ปอดแฟบ (Atelectasia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร ? พบบ่อยไหม?

ปอดแฟบ(Atelectasis หรือ Collapsed lung) คือ โรค/ภาวะที่ถุงลมในปอดเกิดตีบแฟบจนไม่สามารถเก็บกักอากาศ/ออกซิเจนจากการหายใจเข้า เพื่อใช้แลกเปลี่ยนระหว่างออกซิเจนในอากาศในถุงลมกับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ซึ่งถ้าการตีบแฟบของถุงลมเกิดเพียงเล็กน้อย มักไม่ก่ออาการผิดปกติ แต่ถ้ามีการตีบแฟบของถุงลมจำนวนมาก จะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน/ขาดอากาศจนเกิดอาการ หายใจลำบาก, หอบเหนื่อย ริมฝีปาก/มือเท้าเขียวคล้ำ, เป็นลม, และหมดสติในที่สุด (แนะนำอ่านรายละเอียดถึงหน้าที่การทำงานของปอด/ถุงลมได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ’ปอด กายวิภาคของปอด’

ปอดแฟบ เป็นโรค/ภาวะพบบ่อยทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ และทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิด (นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ แต่ไม่มีรายงานสถิติเกิดในภาพรวมทุกสาเหตุ เพราะมักรายงานสถิติเกิดแยกเป็นของแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ

อนึ่ง:

  • Atelectasis มาจากภาษากรีก หมายถึง การขยายตัวน้อยผิดปกติ หรือ การตีบแฟบ
  • ชื่ออื่นของ Atelectasis เช่น Lung atelectasis, Pulmonary atelectasis

ภาวะปอดแฟบมีกี่ชนิด? มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?

ปอดแฟบ

ภาวะปอดแฟบมีหลายชนิดและหลากหลายสาเหตุ ได้แก่

ก. แบ่งชนิดปอดแฟบตามระยะเวลาที่เกิดอาการ: แบ่งเป็น 2 แบบ/ชนิด คือ

  • ปอดแฟบเฉียบพลัน: เป็นปอดแฟบที่อาการเกิดรวดเร็วภายใน 24-48 ชั่วโมง อาการอาจรุนแรงน้อย หรือรุนแรงมากขึ้นกับสาเหตุ/พยาธิสภาพ ถ้าพยาธิสภาพรุนแรง/ปอดแฟบเนื้อที่มาก อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ เช่น กรณีปอดแตก/ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ
  • ปอดแฟบเรื้อรัง: เป็นปอดแฟบที่อาการจะค่อยๆเกิดขึ้นนานเป็นสัปดาห์ถึงหลายเดือน โดยอาการเริ่มแรกจะไม่ค่อยรุนแรง แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆเมื่อยังไม่ได้รับการรักษา ซึ่งเมื่ออาการรุนแรงก็เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้เช่นกัน เช่นใน มะเร็งปอด, ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดที่เกิดจากวัณโรค

ข. แบ่งชนิดตามลักษณะและตำแหน่งการเกิดปอดแฟบที่ตรวจพบภาพจากเอกซ์เรย์ปอด: เช่น

  • ปอดแฟบที่มีลักษณะเป็นเส้น/แถบ/แผ่นเล็กๆ(Plate-like atelectasis หรือ Subsegmental atelectasis): เป็นชนิดพบบ่อยมาก พบได้ทุกตำแหน่งของปอด และเกิดพร้อมกันได้หลายจุดในปอดข้างเดียว หรือ ทั้งสองข้าง ทั่วไปมักไม่ก่ออาการ มักพบในคนอ้วน หรือคนที่หายใจตื้นๆเป็นประจำ
  • ปอดแฟบที่เกิดเฉพาะกับปอดส่วนย่อยๆ(Segment)ของปอดแต่ละกลีบ(Lobe) เรียกปอดแฟบที่เกิดกับส่วนย่อยๆนี้ว่า ‘Segmental atelectasis’ เป็นปอดแฟบที่ก่ออาการ แต่อาการไม่รุนแรง โดยอาจเกิดปอดแฟบเพียงส่วนย่อยเดียว หรือ หลาย ส่วนย่อย โดยอาจเกิดกับปอดข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง ขึ้นกับสาเหตุ เช่น ปอดบวมที่อาการยังไม่รุนแรง
  • ปอดแฟบที่เกิดกับถุงลม/เนื้อปอดทั้งกลีบ(Lobar atelectasis): อาจเกิดกับปอดกลีบเดียว หรือหลายกลีบ ทั่วไปพบเกิดกับปอดข้างเดียวสูงกว่าเกิดกับปอดทั้ง2ข้าง เป็นปอดแฟบที่มีอาการเสมอ เช่น ปอดบวมที่รุนแรง
  • ปอดแฟบเฉพาะปอดกลีบกลางของปอดด้านขวา(Right middle lobe syndrome): พบบ่อยเช่นกัน เป็นปอดแฟบที่ก่ออาการเสมอ (ปอดกลีบกลางมีเฉพาะกับปอดด้านขวา ปอดด้านซ้ายจะไม่มีปอดกลีบกลาง มีเพียงปอดกลีบบนและปอดกลีบล่างเท่านั้น) ซึ่งปอดแฟบชนิดนี้อาจส่งผลให้กะบังลมด้านขวายกสูงขึ้น ซึ่งแพทย์ใช้ช่วยในการวินิจฉัยหาตำแหน่งเกิดรอยโรค เช่น ปอดอักเสบที่เกิดกับปอดส่วนนี้
  • ปอดกลีบล่างๆแฟบ(Basilar atelectasis): เป็นภาวะปอดแฟบของปอดกลีบล่างที่มักเกิดกับปอดทั้ง2ข้าง ซึ่งสาเหตุอาจเกิดตามหลังการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องดมยาสลบโดยเฉพาะการผ่าตัดในช่องอก หรือจากมีเลือด/น้ำคั่งมากในช่องอกจนกดเบียดทับปอดกลีบล่าง
  • ปอดแฟบทั้งข้าง อาจเป็นข้างซ้าย หรือ ขวาก็ได้(Unilateral lung atelectasis): มักเกิดจากพยาธิสภาพที่รุนแรงและมักมีการอุดตันของหลอดลมประธานด้านใดด้านหนึ่ง(เช่น มะเร็งปอด) หรือ ภาวะปอดแตก/ ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศที่รุนแรง ทั่วไปจะก่ออาการรุนแรง และมักเกิดกับปอดเพียงข้างเดียว

ค. แบ่งชนิดตามสาเหตุ: แบ่งเป็น 2 กลุ่ม/ชนิดหลัก คือ สาเหตุมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันในช่องทางเดินอากาศของระบบทางเดินหายใจ, และสาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันในช่องทางเดินอากาศฯ

  • สาเหตุจากมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันภายในช่องทางเดินอากาศของระบบทางเดินหายใจ(Obstructive atelectasis): เมื่อมีการอุดตันในช่องทางเดินหายใจ(ท่อลม และหลอดลม) อากาศจากภายนอกจึงผ่านเข้าสู่ถุงลมไม่ได้ ถุงลมจึงแฟบลง ซึ่งสาเหตุนี้ที่พบบ่อยเกิดจาก
    • มีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปอุดตันในหลอดลม เช่น เมล็ดผลไม้, ของเล่นชิ้นเล็กๆ, หรือเศษสิ่งของต่างๆ, จากการที่เอาสิ่งแปลกปลอมยัดผ่านทางรูจมูก
    • การสำลักอาหาร สิ่งแปลกปลอมเข้าหลอดลมจาก การกลืน, อาเจียน, กรดไหลย้อน
    • อุดตันจากสารคัดหลั่งของหลอดลมเองที่เหนียวข้นมากผิดปกติ เช่น เสมหะที่เหนียวข้นมาก เช่น ในผู้มีปอดอักเสบร่วมกับภาวะขาดน้ำ, หรือผู้ที่ไม่สามารถไอได้ เช่น กินยากดการไอ, หรือปอดบวม/ปอดอักเสบที่รุนแรง, หรือคนที่เป็นโรค ซิสติกไฟโบรซิส (Cysticfibrosis)
    • มีก้อนเนื้อในทางเดินลมหายใจ เช่น ในหลอดลม(มะเร็งปอด)
  • สาเหตุอื่นที่ไม่ได้เกิดจากมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันภายในช่องทางเดินอากาศฯ(Non obstructive atelectasis): ได้แก่ สาเหตุอื่นที่ไม่มีการอุดตันจากสิ่งแปลกปลอมในท่อทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย เช่น
    • หลังผ่าตัด โดยเฉพาะผ่าตัดด้วยการดมยาสลบ เพราะขณะผ่าตัด ผู้ป่วยจะหายใจได้ตื้นและช้า จากการใช้ช่วยเครื่องช่วยหายใจและจากฤทธิ์ของยาสลบ รวมทั้งเมื่อฟื้นตัวก็มักจะหายใจได้ตื้นๆและไอได้ไม่แรงพอที่จะขับเสมหะได้ จากเจ็บแผลผ่าตัด ซึ่งปัจจุบัน เป็นสาเหตุที่พบบ่อย
    • ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด และ ภาวะปอดแตก/ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ เรียกปอดแฟบชนิดนี้ว่า ‘Relaxation atelectasis หรือ Passive atelectasis’
    • มีก้อนเนื้อ/ก้อนมะเร็งของอวัยวะในช่องอกที่ไม่ใช่มะเร็งปอดซึ่งกดเบียดทับปอด/หลอดลม เรียกปอดแฟบชนิดนี้ว่า Compressive atelectasis เช่น มะเร็งต่อมไทมัส
    • ถุงลมไม่สามารถพองตัวได้จากขาดสารที่หลั่งจากผนังหลอดลมเอง(Surfactant)ที่ใช้ช่วยให้ผนังหลอดลมเปิดขยาย/ไม่ยึดติดกันเอง เรียกปอดแฟบจากสาเหตุนี้ว่า ‘Adhesive atelectasis’ เช่น ปอดแฟบในเด็กคลอดก่อนกำหนดที่เซลล์เนื้อเยื่อปอดยังเจริญไม่เต็มที่, โรคกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน, ภาวะสูบบุหรี่จัด
    • ถุงลมไม่สามารถพองตัวได้จากการเกิดพังพืดในเนื้อเยื่อปอด(โรคพังผืดในปอด): เรียกปอดแฟบสาเหตุนี้ว่า ‘Cicatrization atelectasis หรือ Lung scarring หรือ Contraction atelectasis’ เช่น เนื้อเยื่อปอดเกิดพังผืดจากวัณโรค, ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษาในมะเร็งปอด, ภาวะสูบบุหรี่จัด
    • การให้ออกซิเจนในสัดส่วนสูง(Absorption atelectasis หรือ Resorption atelectasis): ในการรักษาผู้ป่วยด้วยการสูดดมออกซิเจนที่รวมถึงการดมยาสลบ ปริมาณออกซิเจน(ในอากาศประมาณ 21%)ต่อไนโตรเจน(ในอากาศประมาณ 78%)ต้องอยู่ในสมดุล จึงจะทำให้ถุงลมเปิด/ขยายตัวจากการเหลือของไนโตรเจนในถุงลม แต่ถ้าให้ออกซิเจนในสัดส่วนสูงมากๆ เช่น 100% ถุงลม/ร่างกายจะดูดซึมออกซิเจนไปใช้ทั้งหมด จึงไม่เหลืออากาศในถุงลม ส่งผลให้เกิดภาวะถุงลมแฟบ

ปัจจัยเสี่ยงเกิดปอดแฟบ:

ปัจจัยเสี่ยงเกิดปอดแฟบ ได้แก่

  • คนอ้วน/โรคอ้วน เพราะคนกลุ่มนี้จะหายใจตื้นๆ อากาศจึงเข้าสู่ถุงลมได้น้อย
  • สูบบุหรี่ เพราะสารพิษจากควันบุหรี่จะส่งผลให้ถุงลมอักเสบเรื้อรังจนเกิดเป็นพังผืดในปอด หรือเซลล์ถุงลมไม่สามารถสร้างสาร Surfactant ได้หรือสร้างได้น้อย
  • หลังการผ่าตัดใหญ่ที่ใช้ยาสลบ
  • โรคปอดต่างๆ
  • ผู้ป่วยนอนติดเตียง
  • ผลข้างเคียงจาก ยาคลายกล้ามเนื้อ, ยาหย่อนกล้ามเนื้อ

ภาวะปอดแฟบมีอาการอย่างไร?

อาการของปอดแฟบ ทั่วไปเป็นอาการเกิดจากร่างกายขาดออกซิเจน (ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ ขึ้นกับปอดแฟบรุนแรงหรือไม่) เช่น

  • หายใจเร็ว
  • หายใจลำบาก
  • หายใจเสียงหวีด
  • ไอแห้งๆแบบหมดแรง ต่อเนื่อง
  • เจ็บหน้าอก เจ็บมากขึ้นเมื่อหายใจเข้าลึกๆ มักเป็นเฉพาะด้านที่เกิดปอดแฟบ
  • หัวใจเต้นเร็ว/ ชีพจรเต้นเร็ว
  • ปวดศีรษะ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • สับสน
  • อ่อนแรง/ หมดแรง
  • ตาพร่า ตามัว
  • ริมฝีปาก มือ เท้า มีอาการเขียวคล้ำ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ภาวะช็อก

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบมาโรงพยาบาล หรือมาโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันทีขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ไม่ควรรอดูแลตนเอง หรือรอสังเกตอาการ

แพทย์รู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะปอดแฟบ ?

แพทย์วินิจฉัยภาวะปอดแฟบได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ การผ่าตัด การดมยาสลบ การใช้ยาต่างๆ การได้รับอุบัติเหตุ การเล่น/กลืนสิ่งแปลกปลอม ประวัติโรคประจำตัว
  • การตรวจร่างกายที่รวมถึงการตรวจวัดสัญญาณชีพ
  • เอกซเรย์ภาพปอด ที่จะเห็นภาวะปอดแฟบชัดเจน เป็นการตรวจที่ช่วยการวินิจฉัยได้ดี และยังช่วยบอกชนิดของปอดแฟบ และความรุนแรงของปอดแฟบได้ด้วย
  • การตรวจต่างๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม ตามอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจภาพปอดให้ละเอียดขึ้นด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
    • การส่องกล้องหลอดลม ซึ่งเป็นทั้งการตรวจ และการรักษากรณีมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าในหลอดลม อาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อในกรณีพบรอยโรคที่เป็นก้อนเนื้อ/แผลเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เช่น วินิจฉัยมะเร็งปอด
    • การตรวจเลือดดูค่าออกซิเจนในเลือด(Blood gases)

รักษาภาวะปอดแฟบอย่างไร?

แนวทางการรักษาปอดแฟบ ได้แก่ การรักษาเปิดทางเดินหายใจเพื่อให้อากาศ/ออกซิเจนสามารถเข้าสู่ถุงลมได้สะดวกตามปกติ, การรักษาประคับประคองตามอาการ, และการป้องกันการเกิดปอดแฟบกลับเป็นซ้ำที่รวมถึงกายภาพบำบัดฟื้นฟูการทำงานของปอด ซึ่งทั่วไปแพทย์มักใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยเฉพาร่วมกันเสมอกับการป้องกันปอดแฟบย้อนกลับเป็นซ้ำและกายภาพบำบัดฟื้นฟูการทำงานของปอด

ก. การรักษาเพื่อเปิดทางเดินหายใจ: มีหลากหลายวิธีขึ้นกับสาเหตุเป็นหลัก โดยจะเลือกใช้วิธีใดยังขึ้นกับความรุนแรงของอาการ, สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์ผุ้รักษา ที่รวมถึงการยินยอมจากผู้ป่วย/ครอบครัวผู้ป่วย ซึ่งตัวอย่างวิธีรักษา เช่น

  • การส่องกล้องหลอดลม กรณีมีสิ่งแปลกปลอมในหลอดลมที่รวมถึงมีสารคัดหลั่งที่เหนียวข้นอุดตันหลอดลม
  • การผ่าตัดปอดส่วนที่เป็นโรคออก เช่น มะเร็งปอด หรือส่วนปอดติดเชื้อรุนแรงหรือเรื้อรังจนปอดส่วนนั้นเสียหายมาก
  • การผ่าตัดปอดออกทั้งข้าง กรณีมะเร็งปอดลุกลามมาก
  • การใส่ท่อช่วยหายใจ อาจร่วมกับการใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • การสูดดมออกซิเจนความเข้มข้นต่างๆ
  • การใช้ยาต่างๆตามสาเหตุ เช่น
    • ยาละลายเสมหะ กรณีเสมหะเหนียวข้นมาก
    • การแก้ไขภาวะภาวะขาดน้ำที่ทำให้เสมหะเหนียวข้น เช่น การให้สารน้ำเพิ่มเติมทางหลอดเลือดดำ
    • การลดขนาดยา การปรับเปลี่ยน หรือเลิกใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้อ กรณีสาเหตุเกิดจากยาดังกล่าว
    • การให้ยาปฏิชีวนะกรณีมีการติดเชื้อร่วมด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีปอดอักเสบ/ปอดบวม

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: ซึ่งจะขึ้นกับอาการร่วมต่างๆของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น

  • ยาลดไข้ กรณีมีไข้
  • ยาแก้ปวด กรณีเจ็บหน้าอกมาก
  • ยาละลายเสมหะ กรณีเสมหะเหนียวข้น

ค. การป้องกันปอดแฟบเกิดซ้ำ/การฟื้นฟูการทำงานของปอด: ซึ่งเป็นการรักษาในผู้ป่วยที่ปอดแฟบทุกราย เช่น

  • หยุดบุหรี่
  • ฝึกการหายใจเข้าลึกๆตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพฯ แนะนำ
  • ฝึกการไอ เพื่อช่วยกำจัดเสมหะตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพฯ แนะนำ
  • การเคาะปอดเพื่อช่วยขับเสมหะ/สารคัดหลั่งจากปอด โดย พยาบาล และ/หรือนักกายภาพบำบัด
  • การนอนเอนตัวเพื่อช่วยการหายใจแทนการนอนราบ
  • การดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงเพื่อช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะ
  • การเคลื่อนไหวร่างกาย ที่รวมถึงออกกกำลังกายสม่ำเสมอตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด

ปอดแฟบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากปอดแฟบที่พบบ่อย คือ

  • ปอดส่วนที่แฟบติดเชื้อ มักเป็นเชื้อแบคทีเรีย (ปอดอักเสบ/ปอดบวม) ที่อาจรุนแรงจนเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่เป็นสาเหตุให้ตายได้
  • ถ้าปอดแฟบเรื้อรัง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดลมพอง(แนะนำอ่านรายละเอียดโรคนี้ในเว็บ haamor.com)
  • ถ้าเกิดปอดแฟบในสัดส่วนที่รุนแรง เช่น ปอดแฟบของปอดทั้งข้าง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

ปอดแฟบรุนแรงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของปอดแฟบ ขึ้นกับสาเหตุ และเนื้อที่ปอดที่เกิดการแฟบ เช่น

  • ความรุนแรงน้อย/การพยากรณ์โรคดี กรณีปอดแฟบเล็กน้อย ไม่ก่ออาการ เช่น ปอดแฟบชนิดเป็นเส้นหรือเป็นแผ่นเล็กๆ(Plate-like atelectasis)
  • ความรุนแรงปานกลาง โรครักษาหายได้ แต่วิธีรักษาซับซ้อน และค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เช่น กรณีเกิดปอดอักเสบ/ปอดบวม หรือ มีสิ่งแปลกปลอมในหลอดลมที่แพทย์สามารถนำเอาสิ่งแปลกปลอมออกมาได้
  • ความรุนแรงสูง/การพยากรณ์โรคไม่ดี มีอัตราเสียชีวิตสูง เช่น มะเร็งปอด, ปอดแตก/ ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ ที่เกิดรุนแรงและอุดรอยรั่วของเนื้อเยื่อปอดที่แตกไม่ได้, ปอดบวมรุนแรงจนเป็นเหตุเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

ดังนั้นแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยเท่านั้น ที่สามารถบอกได้ว่า ผู้ป่วยแต่ละรายมีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร

ป้องกันภาวะปอดแฟบได้อย่างไร?

การป้องกันปอดแฟบ คือ การป้องกันสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง(ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’) ที่ป้องกันได้ ทั่วไปที่สำคัญคือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงลดโอกาสเกิดปอดติดเชื้อ/ปอดอักเสบ/ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
  • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
  • ดูแลตนเองเรื่องอาหาร และการออกกำลังกาย ป้องกันโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน และเพื่อสุขภาพกายที่แข็งแรง
  • ฝึกการหายใจเข้าลึกๆสม่ำเสมอ

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะปอดแฟบ?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะปอดแฟบ เมื่อแพทย์รักษาและให้กลับมาดูแลตนเองต่อที่บ้าน ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
  • ทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูประสิทธิภาพปอด ตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ สม่ำเสมอ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • ไม่ซื้อยาอื่นๆใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะยาแก้ไอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง เช่น เจ็บหน้าอกมากขึ้น ไอมากขึ้น
    • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ไอเป็นเลือด
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมากต่อเนื่อง ขึ้นผื่น
    • กังวลในอาการ

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Atelectasis [2020,March7]
  2. https://radiopaedia.org/articles/lung-atelectasis [2020,March7]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/296468-overview#showall [2020,March7]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/1001160-overview#showall [2020,March7]
  5. https://www.msdmanuals.com/professional/pulmonary-disorders/bronchiectasis-and-atelectasis/atelectasis [2020,March7]