กาแฟ โคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง) อาหารรสจัด อาหารเผ็ดจัด พริกไทย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา
- มีประวัติคนในครอบครัวมีอาการปัสสาวะเล็ด/ฉี่เล็ด
มีอาการอื่นเกิดร่วมกับปัสสาวะเล็ดไหม?
ปัสสาวะเล็ด/ฉี่เล็ด อาจเกิดเพียงอาการเดียว หรือ เกิดร่วมกับอาการอื่นๆได้ ทั้งนี้ขึ้นกับแต่ละสาเหตุ ดังนั้นในแต่ละผู้ป่วยอาจมีอาการแตกต่างกันได้ตามสาเหตุที่ต่างกัน เช่น
- มีไข้, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดแสบเมื่อถ่ายปัสสาวะ, ปัสสาวะขุ่น, มีกลิ่นแรง, กรณีสาเหตุเกิดจากโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และ/หรือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ปัสสาวะบ่อย ขัด ลำปัสสาวะผิดปกติ กรณีมีต่อมลูกหมากโต
- ปัสสาวะมาก เมื่อเกิดจาก กินยาขับปัสสาวะ และ/หรือดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน และ/หรือ แอลกอฮอล์
อนึ่ง: แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงอาการได้จากเว็บ haamor.com
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีปัสสาวะเล็ด/ฉี่เล็ดเกิดบ่อย หรือ ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ และ/หรือมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุปัสสาวะเล็ดได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยปัสสาวะเล็ด/ฉี่เล็ดและหาสาเหตุได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการรักษาโดยเฉพาะการผ่าตัด ประวัติการคลอดและจำนวนบุตร(ในผู้หญิง) ประวัติการใช้ยาต่างๆ ประวัติอาการนี้ในครอบครัว
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจภายใน (ในผู้ป่วยสตรี)
- การตรวจทางทวารหนัก
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจปัสสาวะ ดูโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ และโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- การตรวจเชื้อ และ/หรือ การตรวจเพาะเชื้อจากน้ำปัสสาวะ
- ตรวจเลือด เช่น ตรวจซีบีซี/CBC ดูการติดเชื้อ, ดูน้ำตาลในเลือด(โรคเบาหวาน), ดูการทำงานของไต
- ตรวจภาพอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะด้วย เอกซเรย์, อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน), และ/หรือเอมอาร์ไอ
- ส่องกล้องตรวจอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ, อาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และ/หรือการตรวจทางเซลล์วิทยาเมื่อตรวจพบความผิดปกติ(รอยโรค)
- ตรวจด้วยเทคนิคเฉพาะทางศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ตรวจประสิทธิภาพการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ(Urodynamic test), ตรวจปริมาณน้ำปัสสาวะที่คั่งค้างในการปัสสาวะแต่ละครั้ง(Residual urine test)
รักษาปัสสาวะเล็ดได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาปัสสาวะเล็ด/ฉี่เล็ดคือ การรักษาสาเหตุ ซึ่งมี 2 วิธีหลัก คือ การรักษาโดยไม่ใช้การผ่าตัด , และการรักษาด้วยการผ่าตัด, ทั้ง 2 วิธีหลัก มีหลากหลายวิธีย่อยที่ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ, สาเหตุ, อายุผู้ป่วย, เพศ, สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, การตอบสนองต่อวิธีรักษาต่างๆที่แพทย์เลือกใช้, ดุลพินิจของแพทย์, และความสมัคใจของผู้ป่วย
ก. รักษาโดยไม่ใช้การผ่าตัด: เช่น
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งอาจใช้เพียงวิธีเดียวกรณีเพิ่งเริ่มมีอาการ หรือใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆ:ทั่วไปได้แก่
- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โดยหลักสำคัญคือ การควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย
- เลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน และ แอลกอฮอล์/สุรา
- เลิก/ไม่สูบบุหรี่
- ระมัดระวังไม่ให้ท้องผูกเรื้อรัง
- ไม่กลั้นปัสสาวะนาน
- สังเกตว่า อาหารและเครื่องดื่มอะไรกระตุ้นให้เกิดอาการฯหรือทำให้อาการฯรุนแรง ให้หลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆเหล่านั้น
- สังเกตประเภทยาต่างๆที่กระตุ้นให้เกิดอาการฯหรือทำให้อาการรุนแรงให้แจ้งแพทย์ เภสัชกร เพื่อเลี่ยงการใช้ยานั้นๆ
- เตรียมตัว/วางแผนเรื่องการเข้าห้องน้ำล่วงหน้าก่อนออกจากบ้านเสมอ
- บริหารฟื้นฟูประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งมักใช้ร่วมกับวิธีแรกเสมอ เช่น
- ฝึกการทำงานของกระเพาะปัสสาวะให้เป็นเวลา(Bladder training)
- ฝึกฟื้นฟูประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น Kegel exercise (ขมิบช่องทวารเบา ขมิบช่องคลอด การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน)
- ปรับการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ: มีหลายวิธี และต้องใช้ร่วมกับ2วิธีแรก เช่น
- ใช้ยาซึ่งมีทั้งชนิดรับประทาน และยาฉีด เช่น
- ยารับประทานในกลุ่มยาแอนตี้มัสคารินิก เช่นยา โทลเทโรดีน (Tolterodine)
- ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ เช่น ยาโบทูไลนัมท็อกซิน (Botox/โบทอกซ์)
- กระตุ้นไฟฟ้าต่อเส้นประสาท(Nerve stimulation)ในอุ้งเชิงกรานที่ควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
- ฝึกการขับถ่ายปัสสาวะด้วยการใส่สายสวนปัสสาวะ
- ใส่อุปกรณ์ในช่องคลอดเพื่อช่วยพยุงกระเพาะปัสสาวะและ/หรือมดลูกที่หย่อนยานเข้ามาในช่องคลอดจนมีผลต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ(Vaginal pessary)
- ใช้ยาซึ่งมีทั้งชนิดรับประทาน และยาฉีด เช่น
ข. รักษาด้วยการผ่าตัด:ซึ่งมีหลากหลายวิธีเช่นกันและต้องใช้ร่วมกับ2วิธีแรก เช่น
- ผ่าตัดต่อมลูกหมาก กรณีสาเหตุเกิดจากต่อมลูกหมากโต
- ผ่าตัดทำหูรูดขับถ่ายปัสสาวะ(Artificial urinary sphincter)
- บางครั้งอาจต้องผ่าตัดใส่สายสวนปัสสาวะผ่านทางหน้าท้อง
ปัสสาวะเล็ดรุนแรงไหม?
ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของอาการปัสสาวะเล็ด/ฉี่เล็ดขึ้นกับสาเหตุซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่ละสาเหตุ ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นจึงจะให้การพยากรณ์โรคในผู้ป่วยแต่ละรายได้เหมาะสม เช่น
- รักษาควบคุมอาการได้ดีเพียงการปรับพฤติกรรม เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่สาเหตุเกิดจากการกลั้นปัสสาวะนานเกินไป(Functional incontinence)
- รักษาควบคุมอาการได้ดีด้วยการปรับพฤติกรรมร่วมกับทำกายภาพฟื้นฟูการทำงานของเนื้อเยื่อ/อวัยวะในอุ้งเชิงกราน และอาจใช้ยารับประทานตามแพทย์สั่งร่วมด้วย เช่น กรณีผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการนี้
- การพยากรณ์โรคไม่ค่อยดีเมื่อมีอาการเรื้อรังและอาการไม่ตอบสนองต่อการปรับพฤติกรรม, กายภาพฟื้นฟู, และการใช้ยา, อาจจำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยการผ่าตัด
ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการปัสสาวะเล็ด/ฉี่เล็ด ได้แก่
ก. กรณียังไม่พบแพทย์/มาโรงพยาบาล: ทั่วไป ได้แก่ การปรับพฤติกรรมฯ, และการทำกายภาพฟื้นฟูกล้ามเนื้อ/เนื้อเยื่ออวัยวะในอุ้งเชิงกราน ดังกล่าวใน ’หัวข้อ การรักษาฯ ข้อย่อย ข้อ ก.’
ข. กรณีพบแพทย์/มาโรงพยาบาลแล้ว:ที่สำคัญคือ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
- กินยา/ใช้ยาตามแพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- การปรับพฤติกรรมฯ, และการทำกายภาพฟื้นฟูกล้ามเนื้อ/เนื้อเยื่ออวัยวะในอุ้งเชิงกราน ดังกล่าวใน ’หัวข้อ การรักษาฯ ข้อย่อย ข้อ ก.’
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการแย่ลงทั้งๆที่ปฏิบัติถูกต้องตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
- มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมาก
- มีโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ อาการเช่น มีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะขุ่น
- กังวลในอาการ
ป้องกันปัสสาวะเล็ดอย่างไร?
การป้องกันอาการปัสสาวะเล็ด/ฉี่เล็ด คือ
- ป้องกัน/หลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
- และดูแลตนเองดังกล่าวใน’หัวข้อวิธีรักษาฯ ‘ ข้อ ก., หัวข้อย่อย การปรับพฤติกรรมฯ, และ การบริหารฟื้นฟูกล้ามเนื้อ/เนื้อเยื่ออวัยวะในอุ้งเชิงกราน Kegel exercise (ขมิบช่องทวารเบา ขมิบช่องคลอด การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน)’
บรรณานุกรม
- https://www.nhs.uk/conditions/urinary-incontinence/ [2021,April24]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Urinary_incontinence [2021,April24]
- https://www.urologyhealth.org/urology-a-z/u/urinary-incontinence [2021,April24]
- https://www.nia.nih.gov/health/urinary-incontinence-older-adults [2021,April24]
- https://www.womenshealth.gov/a-z-topics/urinary-incontinence [2021,April24]
- https://emedicine.medscape.com/article/452289-overview#showall [2021,April24]