ปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ปฎิกิริยาระหว่างยาNEW

ปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) เป็นคุณสมบัติและลักษณะเฉพาะของยาแต่ละตัวที่เมื่อนำไปใช้ร่วมกับอาหาร สารเคมี และ/หรือยาด้วยกันแล้ว อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฤทธิ์ในการรักษาเช่น เสริมฤทธิ์ในการรักษา หรือลดฤทธิ์ในการรักษา หรือเพิ่มการเป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งขอกล่าวกลไกและลักษณะการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาอย่างง่ายๆที่พบได้บ่อยดังนี้

1. กลไกทางเคมี เป็นการเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างยาแต่ละชนิดจนทำให้ฤทธิ์ในการรักษาเปลี่ยนไปเช่น ถ้ากินเพนิซิลลิน (Penicillin) พร้อมอาหาร ยาจะเกิดปฏิกิริยาเคมีกับกรดในกระเพาะอาหารทำให้สูญเสียความสามารถของยาในการรักษา

2. กลไกทางการดูดซึม เช่น การกินยาลดกรดจะลดการดูดซึมธาตุ (เกลือแร่) เหล็กในอาหาร หรือธาตุเหล็กที่มีอยู่ในกลุ่มยาวิตามิน

3. กลไกทางด้านการขับถ่าย การได้รับยาบางอย่างอาจทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่ เช่น การกินยาขับปัสสาวะจะทำให้ร่างกายขับเกลือแร่เช่น โซเดียม (Sodium) และ โพแทสเซียม (Potassium) ออกมากับน้ำปัสสาวะเพิ่มขึ้นจนส่งผลเสียต่อการทำงานในระบบต่างๆของร่างกาย

4. กลไกการเผาผลาญ ยาบางตัวอาจจะไปเร่งให้ร่างกายทำลายยาอีกตัวทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยาอีกตัวลดน้อยลงไป หรือในทางตรงกันข้าม เกิดการยับยั้งการทำลายของยาอีกตัวจึงทำให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกายเพิ่มขึ้น ปฏิกิริยาระหว่างยาชนิดนี้พบได้เป็นจำนวนมากในยาหลายตัว ดังนั้นจึงควรกินยาตามแพทย์พยาบาลหรือเภสัชกรแนะนำเสมอ

5. กลไกที่ร่วมกับจุลินทรีย์ ในกลุ่มยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) หลายตัวเมื่อรับประทานเข้าไปอาจไปทำลายจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ โดยจุลินทรีย์ดังกล่าวเป็นตัวสร้างวิตามินเคซึ่งเป็นวิตามินที่มีความสำคัญในการทำงานของเกล็ดเลือด

อนึ่ง ยังมีปฏิกิริยาระหว่างยาอื่นๆอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวไว้ในที่นี้ ประชาชนจึงไม่ควรรับประทานยาหลายขนานโดยตนเอง ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหรือพยาบาลในการกินยาหรือใช้ยาเสมอ

Updated 2015, Sept 19