ปรานีฆาต (Mercy killing)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ปรานีฆาต

ปรานีฆาต หรือ ความตายสบาย หรือ การุณยฆาต (Mercy killing หรือ Euthanasia)หมายถึง การช่วยให้ผู้อื่นเสียชีวิตเพื่อช่วยให้ผู้นั้นพ้นจากความทรมานที่มีอยู่(บางท่านหมายรวมถึงสัตว์ด้วย) ซึ่งถ้าแพทย์เป็นผู้ช่วยทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากสภาพ/โรคที่ทางการแพทย์ไม่มีวิธีรักษาให้หายและ/หรือที่โรคส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับความทรมานเป็นอย่างมากจนไม่มีคุณภาพชีวิต จะเรียกว่า “แพทยานุเคราะหฆาต (Physician-assisted suicide)”

ทั้งนี้ แพทยานุเคราะหฆาตในบ้านเรา เป็นสิ่งที่ผู้ป่วย ครอบครัวผู้ป่วย สถาบันทางการแพทย์ที่แพทย์ทำงาน แพทยสภา และสถาบันทางกฏหมายไทย ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วย/ครอบครัวร้องขอให้แพทย์ช่วยทำ”ปรานีฆาต” แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียด ในเว็บไซต์จากบรรณานุกรม ที่1

คำว่า Euthanasia “ศัพท์แพทย์ศาสตร์ อังกฤษไทย ไทยอังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547 แปลว่า ปรานีฆาต หรือ ความตายสบาย”

Euthanasia มาจากภาษากรีก แปลว่า ความตายสบาย หรือความตายดี (Well death หรือ Good death)

ปรานีฆาต แบ่งได้เป็นหลากหลายรูปแบบ(Type) ทั่วไปมักแบ่งเป็น 3 รูปแบบ โดยแบ่งตามความสมัครใจและการมีหนังสือยืนยันความประสงค์/สมัครใจของผู้ป่วย ได้แก่

ก. ปรานีฆาตด้วยใจสมัคร หรือ ปรานีฆาตด้วยสมัครใจ หรือ ปรานีฆาตด้วยจงใจ หรือ ปรานีฆาตด้วยเจตนา(Voluntary euthanasia): หมายถึง ผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะและตัดสินใจด้วยสติสัมปชัญญะ ที่ขอแพทย์ให้ช่วยผู้ป่วยเสียชีวิตโดยมีหนังสือยืนยันคำขอนั้น

ข. ปรานีฆาตโดยไม่สามารถแสดงความสมัคใจ หรือ ปรานีฆาตโดยไม่สามารถแสดงเจตนา(Non-voluntary euthanasia): หมายถึง ผู้ป่วยไม่ได้มีหนังสือยืนยันความประสงค์ปรานีฆาตเนื่องจากอยู่ในสภาพไม่มีสติสัมปชัญญะ เช่น ภาวะโคม่า ดังนั้นครอบครัวจึงเป็นผู้แทนที่ร้องขอและยืนยันด้วยหนังสือขอปรานีฆาตจากครอบครัวผู้ป่วย ซึ่งมักเป็นความประสงค์ของผู้ป่วยที่บอกกับครอบครัวและ/หรือกับแพทย์ไว้ก่อนผู้ป่วยขาดสติสัมปชัญญะ

ค. ปรานีฆาตโดยไม่สมัครใจ หรือ ปรานีฆาตโดยไม่เจตนา(Involuntary euthanasia): หมายถึงปรานีฆาตโดยปราศจากการยินยอมของผู้ป่วยทั้งในด้านความประสงค์หรือหนังสือยืนยันความประสงค์

ทั้งนี้ ปรานีฆาตทั้ง 3 รูปแบบ แต่ละรูปแบบยังแบ่งย่อยออกเป็น 2 รูปแบบย่อย คือแบ่งตามวิธีปรานีฆาต ได้แก่ Active euthanasia และ Passive euthanasia

  • ปรานีฆาตโดยตรง หรือ ปรานีฆาตเชิงรุก (Active euthanasia หรือ Direct euthanasia): คือ แพทย์เป็นผู้ทำปรานีฆาตแก่ผู้ป่วยโดยตรง เช่น เป็นผู้ฉีดยาให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
  • ปรานีฆาตโดยอ้อม หรือ ปรานีฆาตเชิงรับ(Passive euthanasia หรือ Indirect euthanasia)หรือบางคนเรียกว่า ปราณีฆาตเชิงสงบ(Non-aggressive euthanasia): หมายถึง แพทย์ไม่ให้การรักษาที่จะทำให้ผู้ป่วยยื้อความตาย หรือที่เพิ่มความทรมานให้กับผู้ป่วยและผู้ป่วยอาจเสียชีวิตสูงจากกระบวนการรักษานั้น ซึ่งแบ่งย่อยเป็น
    • Withdrawing treatment: หมายถึง หยุดการรักษาที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ เช่น การถอดเครื่องช่วยหายใจ
    • Withholding treatment: หมายถึง ไม่ทำการรักษาที่จะยืดความตายผู้ป่วยออกไปได้ในระยะเวลาสั้นๆเพียงเล็กน้อยที่กลับเป็นผลให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากกระบวนการรักษานั้นได้สูงมาก เช่น การผ่าตัด

อนึ่ง ปรานีฆาต เป็นเรื่องของ ทั้งกายและจิตใจ ศีลธรรม มนุษยธรรม ศาสนา/ความเชื่อ จรรยาบรรณ สิทธิผู้ป่วย กฏหมาย การยอมรับของสังคม ฯลฯ ทั่วโลกจึงยังเป็นเรื่องของการโต้แย้งกัน และยังไม่มีองค์กรใดให้ข้อบ่งชี้ในการทำปรานีฆาต เป็นเพียงระบุว่า “ผู้ป่วยและครอบครัวมีสิทธิในการร้องขอปรานีฆาตจากแพทย์” แต่แพทย์จะให้ความช่วยเหลือได้ต่อเมื่อ ต้องผ่านกระบวนการที่เป็นคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลากรหลายประเภท ที่สำคัญ เช่น แพทย์เจ้าของไข้ คณะแพทย์เฉพาะทางในโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ จิตแพทย์ ผู้บริหารโรงพยาบาล แพทยสภา นักกฏหมาย นักสังคมสงเคราะห์ และตัวแทนจากครอบครัวผู้ป่วย ฯลฯ ซึ่งหลักเกณฑ์หลักของประเทศไทยในเรื่องนี้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียด ในเว็บไซต์จากบรรณานุกรม ที่1

บรรณานุกรม

  1. นายนวพงษ์ บุญสิทธิ์: สิทธิปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยในวาระสุดท้าย 2553 สถาบันพัฒนา ข้าราชการฝายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ 2553 http://elib.coj.go.th/Ebook/data/judge_report/2553-68.pdf [2018,June9]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Euthanasia [2018,June9]
  3. https://www.nhs.uk/conditions/euthanasia-and-assisted-suicide/ [2018,June9]
  4. http://www.bbc.co.uk/ethics/euthanasia/overview/forms.shtml [2018,June9]
  5. https://medical-dictionary.thefreedictionary.com/Direct+Euthanasia [2018,June9]