ปวดหู อาการปวดหู (Earache หรือ Otalgia)
- โดย ร.ท. พญ.นทมณฑ์ ชรากร และ พลเอก นพ.ชาญชัย ชรากร
- 31 มกราคม 2560
- Tweet
- ปวดหูคืออะไร?
- รูหูทำหน้าที่อะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปวดหู?
- ต้นเหตุของหูเป็นฝีเกิดจากอะไร?
- อาการฝีในหูเป็นอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยสาเหตุปวดหูได้อย่างไร?
- รักษาภาวะปวดหูอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อปวดหู?
- ป้องกันภาวะปวดหูได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- หูอื้อ (Tinnitus)
- หูดับ หูตึง หูหนวก (Deaf)
- ภาวะเร่งด่วนทางหู (Ear emergencies)
- แก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum)
- หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หูน้ำหนวก (Chronic otitis media)
- หูติดเชื้อ (Ear infection)
ปวดหูคืออะไร?
ปวดหู (Earache หรือ Otalgia) เป็นภาวะที่มีการติดเชื้อในรู/ช่องหู (Ear canal) ทำให้มีอาการปวดหูมาก เอามือจับต้องใบหูไม่ได้ เวลาเคี้ยวอาหารก็ปวด ปวดจนนอนไม่หลับ ปวดมากเพราะหูมีเส้นประสาทมาเลี้ยงมากมาย ได้แก่ เส้นประสาทสมองเส้นที่ 5,7,9,และ10 และยังมีเส้นประสาทจากกระดูกลำคอข้อที่ 2,และ3 ซึ่งรูหูเป็นหูชั้นนอก (กายวิภาคและสรีรวิทยาของหู) มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.7-0.9 เซนติเมตร (ซม.) ทอดโค้งยาว 2.5 ซม.และไปสิ้นสุดยังแก้วหูซึ่งเป็นเนื้อเยื่อกั้นระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง
รูหูทำหน้าที่อะไร?
รูหูทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้วัตถุแปลกปลอม หรือแมลง หรือเชื้อโรคหลุดเข้าไปในรูหู นอกจากนั้น เซลล์รูหูยังสร้างขี้หู ทำให้เนื้อเยื่อโดยรอบรูหูมีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งมีคุณสมบัติคอยสกัดกั้นไม่ให้เชื้อโรคหลุดเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อรอบๆรูหู และยังมีเส้นขนอยู่รอบๆรูหู ช่วยกรองฝุ่น และสิ่งแปลกปลอม และยังช่วยทำให้รูหูสะอาดอีกด้วย
ดังนั้น การปวดหู จึงเป็นเรื่องรุนแรง และเร่งด่วนมาก และผู้ป่วยไม่ควรทนอยู่เพื่อดูแลตนเอง ควรรีบพบแพทย์/แพทย์ หู คอ จมูกให้ช่วยดูแลรักษา ดังจะได้กล่าวต่อไป(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเร่งด่วนทางหู)
ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปวดหู?
ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสปวดหู และเป็นฝีในหูได้เท่ากัน เด็กและวัยรุ่นมีโอกาสปวดหูมากกว่าผู้สูงอายุ พบว่าครั้งหนึ่งในชีวิต ทุกคนมีโอกาสปวดหูได้ถึง 10% คนที่เป็นโรคเบาหวาน หรือโรคภูมิต้านตนเอง มีโอกาสเป็นฝีในหูได้ง่ายกว่า และเวลาปวดจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป
ต้นเหตุของหูเป็นฝีเกิดจากอะไร?
ต้นเหตุของหูเป็นฝี (เมื่อท่านอ่านทราบแล้ว จงหลีกเลี่ยง ซึ่งเป็นทั้งการดูแลตนเองและการป้องกันการปวดหู) เกิดได้จาก
1. ทำความสะอาดหูบ่อย โดยใช้คอตตอนบัด/ไม้พันสำลี (Cotton bud) ที่ขายอยู่ตามท้องตลาดซึ่งมีขนาดเท่ารูหู ไม่สะอาด เวลาเอาใส่เข้าไปในรูหู นอกจากจะอัดเอาขี้หูให้เข้าลึกลงไปอีก ยังทำให้เนื้อเยื่อรอบรูหูมีแผลถลอก ซึ่งเป็นหนทางให้เชื้อโรคเข้าเนื้อเยื่อรูหูได้ง่าย จึงก่อให้หูติดเชื้อได้ง่าย
2. เวลาอาบน้ำหรือว่ายน้ำ น้ำเข้าไปในรูหูมากไป ทำให้ภาวะความเป็นกรดในรูหูเสียไป เป็นเหตุให้เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา เจริญเติบโตงอกงามในรูหูได้ง่าย
3. การใช้เครื่องช่วยฟังหรือเครื่องอุดหูกันเสียงดังที่ไม่ได้ขนาด และไม่สะอาด ก็อาจทำให้ติดเชื้อในรูหูได้
4. สารบางอย่าง เช่น น้ำยาย้อมผม แชมพูสระผม และผงซักฟอก ทำให้สภาวะความเป็นกรดของหูเสียไป ก็มีโอกาสติดเชื้อในรูหูและกลายเป็นฝีได้
5. เชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้หูติดเชื้อ และ/หรือเกิดฝีในรูหู/หู คือ เชื้อแบคทีเรีย Staphyloccus Aureus, และ Pseudomonas aeroginosa ที่พบบ่อยรองลงมาคือ เชื้อราซึ่งพบเกิดได้ประมาณน้อยว่า 10% ของการติดเชื้อในรูหูทั้งหมด
อาการฝีในหูเป็นอย่างไร?
อาการจากมีฝีในหู คือ
1. ปวดหูข้างเดียว ปวดมาก โดยเฉพาะเวลาจับหรือดึงใบหู ปวดจนนอนไม่ได้
2. คันหู
3. รูหูและเนื้อเยื่อรอบๆ บวม มีสีแดง และร้อน
4. ถ้าฝีไม่แตก จะมีหูอื้อ ได้ยินไม่ชัด และมีเสียงดังในหู
5. ถ้าฝีแตกมีน้ำใส ๆ มีหนองเหม็น หรือมีเลือดไหลออกจากรูหู
6. มีไข้ต่ำ ๆ หรือไข้สูงมากก็ได้
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ผู้มีอาการดังกล่าว หรือมีฝีในหู ควรพบแพทย์/แพทย์หู คอ จมูก เมื่อ
1. ได้ยาแก้ปวดแล้วไม่ทุเลา ยังคงปวดหูตุ๊บๆ และปวดตลอดเวลา
2. มึนงง มีไข้
3. ปากเบี้ยว เห็นภาพซ้อน
4. เป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมโรคไม่ได้ หรือมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้ยาเคมีบำบัด
5. มีประวัติการผ่าตัดโรคหู หรือฝังท่อที่แก้วหู
6. หูข้างนั้น หนวก/ไม่ได้ยิน หรือได้ยินลดลง
แพทย์วินิจฉัยสาเหตุปวดหูได้อย่างไร?
ก่อนอื่นแพทย์จะถามประวัติอาการ เอามือแตะใบหูเบา ๆ หรือดึงใบหูเบา ๆ หลังจากนั้นเอาเครื่องมือส่องหู เพื่อตรวจรูหูและแก้วหู ถ้าพบว่ามีน้ำหนอง น้ำเลือด ก็จะใช้เครื่องดูดทำความสะอาด และเอาน้ำที่ดูดได้นี้ไปตรวจย้อมหาเชื้อโรค และเพาะเชื้อเพื่อให้ยาฆ่าเชื้อตามเชื้อที่เพาะได้ ถ้าพบว่ามีการบวมเป่งของฝีก็อาจใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดแล้วใช้มีดเล็กๆ กรีดระบายหนองออก และเอาหนองไปย้อมเพาะเชื้อด้วยกรรมวิธีเดียวกัน บางครั้งรูหูบวมแดง ปวด อาจใส่ฟองน้ำหรือสำลีก้อนเล็กๆ ชุบน้ำยาปฏิชีวนะ เพื่อให้ยาสัมผัสกับบริเวณที่บวม (แพทย์จะนัดผู้ป่วยในวันรุ่งขึ้น เพื่อเอาฟองน้ำ หรือสำลีนี้ออก)
รักษาภาวะปวดหูอย่างไร?
แนวทางรักษาภาวะปวดหู คือ
1. หยอดหูด้วยยาหยอดหู ที่เป็น ยาปฏิชีวนะ อาจร่วมกับ กินยาปฏิชีวนะ เมื่อหูติดเชื้อแบคทีเรีย
2. หยอดหูด้วยยาฆ่าเชื้อรา อาจร่วมกับกินยาฆ่าเชื้อรา เมื่อหูติดเชิ้อรา
3. กินยาแก้ปวด
โดยทั่วไป เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะหายภายใน 48 ชั่วโมง และแพทย์มักแนะนำ ไม่ให้แคะหูหรือปั่นหู ไม่ให้น้ำเข้าหู และไม่ให้เจาะหูด้วยเครื่องเจาะที่ไม่สะอาด
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อปวดหู?
เมื่อปวดหู อาจกินยาแก้ปวด แต่อย่าแคะหู หรือปั่นหู อย่าให้น้ำเข้าหู ถ้าอาการปวดหูไม่ดีขึ้น หรือมีอาการดังกล่าวแล้วในหัวข้อเมื่อไหร่ควรพบแพทย์ ให้รีบพบแพทย์/แพทย์หูคอจมูก ไม่ควรดูแลตนเอง เพราะไม่สามารถรักษาสาเหตุของปวดหูได้ด้วยตนเองเมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ และ/หรือมีฝีในหู
ภายหลังพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเอง คือ
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
- กินยา และใช้ยาต่างๆให้ถูกต้องครบถ้วนตามแพทย์สั่ง
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบก่อนนัดเมื่อมีอาการต่างๆเลวลง หรืออาการต่างๆไม่ดีขึ้น หรือ กังวลในอาการ หรือมีอาการดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ควรพบแพทย์เมื่อไหร่
ป้องกันภาวะปวดหูได้อย่างไร?
การป้องกันภาวะปวดหู คือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดฝีในหู ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุเกิดฝีในหู ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการแคะหู หรือใช้ไม้พันสำลีเช็ด แคะ/ หู
- ระวังน้ำเข้าหู โดยเฉพาะน้ำไม่สะอาด
- ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆไม่ให้เข้าหู เช่น แชมพูสระผม และน้ำยาย้อมผม
- หูฟังต้องเหมาะสม และสะอาด
บรรณานุกรม
- The carthy VP. Toxic. Shock syndrome after ear piercing. Ped Inf Dis. J 1988 ; 7:741-742.
- Hato N, et al. Rumsay Hunt syndrome in children. Ann neurol 2000, 48 : 254-256.
- Fisher JK. Chronic cellulitis. Arch dermatol 1969; 100:505-506
- Yelland M. Otitis externa in general practice. Med J Aust 1992, 156:325
- Guthrie, et al. Diagnosis and treatment of acute otitis externa-an interdisciplinary update Ann Oto rhino laryngol 1999; 176:1-23.