ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 38 : ส่วนประกอบอื่นของหน่วยงานดูแลผู้ป่วย
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 7 กุมภาพันธ์ 2556
- Tweet
บริเวณสำคัญในหน่วยงานดูแลผู้ป่วย (Patient-care unit : PCU) คือสถานีพยาบาล ซึ่งมักเป็นศูนย์กลางกิจกรรมการบริหารจัดการ อาทิ การเก็บแฟ้มประวัติผู้ป่วย และบันทึกของพยาบาล (Nurse chart) สำหรับแพทย์ตรวจสอบและเขียนใบสั่ง เนื่องจากเอกสารต่างๆ เริ่มมีการเก็บในคอมพิวเตอร์ จึงเป็นบริเวณที่มีการติดตั้งคอมพิวเตอร์ เพื่อการใช้ของแพทย์ และพยาบาลในการบันทึกทุกอย่างเกี่ยวกับผู้ป่วย
ในบริเวณดังกล่าว มักจะมีห้องเก็บยา วิธีการจ่ายยาให้ผู้ป่วย ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากในระยะหลัง ในความพยายามที่จะลดความผิดพลาดในการจ่ายยา โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มมีการจัดยาเป็นรายครั้ง (Unit dose) แทนรายวัน (Daily dose) พร้อมด้วยรหัสแท่ง (Bar code) และในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ พยาบาลใช้คอมพิวเตอร์ในการจ่ายยา
ในเบื้องต้น พยาบาลจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการอ่าน (Scan) รหัสแท่งบนกำไลข้อมือ (Bracelet) ที่ทำด้วยกระดาษซึ่งระบุชื่อผู้ป่วยแต่ละราย เปรียบเทียบกับรหัสแท่งบนยาที่จัดเตรียมไว้ เมื่อตรงกันจึงจะจ่ายยาให้ผู้ป่วยรายนั้นๆ เครื่องคอมพิวเตอร์จะมีเสียงสัญญาณเตือนในกรณีที่ไม่ตรงกัน อาทิ จัดยาให้ผิดคน หรือถูกคนแต่จ่ายยาให้ผิดเวลา
เครื่องคอมพิวเตอร์ยังตรวจสอบหน่วยของยา ว่าตรงกับในตำรับ (Formulary) ของโรงพยาบาลที่กำหนดไว้ล่วงหน้าหรือไม่ หากไม่ตรงกัน พยาบาลต้องปรับให้ถูกต้อง ซึ่งอาจต้องลดลงครึ่งหนึ่ง หรือเพิ่มเป็นสองเท่า เป็นต้น เครื่องคอมพิวเตอร์ อาจเตือนให้ตรวจสอบผลตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการให้ตรงกับยา ก่อนอนุญาตให้พยาบาลจ่ายยาให้ผู้ป่วย
เครื่องคอมพิวเตอร์อาจติดตั้งไว้ในห้องผู้ป่วย หรืออยู่บนรถเข็นที่เคลื่อนย้ายไปตามห้องผู้ป่วยได้สะดวก การใช้คอมพิวเตอร์อย่างเหมาะสม จะช่วยการลดความผิดพลาดจากการจ่ายยา (Medication error) ได้มาก ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยและคุณภาพในการดูแลผู้ป่วย
ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่บางแห่ง ยาในคลังจะได้รับการควบคุมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถจ่ายยาโดยอัตโนมัติ ตามตารางเวลาการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแต่ละคน คลังยาดังกล่าวอาจเป็นตู้ในห้องผู้ป่วยหรือตู้บนรถเข็น (เพื่อเข็นระหว่างห้องผู้ป่วย) ที่มีลิ้นชักสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน แต่อยู่ในที่มั่นคงปลอดภัย (Secure) แยกจากเวชภัณฑ์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ
นอกจากนี้ภายใน PCU ต้องมีห้องแยกเฉพาะสำหรับรายการที่สกปรก รวมทั้งขยะอันตราย (Hazard) และมักมี ห้องพัก (Lounge) สำหรับพยาบาลรับประทานอาหาร ฝึกอบรมกลุ่มเล็ก (In-service) และเขียนรายงานระหว่างกะ (Change-of-shift report) มีห้องที่แพทย์ที่ให้คำปรึกษาญาติผู้ป่วย มีห้องสำหรับผู้ป่วยพบผู้เยี่ยมไข้ และอาจมีบริเวณที่มีตู้เก็บถ้วยชาม (Pantry) หรือครัวเล็กๆ สำหรับผู้ป่วยและญาติ อีกด้วย
ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ
แหล่งข้อมูล -
- Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
- ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)