ปวดส้นเท้า เจ็บส้นเท้า (Heel pain)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ปวด-เจ็บ-ส้นเท้า

อาการปวดเจ็บส้นเท้า (Heel pain) เป็นอาการที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่มักพบได้สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เป็นอาการที่อาจเกิดกับส้นเท้าเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้

สาเหตุของการเกิดการปวดเจ็บส้นเท้าเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อรอบๆกระดูกส้นเท้า จากที่กระดูกส้นเท้าและเนื้อเยื่อรอบๆกระดูกส้นเท้าซึ่งรวมทั้งเอ็นและข้อต่างๆได้รับแรงกดกระแทกมากผิดปกติต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเสื่อมและการบาดเจ็บอักเสบของเนื้อเยื่อดังกล่าว ทั้งนี้มักมีสาเหตุจากการเดินผิดวิธี การเดินและ/หรือวิ่งมาก การเดิน/วิ่งบนพื้นที่แข็งๆ เสมอๆ การสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินที่ทำให้กระดูกส้นเท้าและเนื้อเยื่อรอบๆต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้น และโรคข้ออักเสบจากสาเหตุต่างๆเช่น โรคเกาต์ หรือโรคข้อรูมาตอยด์

เมื่อเกิดการปวดเจ็บใต้ส้นเท้า มักเกิดจากการที่ย่ำหรือเดินบนพื้นที่ขรุขระ หรืออาจเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อของส้นเท้า หรือเกิดจากมีปุ่มกระดูกงอกที่กระดูกส้นเท้า (Heel spur, เกิดจากการบาดเจ็บเรื้อรังและการเสื่อมของเนื้อเยื่อรอบส้นเท้า)

เมื่ออาการปวดเจ็บเกิดด้านหลังส้นเท้า มักเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อเอ็นร้อยหวาย (Achilles tendinitis) ส่วนที่เกาะอยู่ที่กระดูกส้นเท้า จากการใช้งานข้อเท้าและส้นเท้ามากเกินไปนั่นเอง

การดูแลรักษาอาการปวดเจ็บส้นเท้าคือ พักงานการใช้ส้นเท้าจนกว่าอาการจะดีขึ้น ประคบเย็นบริเวณส้นเท้า ไม่ใช้ส้นเท้าอย่างรุนแรงต่อเนื่อง สวมใส่รองเท้าให้เหมาะสม กินยาบรรเทาปวด ลดและควบคุมน้ำหนักเมื่อมีโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน

เมื่อมีอาการปวดเจ็บส้นเท้า ควรพบแพทย์/แพทย์โรคกระดูก/ไปโรงพยาบาลเมื่อดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการปวดไม่ดีขึ้น หรือยังปวด/เจ็บมาก หรือส้นเท้าบวม ปวด แดง ร้อน

การป้องกันอาการปวดเจ็บส้นเท้าคือ สวมใส่รองเท้าให้เหมาะกับงานและกิจกรรมต่างๆ ในการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายต้องรู้จักเทคนิคที่ถูกต้อง กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบทุกมื้ออาหาร เพื่อความแข็งแรงของเนื้อเยื่อและของกระดูก ดูแลน้ำหนักตัวไม่ให้มีโรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกิน

บรรณานุกรม

  1. Heel pain http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00159 [2015,Oct3].
Updated 2015, Oct 3