ปอดอักเสบภูมิไวเกิน (ตอนที่ 1)

ปอดอักเสบภูมิไวเกิน-1

      

แพทย์ชาวอังกฤษได้เปิดเผยถึงผู้ป่วยวัยรุ่นที่เกือบเสียชีวิตหลังจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า (Vaping) ที่เป็นมหันตภัยต่อปอด โดยวัยรุ่นดังกล่าวต้องใช้ปอดเทียมช่วยหายใจหลังจากที่เขาไม่สามารถหายใจได้ด้วยปอดจริง

วัยรุ่นดังกล่าวเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาตั้งแต่ต้นปี 2550 ขณะที่อายุ 16 ปี เพราะต้องการที่จะเลิกบุหรี่เพื่อการต่อยมวย แต่ปรากฏว่าในเดือนพฤษภาคมเขากลับพบว่า ตัวเองมีอาการหายใจลำบาก ไอ และหอบ จนแม่ต้องพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในห้องไอซียู และแม้จะมีการใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ออกซิเจนก็ยังเข้าสู่ร่างกายได้ไม่พอเพียงจนเกือบเสียชีวิต

จึงต้องอาศัยเครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอดปอดเทียม ECMO (Extra-corporeal membrane oxygenation) จึงสามารถมีชีวิตรอด โดยเครื่องนี้จะมีท่อนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย และเติมออกซิเจนและเลือดกลับเข้าสู่ร่างกาย กล่าวคือจะอาศัยหลักในการนำเลือดดำออกมาจากร่างกาย เพื่อไปฟอกที่เครื่อง ECMO ให้กลายเป็นเลือดแดง จากนั้นจะทำหน้าที่ปั๊มเลือดแดงกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง

หลังการฟื้นฟูระยะยาว ปัจจุบันอาการยังไม่สมบูรณ์ ดีขึ้นเพียงร้อยละ 78-80 โดยวัยรุ่นดังกล่าวมีอายุ 19 ปี และเพิ่งกลับมายืนได้ด้วยตนเองก่อนหน้านี้เพียง 6 เดือน เขากล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวร้ายและพยายามเตือนเพื่อนๆ และทุกคน แต่ไม่ค่อยมีคนเชื่อ

จากกรณีนี้แพทย์กล่าวว่า วัยรุ่นคนนี้มีอาการที่เรียกว่า โรคปอดอักเสบภูมิไวเกิน (Hypersensitivity pneumonitis) ที่เป็นผลมาจากสิ่งที่เขาหายใจเข้าไปแล้วกระทบต่อระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ซึ่งก็คือ บุหรี่ไฟฟ้า นั่นเอง ดังนั้น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นไม่ควรทดลองหรือเข้าใกล้บุหรี่ไฟฟ้าเลย

โรคปอดอักเสบภูมิไวเกิน (Hypersensitivity pneumonitis / extrinsic allergic alveolitis) เป็นกลุ่มโรคปอดซึ่งปอดจะมีอาการอักเสบและแสดงปฏิกริยาแพ้ โดยเราสามารถแยกคำอธิบายของชื่อโรคได้ดังนี้

"extrinsic"— มีมูลเหตุมาจากสิ่งภายนอกร่างกาย

"allergic"— ทำให้เกิดปฏิกริยาแพ้ต่อร่างกาย

"alveolitis"— ทำให้ส่วนในของปอดหรือถุงลมปอดเกิดการอักเสบ

โดยสาเหตุของโรคปอดอักเสบภูมิไวเกินเกิดจากการสูดดมฝุ่นของสัตว์หรือพืชจากแหล่งต่างๆ เช่น แกลบ เปลือกไม้ สะเก็ดผิวหนังของสัตว์ ขี้นก ขี้หนู ที่มีขนาด 5 ไมครอนหรือน้อยกว่าเข้าสู่ถุงลมปอด ซึ่งรวมถึง

  • เชื้อแบคทีเรีย
  • เชื้อรา
  • โปรตีน
  • สารเคมี

แหล่งข้อมูล:

  1. Vaping nearly killed me, says British teenager. https://www.bbc.com/news/health-50377256 [2020, February 10].
  2. Hypersensitivity Pneumonitis (Extrinsic Allergic Alveolitis). https://www.ccohs.ca/oshanswers/diseases/alveolitis.html [2020, February 10].
  3. Hypersensitivity Pneumonitis. https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/hypersensitivity-pneumonitis [2020, February 10].