ปวดกระดูกยืด (Growing pain) หรือ ปวดขากลางคืนในเด็ก (Benign nocturnal limb pains of childhood)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

ปวดกระดูกยืด/ปวดจากกระดูกยืด(Growing pain) คือ อาการปวดขาทั้ง2ข้างพร้อมกันในเด็กช่วงวัยเจริญเติบโต คือ 2-12ปี ที่มักเกิดช่วงกลางคืนซึ่งบ่อยครั้งทำให้เด็กปวดจนต้องตื่นร้องไห้จากปวด อาการมักเป็นปวดตุบๆ ซึ่งอาการจะหายเองและกลับเป็นปกติทุกอย่างในประมาณ 10-30นาที ซึ่งอาการปวดนี้ไม่มีผลต่อการใช้ขา เด็กใช้ขาได้ตามปกติรวมถึงไม่พบอาการผิดปกติอื่นใดของขาหรือของข้อร่วมด้วย ทั้งนี้ความถี่ของการเกิดอาการไม่แน่นอน อาจเกิด ทุกคืน, เกิดเป็นบางคืน, เกิดสัปดาห์ละ1-3ครั้ง, แต่จะเกิดเป็นๆหายๆ อาจเป็นเดือน, หลายเดือน, หรือ เป็นปี, ทั่วไปมักหายไปเองเมื่อเข้าวัยรุ่นคืออายุตั้งแต่13ปีขึ้นไป

อนึ่ง: ปวดกระดูกยืด หรือ ปวดจากกระดูกยืด เป็น ’อาการ’ ไม่ใช่’โรค’ (โรค-อาการ-ภาวะ), ชื่ออื่นของอาการนี้ คือ

  • ปวดขาจากกระดูกยืด
  • ปวดขากลางคืนในเด็ก (Benign nocturnal limb pains of childhood)

ปวดกระดูกยืด/ปวดขาจากกระดูกยืด/ปวดขากลางคืนในเด็ก พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ มีรายงานพบประมาณ 10%-20%ของเด็กวัยเจริญเติบโต บางรายงานพบสูงขึ้นเป็นประมาณ 40%ของเด็กในวัย 4-6ปี พบทั้งเด็กหญิงและเด็กชายใกล้เคียงกัน แต่บางรายงานพบในเด็กหญิงบ่อยกว่าเด็กชายเล็กน้อย

ปวดกระดูกยืดมีอาการอย่างไร?

ปวดกระดูกยืด

อาการของ ปวดกระดูกยืด/ปวดขาจากกระดูกยืด/ปวดขากลางคืนในเด็ก เป็นอาการปวดกล้ามเนื้อไม่ใช่ปวดกระดูกหรือปวดข้อ

  • อาการนี้จะพบในเด็กช่วงวัย 2-12 ปีซึ่งเป็นวัยกำลังเจริญเติบโต พบอาการได้สูงขึ้นใน 2 ช่วงวัยคือ ช่วง 3-5ปี, และช่วง 8-12 ปี
  • อาการในเด็กทุกคนจะเกิดที่ขา และเกิดกับขา2ข้างพร้อมกัน
  • น้อยคนพบเกิดที่แขน หรือบางคนมีปวดแขนร่วมด้วยแต่ต้องปวดทั้ง 2 แขน
  • เด็กบางคน อาจมีอาการ ปวดหัว และ/หรือปวดท้องร่วมด้วยได้ แต่พบน้อย
  • อาการปวดจะเป็นๆหายๆ ไม่แน่นอน อาจเกิด ทุกคืน, บางคืน, หรือสัปดาห์ละ1-3ครั้ง แตกต่างในเด็กแต่ละคน, อาจปวดเป็นๆหายๆนานเป็น เดือน,หลายเดือน, เป็นปี, แต่ทั่วไปมักหายไปเองเมื่อเข้าช่วงกลางๆของวัยรุ่นคืออายุตั้งแต่13-14ปีขึ้นไป

ลักษณะอาการปวด:

  • อาการปวดขาจะต้องเกิดทั้ง2 ขา, ถ้าปวดแขนก็ต้องเกิดที่แขนทั้ง 2 ข้างเช่นกัน
  • อาการอาจเริ่มเกิดช่วงตอนเย็น, หัวค่ำ, กลางคืน, หรือตอนดึก โดยอาการปวดมักรุนแรงช่วงดึกเด็กหลับจนเด็กต้องตื่นขึ้นมาร้องไห้จากปวด
  • อาการปวดแต่ละครั้ง ทั่วไปกินเวลาประมาณ 10-30นาที, คือ อยู่ในช่วงเป็นนาทีถึงเป็นชั่วโมง
  • เมื่อตื่นตอนเช้า อาการทุกอย่างจะเป็นปกติ
  • อาการปวดมักเกิดที่ หน้าแข้ง, น่อง, หน้าต้นขา, และ/หรือ ด้านหลังข้อเข่าแต่ไม่ใช่ปวดข้อเข้า, ข้อเข่ายังเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ
  • ลักษณะมักเป็นปวดตุบๆ อาจปวดมากน้อยขึ้นกับธรรมชาติความทนได้ต่ออาการปวดของเด็กแต่ละคน บางคนปวดจนร้องไห้
  • อาการปวดจะไม่พบมีความผิดปกติของ ขา แขน กล้ามเนื้อ หรือ ข้อร่วมด้วย เช่น ไม่บวม ไม่มีรอยช้ำ, ใช้ขา แขนได้ตามปกติ, กดไม่เจ็บ, เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ ขา แขน ข้อ ได้ตามปกติ
  • ไม่มีไข้ หรือ ขึ้นผื่น, บางคนอาจมีปวดหัว หรือ ปวดท้องร่วมด้วยแต่อาการไม่มาก
  • เมื่อตื่นเช้า เด็กจะเป็นปกติทุกอย่าง ไม่ปวด ไม่กะเผลกจากปวด ใช้แขน ขา ได้เป็นปกติ วิ่งเล่นได้ปกติ

ปวดกระดูกยืดมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุเกิดปวดกระดูกยืด/ปวดขาจากกระดูกยืด /ปวดขากลางคืนในเด็ก ‘แพทย์ยังไม่ทราบ’ แต่ที่แน่ชัดคือไม่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกายหรือของกระดูก ซึ่งจากการศึกษาต่างๆแพทย์เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับ

  • การใช้งานกล้ามเนื้อขาหรือแขนหักโหมมากเกินไปในช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นเหตุผลที่แพทย์เชื่อว่าน่าเป็นสาเหตุมากที่สุด
  • สาเหตุอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่น
    • ท่าทางในการเดิน นั่ง นอน เล่น ที่ซ้ำๆ หรือ ผิดท่าทาง
    • เด็กอาจมีธรรมชาติที่มีภาวะไวเกินต่ออาการปวดมากเกินปกติเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กไม่มีอาการ
    • ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจในแต่ละวันของเด็กโดยเฉพาะในเด็กที่มีปัญหาในครอบครัว

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดปวดกระดูกยืด?

เด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดปวดกระดูกยืด/ปวดขาจากกระดูกยืดยืด /ปวดขากลางคืนในเด็ก คือ

  • เด็กช่วงวัย2-12ปี, โดยพบสูงขึ้นใน 2 ช่วงอายุ คือ 3-5ปี, และช่วง 8-12ปี
  • เด็กที่กระโดดโลดเต้น และ/หรือ ปีนป่าย ทั้งวันเกินกำลัง
  • เด็กที่เครียดทั้งวัน หรือเด็กที่มีปัญหาในครอบครัว
  • เด็กที่มีภาวะไวเกินต่ออาการเจ็บปวดมากกว่าเด็กทั่วไป

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นปวดกระดูกยืด?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดกระดูกยืด/ปวดขาจากกระดูกยืด /ปวดขากลางคืนในเด็กได้จาก

  • อายุของเด็ก
  • อาการของเด็กดังได้กล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’ และแพทย์สอบถามไม่พบมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย
  • การตรวจร่างกายเด็กที่พบเป็นปกติทุกประการ

อนึ่ง: อาการปวดขาในเด็กที่เกิดจากโรคต่างๆ เช่น

  • เด็กมีประวัติอุบัติเหตุ
  • และ/หรือร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยกับอาการปวดขา หรือ มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคภูมิต้านตนเอง เป็นต้น

ทั้งนี้ อาการของโรคต่างๆที่มักเป็นสาเหตุให้เด็กปวดขา(ที่ไม่ใช่ปวดขาจากกระดูกยืด/ปวดขากลางคืนในเด็ก) อาจเกิดกับขาเพียงข้างเดียว หรือ 2ข้างขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • ขาที่เจ็บ บวม ข้อบวม อาจ บวม แดงร้อน มีรอยฟกช้ำ กดเจ็บตรงที่มีอาการเจ็บปวด หรือ มีแผล
  • คลำได้ก้อนเนื้อในตำแหน่งที่ปวด
  • มีการจำกัดการเคลื่อนไหวของ ข้อ แขน ขา ส่วนที่ปวด
  • เด็กมีข้อจำกัดการ เดิน วิ่ง เคลื่อนไหว จากการเจ็บปวด
  • แขน ขาส่วนที่ปวดผิดรูป
  • แขนขาส่วนปวด กระตุก สั่น
  • เดินกะเผลก, มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว เดิน วิ่ง
  • กล้ามเนื้อ แขน ขา ที่ปวด อ่อนแรง
  • เด็ก มีไข้ หรือ มีผื่นขึ้น

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ผู้ปกครอง/ผู้ดูแลเด็กควรนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เมื่อเด็กมีอาการปวดขาต่อเนื่อง เพื่อให้แพทย์หาสาเหตุก่อนจะสรุปว่าเป็นอาการจาก’ปวดขาจากกระดูกยืดยืด/ปวดขากลางคืนในเด็ก’ และควรรีบพบแพทย์ฯ โดยเฉพาะเมื่อเด็กมีอาการอื่นๆร่วมด้วย ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ การวินิจฉัยของแพทย์ฯ’

อาการของโรคต่างๆที่มักเป็นสาเหตุให้เด็กปวดขา(ที่ไม่ใช่ปวดขาจากกระดูกยืดยืด/ปวดขากลางคืนในเด็ก): โดยอาการผิดปกติต่างๆอาจเกิดกับขาเพียงข้างเดียว หรือ 2ข้างขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • ขาที่เจ็บ บวม ข้อบวม อาจ บวม แดงร้อน มีรอยฟกช้ำ กดเจ็บตรงที่มีอาการเจ็บปวด หรือ มีแผล
  • คลำได้ก้อนเนื้อในตำแหน่งที่ปวด
  • มีการจำกัดการเคลื่อนไหวของ ข้อ แขน ขา ส่วนที่ปวด
  • เด็กมีข้อจำกัดการ เดิน วิ่ง เคลื่อนไหว จกการเจ็บปวด
  • แขน ขาส่วนที่ปวดผิดรูป
  • แขนขาส่วนปวด กระตุก สั่น
  • กล้ามเนื้อ แขน ขา ที่ปวด อ่อนแรง
  • เด็ก มีไข้ หรือ มีผื่นขึ้น
  • เด็กมีการจำกัดในการเคลื่อนไหว หรือ เคลื่อนไหวได้ผิดปกติ

รักษาปวดกระดูกยืดอย่างไร?

การรักษาปวดกระดูกยืด/ปวดขาจากกระดูกยืด/ปวดขากลางคืนในเด็กคือ การรักษาตามอาการ ไม่มีวิธีเฉพาะ การดูแลรักษาทั่วไปที่แพทย์แนะนำ ได้แก่

  • นวดเบาๆบริเวณที่ปวด
  • ประคบร้อน/ประคบอุ่น(ประคบร้อนประคบเย็น)บริเวณที่ปวด
  • อาจให้เด็กอาบน้ำอุ่น
  • กินยาแก้ปวด ‘พาราเซตามอล’, ห้ามกินยาแอสไพรินเพราะจะมีผลข้างเคียงเฉพาะในเด็กคือเกิด ‘กลุ่มอาการราย’ ที่อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นสาเหตุการตายได้
  • ใช้การบริหาร/กายภาพบำบัดด้วยการค่อยๆยืดกล้ามเนื้อมัดที่มีอาการ’Stretching’เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ(ปรึกษาวิธีการจาก แพทย์ /นักกายภาพบำบัด) ควรทำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง หรือตามแพทย์/นักกายภาพฯแนะนำ
  • อื่นๆ: เช่น
    • พูดคุย ปลอบใจ อธิบายว่า ไม่ใช่เรื่องรุนแรง อาการหายเองได้เสมอ และเกิดได้กับเด็กเกือบทุกคนในวัยเดียวกัน และอาการจะหายเองเมื่อโตขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น แนะนำว่าการเล่นไม่ควรหักโหมเกินไป/เหนื่อยเกินไป ทั้งนี้เพื่อลดความกลัว ความกังวลของเด็ก
    • เด็กที่มีเท้าแบน แพทย์อาจแนะนำการสวมรองเท้าที่ช่วยพยุงการทำงานของกล้ามเนื้อเท้า/ขา

ปวดกระดูกยืดรุนแรงไหม?ก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ความรุนแรง/ การพยากรณ์โรคของอาการปวดจากกระดูกยืด/ปวดขาจากกระดูกยืดยืด /ปวดขากลางคืนในเด็ก: อาการนี้ เป็นอาการไม่รุนแรง มีการพยากรณ์โรคที่ดี ไม่มีผลต่อการใช้แขน/ขาของเด็ก ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือเกิดโรคใดๆ เด็กทุกคนจะหายเองได้เมื่อโตขึ้นที่มักอยู่ในช่วงกลางของวัยรุ่น และจะเติบโตได้ปกติเหมือนเด็กทั่วไป

ดูแลเด็ก/ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเด็กมีอาการปวดกระดูกยืด?

การดูแลอาการปวดกระดูกยืด/ปวดขาจากกระดูกยืด/ปวดขากลางคืนในเด็ก คือ

  • ถ้าพบความผิดปกติของขา/แขนส่วนที่ปวด หรือมีอาการอื่นๆร่วมด้วย ดังได้กล่าวใน ’หัวข้อ อาการฯ’ต้องรีบนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • ถ้าอาการปวดเกิดบ่อยแต่ไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย ก็ควรนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดจากสาเหตุใดเพื่อการดูแลเด็กได้ถูกต้องเหมาะสม
  • เมื่อยังไม่พบแพทย์ หรือ หลังพบแพทย์แล้ว การดูแลเด็กคือ ปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ ตัวอย่างเช่นดังได้กล่าวใน ’หัวข้อ การรักษาฯ’
  • นำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการเด็กไม่ดีขึ้น
    • มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย โดยเฉพาะที่ได้กล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’
    • เด็ก และ/หรือ ผู้ปกครองกังวล

ป้องกันปวดกระดูกยืดได้อย่างไร?

เนื่องจากอาการปวดกระดูกยืด/ปวดขาจากกระดูกยืดยืด /ปวดขากลางคืนในเด็กเป็นอาการที่แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ดังนั้นการป้องกันให้ได้ 100% เป็นไปไม่ได้ แต่อาจช่วยป้องกันหรือลดความถี่ของการเกิด หรือ ลดอาการปวดในแต่ละครั้งลงได้บ้าง โดย

  • ดูแลไม่ให้เด็กเล่นหักโหมจนเหนื่อยเกินไป
  • ฝึกการยืดกล้ามเนื้อขา(Stretching)ให้เด็กตามแพทย์แนะนำ
  • ดูแลเรื่องเท้าแบนกรณีเด็กมีเท้าแบน
  • ดูแลให้ความอบอุ่นใกล้ชิดกับเด็ก กรณีเด็กมีปัญหาทางอารมณ์จิตใจ ด้วยการปรึกษาคุณครู และอาจปรึกษาจิตแพทย์เด็กเพื่อร่วมกันช่วยดูแลเด็กด้านสุขภาพอารมณ์จิตใจ

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Growing_pains [2021, March27]
  2. https://www.hss.edu/pediatrics-what-are-growing-pains.asp [2021, March27]
  3. https://www.uptodate.com/contents/growing-pains [2021, March27]
  4. https://www.healthline.com/health/growing-pains [2021, March27]
  5. https://www.nhs.uk/conditions/growing-pains/ [2021, March27]
  6. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/growing-pains/symptoms-causes/syc-20354349 [2021, March27]
  7. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/13019-growing-pains [2021, March27]