พริก: ปวดท้องจากพริก (Chili pepper and stomach pain)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คุณค่าทางอาหารของพริก

พริก (Chili หรือ Chile หรือ Chilli หรือ Pepper) เป็นพืชถิ่นในทวีปอเมริกา มีหลักฐานว่า มนุษย์ที่อาศัยในทวีปอเมริการู้จักกินพริกอย่างน้อยตั้งแต่ 7,500 ปีก่อนคริสตกาล และในสมัยที่โคลัมบัส (Christopher Columbus) นักสำรวจชาวยุโรปค้นพบทวีปอเมริกา ได้เรียกชื่อพืชชนิดนี้ ว่า Pepper (พริกไทย) เพราะมีรสเผ็ดเหมือนกับพริกไทย ซึ่งหลังจากการค้นพบ ชาวยุโรปกลุ่มของโคลัมบัสได้เป็นผู้นำพริกกลับมาปลูกในพื้นที่ต่างๆในยุโรป ส่วนพริกที่แพร่หลายในเอเชียเชื่อว่าเกิดจากพ่อค้าชาวสเปนที่ยึดครองประเทศเม็กซิโก และทำการยึดครองหรือค้าขายกับประเทศในเอเชียเป็นผู้นำมาเผยแพร่ กระจายเข้าสู่ ฟิลิปปินส์ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย เกาหลี และญี่ปุ่น แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่าพริกเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไร

คุณค่าทางอาหารของพริกแดงสด 100 กรัม: คือ

  • ให้พลังงาน 40 กิโลแคลอรี (Kilocalorie)
  • คาร์โบไฮเดรต 8.8 กรัม
  • ไขมัน 0.4 กรัม
  • โปรตีน 1.9 กรัม
  • ใยอาหาร 1.5 กรัม
  • น้ำ 88 กรัม
  • วิตามิน เอ 48 ไมโครกรัม
  • สารบีตาแคโรทีน (Beta carotene, สารต้านอนุมูลอิสสระชนิดหนึ่ง) 534 ไมโครกรัม
  • วิตามิน บี6 0.51 มิลลิกรัม
  • วิตามิน ซี 144 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม (Potassium) 322 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม (Magnesium) 23 มิลลิกรัม
  • สารแคปไซชิน (Capsaicin/สารที่ก่อให้เกิดอาการเผ็ดร้อน ปวดแสบ ปวดร้อน) 0.01 - 6 กรัม

อนึ่ง คำว่า Chili, Chilli, และ Chile ที่แปลว่า พริกนี้ เป็นชื่อเรียกพืชชนิดนี้ในภาษาพื้น เมืองของประเทศเม็กซิโก ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวเนื่องกับประเทศชิลีแต่อย่างไร โดย Chile ที่เป็นประเทศมาจากภาษาพื้นเมืองของคนในทวีปอเมริกา ซึ่งสันนิฐานว่าอาจมาได้จากหลายทางเช่น ชื่อหุบเขาหนึ่งในประเทศชิลี หรือแปลว่า ดินแดนที่ลึกที่สุดของโลกหรือปลายโลก ซึ่งคือที่ตั้งของประเทศชิลี

พริกออกฤทธิ์ได้อย่างไร?

ปวดท้องจากพริก

พริกเป็นเครื่องชูรสที่สำคัญของคนไทย แต่เมื่อมีอาการปวดท้อง แสบท้อง/ระคายเคืองกระ เพาะอาหารและลำไส้ ท้องเสีย คลื่นไส้-อาเจียน หรือเป็นโรคกรดไหลย้อน, โรคกระเพาะอาหารอักเสบ, โรคแผลในกระเพาะอาหาร/หรือแผลเปบติค, และ/หรือโรคลำไส้อักเสบ รวมทั้งเมื่อเป็นโรคริดสีดวงทวาร แพทย์มักแนะนำให้กินอาหารจืด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เกร็ดสุขภาพเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) และให้พยายามหลีกเลี่ยง/งดการกินพริกเพราะรสเผ็ดของพริกจะกระตุ้นให้อาการต่างๆรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้เพราะ พริกมีสารประกอบที่เรียกว่า แคปไซชิน (Capsaicin) และสารประกอบในกลุ่มนี้อีกหลายชนิดที่รวมเรียกว่า แคปไซซินอยด์ (Capsaicinoid) ซึ่งสารเหล่านี้เมื่อเรา กิน, สูดดม, สัมผัสเยื่อเมือกต่างๆ เช่น เยื่อตา, หรือ สัมผัสผิวหนัง จะกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึกเผ็ด แสบร้อน ปวดแสบของเนื้อเยื่อเหล่านั้น จากเส้นประสาทจะนำความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นนี้เข้าสู่สมองส่วนรับความรู้สึกในสมองใหญ่ (Cerebrum) ซึ่งจะแปลให้เรารับรู้ถึงความรู้สึก เผ็ด แสบร้อน ปวดแสบ

พริกมีผลอย่างไรต่อร่างกาย?

พริกมีคุณค่าอาหารดังที่ได้กล่าวแล้วใน ‘บทนำ’ เป็นพืชให้พลังงานต่ำ แต่มีวิตามินซีสูง และพริกที่มีสี แดง ส้ม หรือเหลือง มีสารบีตาแคโรทีน (สารในกลุ่มวิตามินเอ และสารต้านอนุมูลอิสสระ) สูง

นอกจากนั้นสารที่มีสูงในพริกคือ สารแคปไซชิน และสารในกลุ่มนี้ซึ่งมีปริมาณมาก-น้อยขึ้นกับแต่ละสายพันธุ์ของพริก เป็นสารที่ก่ออาการ เผ็ด แสบร้อน ปวดท้อง เนื่องจากจะก่อการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกต่างๆที่สัมผัสสารนี้ทั้ง ตา จมูก ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร ทั้งนี้การก่อการระคายเคืองจะมากหรือน้อย นอกจากขึ้นกับชนิดของพริก, ปริมาณของพริกที่ได้รับ, ยังขึ้นกับธรรมชาติของแต่ละคนที่ทนได้หรือไวต่อสารแคปซาชินนี้, รวมทั้งโรคต่างๆที่มีอยู่แล้วของแต่ละเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่สัมผัสสารนี้ เช่น ถ้าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร, กระเพาะอาหารอักเสบ, โรคกรดไหลย้อน, หรือ โรคริดสีดวงทวาร, สารแคปไซชินก็จะก่ออาการระคายเคืองได้มากขึ้น

มีบางการศึกษาพบว่า สารแคปไซชิน อาจกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างกรดเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นการกินพริกจึงส่งผลถึงอาการของโรคทางกระเพาะอาหาร และโรคกรดไหลย้อน ให้มีมากขึ้น จากทั้งการก่อการระคายเคืองเยื่อเมือกโดยตรงและจากการเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษายืนยันแน่ชัดว่า พริกป้องกันหรือเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ, แผลในกระเพาะอาหาร, มะเร็งกระเพาะอาหาร, มะเร็งลำไส้ใหญ่, หรือมะเร็งชนิดต่างๆ, เพียงแต่อาจกระตุ้นให้อาการจากโรคเหล่านี้รุนแรงขึ้นจากการก่อการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร

ผู้ป่วยบางคนอาจแพ้พริกได้ (โรคภูมิแพ้) โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่แพ้ผักผลไม้ เช่น กล้วย กีวี ผลนัท (Nuts) และรวมไปถึงการแพ้กาวหรือสารที่มีส่วนผสมของกาวลาเทก (Latex)

ความเผ็ดและแสบร้อนของพริกจะกระตุ้นให้มีน้ำมูกและสารคัดหลั่งจากหลอดลมเพิ่มขึ้น หรือหายใจเร็วขึ้น ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ หรือ โรคปอด (เช่น โรคหืด) เมื่อกินพริกจึงอาจมีอาการเพิ่มมากขึ้นได้

ความเผ็ดและแสบร้อนจากพริก อาจกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หรือความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ดังนั้นผู้เป็นโรคเหล่านี้จึงควรระมัดระวังในการกินพริกเช่นกัน

ในด้านอารมณ์/จิตใจ แพทย์ทางจิตเวชบางท่านอธิบายว่า การกินพริกสำหรับคนบางคนจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นสมใจเช่นเดียวกับในการเล่นเครื่องเล่นผาดโผนในสวนสนุก

ในหญิงตั้งครรภ์ ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันชัดเจนถึงผลกระทบของพริกต่อการตั้งครรภ์หรือต่อทารกในครรภ์ แต่แพทย์ไม่แนะนำให้กินเมื่อตั้งครรภ์รวมถึงเมื่อให้นมบุตร เพราะสารแคปซาชินและสารในกลุ่มนี้จะผ่านออกมาในน้ำนม และก่ออาการระคายเคืองต่อทางเดินอาหารของทารก

อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้นำสารแคปชาชินมาผลิตเป็นยาแก้ปวด (จากคุณสมบัติที่กระตุ้นให้เกิดการแสบร้อนอาจช่วยบรรเทาอาการปวดจากโรคบางโรคได้เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง) ทั้งชนิดกินและชนิดแปะ, รวมทั้งใช้เป็นอาวุธ เช่น สเปรย์พริก เป็นต้น แต่ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับแผ่นแปะที่เพิ่มความร้อนหรือกระเป๋าไฟฟ้า เพราะจะเพิ่มการระคายเคืองต่อผิวหนังมากขึ้น

พริกมีปฏิกิริยากับยาอื่นไหม?

พริกหรือสารแคปซาชินและสารในกลุ่มนี้อาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิดได้ เช่น

ก. เพิ่มผลข้างเคียงจากยา: เช่น

  • ยาลดความดันโลหิต (ยาลดความดันยาลดความดันสูง ในเว็บhaamor.com)บางชนิด โดยจะทำให้ไอมากขึ้นจากการระคายเคืองทางเดินหายใจ
  • อาจเพิ่มการดูดซึมยาขยายหลอดลม Theophylline ส่งผลให้เพิ่มผลข้างเคียงจากยานี้เช่น หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียน คลื่นไส้-อาเจียน ท้องเสีย หรืออาการแพ้ยา (เช่น ริมฝีปาก ตา บวม ผิวหนังขึ้นผื่นคัน)

ข. ลดหรือเพิ่มประสิทธิภาพของยาบางชนิด: เช่น

  • ลดประสิทธิภาพของยาลดกรดหรือยาเคลือบกระเพาะอาหาร
  • ลดประสิทธิภาพของยาแอสไพรินในด้านลดอาการปวด
  • เพิ่มฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือด เลือดจะออกได้ง่ายขึ้น เช่น ยา Warfarin (Coumadin) รวมทั้งสมุนไพรที่ลดการแข็งตัวของเลือดเช่น กระเทียม และแปะก้วย และ
  • พริกอาจส่งผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำ ดังนั้นจึงอาจเพิ่มฤทธิ์ของยาเบาหวาน ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อกินหรือโดนสเปรย์พริก?

การดูแลตนเองเมื่อกินพริก คือ

  • สังเกตอาการตนเองเสมอเมื่อกินพริกโดยเฉพาะเมื่อกินพริกชนิดใหม่ๆรวมทั้งปริมาณของพริก เพื่อการดูแลตนเองในครั้งต่อๆไป
  • หลีกเลี่ยงกินพริกในปริมาณมากๆหรือพริกที่เผ็ดมากๆ เมื่อ
    • มีโรคในระบบทางเดินอาหารทุกโรค (เช่น มีแผลในช่องปาก โรคกรดไหลย้อย โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคริดสีดวงทวาร) โรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคมะเร็งในส่วนของศีรษะและลำคอ หรือ
    • เมื่อมีการฉายรังสีรักษาในบริเวณศีรษะลำคอ, บริเวณช่องอก, บริเวณช่องท้อง, บริเวณช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน รวมทั้ง
    • ระหว่างให้ยาเคมีบำบัด
  • ระมัดระวังการกินพริกที่เผ็ดจัดหรือปริมาณมากเมื่อต้องกินยาในโรคต่างๆโดยเฉพาะ ที่ได้กล่าวในหัวข้อ พริกกับปฏิกิริยากับยาต่างๆ
  • ระมัดระวังการสัมผัสพริกและไปสัมผัส ผิวหนัง ตา และเยื่อเมือกของจมูก ปาก
  • ระมัดระวังการกินพริก เมื่อแพ้พริก
  • เมื่อแสบปากคอจากกินพริก อาจช่วยได้ด้วยการอมน้ำแข็งหรือดื่มน้ำเย็น
  • เมื่อแสบท้อง ปวดท้อง จากการกินพริก อาการจะบรรเทาได้จากการดื่มนมหรือดื่มนมเย็นหรือกินยาเคลือบกระเพาะอาหาร
  • เมื่อเจ็บริดสีดวงทวารมากหลังกินพริก การดูแลตนเองคือการดื่มนม อาจร่วมกับ เหน็บยาหรือใส่ยาครีม/เจลสำหรับริดสีดวงทวาร
  • ถ้าพริกเข้าตา ล้างตาด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ กระพริบตาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำตา และหยอดน้ำตาเทียม
  • ควรพบแพทย์เมื่อ
    • มีอาการแพ้พริก เช่น ริมฝีปาก ใบหน้าบวม และ/หรือขึ้นผื่น
    • อาการแสบตาไม่ดีขึ้นหลังพริกเข้าตา และได้ดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น/อาการเลวลง
    • อาการ ปวดท้อง ท้องเสีย ไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตนเอง
    • มีอาการ ไอเป็นเลือด หอบเหนื่อย และ/หรือ หายใจลำบาก
    • อาเจียนและ/หรืออุจจาระเป็นเลือด และ/หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย

บรรณานุกรม

  1. Satyanarayana, M. (2006). Crit Rev Food Sci Nutr. 46, 275-328. [PubMed]
  2. Yu-Heng Chen, et al. (2017). Chin Med J (Engl). 130(18), 2241–2250
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Capsaicin [2020,May16]
  4. https://www.uspharmacist.com/article/capsaicin-risks-and-benefits [2020,May16]
  5. https://www.healthline.com/health/capsaicin-cream [2020,May16]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Chile [2020,May16]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Chili_pepper [2020,May16]
  8. https://healthfully.com/494337-cayenne-pepper-cancer-tumors.html [2020,May16]
  9. https://wjso.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12957-019-1615-7 [2020,May16]