บูโรซูแมบ (Burosumab)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 31 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- บูโรซูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- บูโรซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- บูโรซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- บูโรซูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- บูโรซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้บูโรซูแมบอย่างไร?
- บูโรซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาบูโรซูแมบอย่างไร?
- บูโรซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ภาวะขาดวิตามิน ดี (Vitamin D deficiency)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคทางพันธุกรรม (Genetic disorder)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- วิตามินดี (Vitamin D or Ergocalciferol)
- ฟอสฟอรัส (Phosphorus) ฟอสเฟต (Phosphate)
- แคลเซียม เกลือแร่แคลเซียม (Calcium)
- โรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets)
บทนำ
ยาบูโรซูแมบ(Burosumab) เป็นยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal antibodies) ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดภาวะฟอสฟอรัส/เกลือฟอสเฟต(PO43-)ในร่างกายต่ำ หรือที่เรียกตามศัพท์วิชาการว่า ‘X-linked hypophosphatemia ย่อว่า XLH ’ การเกิดพยาธิสภาพดังกล่าวส่งผลให้เกิดโรคกระดูกอ่อนในเด็ก(Rickets) ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากการขาดสารอาหารจำพวกวิตามินดี (ภาวะขาดวิตามินดี)โดยตรง
ยาบูโรซูแมบ มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นแบบยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดจนมีระดับสูงสุดเมื่อเวลาผ่านไป 8–11 วัน และต้องใช้เวลาประมาณ 19 วันในการทำลายและกำจัดทิ้งออกจากร่างกาย
ยาบูโรซูแมบ สามารถใช้บำบัดรักษากับผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป กลไกการออกฤทธิ์จะเป็นลักษณะลดการขับเกลือฟอสเฟตออกจากร่างกายที่บริเวณไต การมีระดับฟอสเฟตที่ปกติจะทำให้เกิดระดับแร่ธาตุ ฟอสฟอรัส ที่เหมาะสมต่อการเสริมสร้างและซ่อมแซมมวลกระดูก
นอกจากนี้ ยาบูโรซูแมบ ยังมีกลไกช่วยเพิ่มระดับ 1,25dihydroxy vitamin D ซึ่งเป็นวิตามินที่จำเป็นต่อการสนับสนุนมวลกระดูกให้มีความแข็งแรงทนทานได้มากยิ่งขึ้น
ยาบูโรซูแมบได้รับการรับรองและอนุมัติให้ใช้กับผู้ป่วย XLH เมื่อปี ค.ศ.2018 (พ.ศ.2561) และมีการจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Crysvita’
บูโรซูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาบูโรซูแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- ใช้บำบัดรักษาภาวะฟอสฟอรัส/ฟอสเฟตในเลือดต่ำซึ่งมีสาเหตุจากพยาธิสภาพที่เรียกว่า X-linked hypophosphatemia (XLH)
*หมายเหตุ: XLH เป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับฟอสเฟตในเลือดต่ำ ส่งผลให้มวลกระดูกอ่อนแอ ผู้ป่วย XLH จึงมักมีอาการปวดกระดูก กระดูกบิดเบี้ยวผิดรูป เกิดภาวะข้อเสื่อม(Osteoarthritis) นอกจากนี้ยังส่งผลต่อสุขภาพฟัน และทำให้สูญเสียการได้ยินอีกด้วย
บูโรซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ในร่างกายมนุษย์มีโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Fibroblast growth factor 23 (FGF23) โปรตีนนี้จะทำหน้าที่เด่นๆ อยู่ 2 ประการ คือ
- ยับยั้งการดูดเกลือฟอสเฟตกลับเข้าสู่กระแสเลือดที่บริเวณไต
- ลดการสร้างวิตามินดี
ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม(โรคทางพันธุกรรม)ตรงบริเวณยีน/จีน(Gene) ที่มีชื่อว่า PHEX gene จะก่อให้เกิดพยาธิสภาพที่เรียกว่า XLH ส่งผลให้ร่างกายสร้าง FGF23 มากผิดปกติเป็นผลให้เกิดภาวะ/โรคกระดูกอ่อนในเด็กตามมา
ยาบูโรซูแมบ มีกลไกการออกฤทธิ์ที่จะเข้ายับยั้งการทำงานของ FGF23 ส่งผลให้ไตสามารถดูดเกลือฟอสเฟตกลับเข้าสู่กระแสเลือด ฟอสเฟตจะทำให้การสะสมแคลเซียมในกระดูกเป็นปกติขึ้น พร้อมกับสนับสนุนการสร้างวิตามินดีที่บริเวณไตได้เหมือนเดิม
บูโรซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาบูโรซูแมบ:
- ยาฉีดปราศจากเชื้อ มีลักษณะใสจนถึงมัวเล็กน้อย และประกอบด้วยตัวยาBurosumab ขนาด 10, 20 และ 30 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
บูโรซูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาบูโรซูแมบมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเริ่มต้นเข้าใต้ผิวหนังขนาด 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 4 สัปดาห์ ขนาดใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 90 มิลลิกรัม
- เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป: ฉีดยาเริ่มต้นเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 2 สัปดาห์ ขนาดใช้ยาเริ่มต้นต่ำสุดอยู่ที่ 10 มิลลิกรัมและสูงสุด ไม่เกิน 90 มิลลิกรัม
อนึ่ง:
- ก่อนให้ยาบูโรซูแมบ ผู้ป่วยจะต้องหยุดการรับประทานเกลือฟอสเฟตและ วิตามินดีอย่างน้อย 1 สัปดาห์
- ผู้ป่วยต้องกลับมารับการตรวจระดับฟอสเฟตในเลือดตามที่แพทย์นัดหมาย
- หลังการตรวจระดับฟอสเฟต แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมต่อ ร่างกายผู้ป่วยเป็นลำดับไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่าหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบูโรซูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบูโรซูแมบ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมมารับการฉีดยาบูโรซูแมบ ให้ผู้ป่วยทำการนัดหมาย แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมารับการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว
บูโรซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาบูโรซูแมบสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดหัว วิงเวียน มีไข้
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน ปวดฟัน ติดเชื้อบริเวณฟัน ท้องผูก
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง, ระดับวิตามิน-ดีในร่างกายลดลง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ
อนึ่ง: อาการข้างเคียงดังกล่าว อาจเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายของแต่ละบุคคล
มีข้อควรระวังการใช้บูโรซูแมบอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้บูโรซูแมบ เช่น
- ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง โรคไตระยะสุดท้าย
- ห้ามใช้ยาบูโรซูแมบร่วมกับการรับประทานยากลุ่ม ฟอสเฟต/ฟอสฟอรัส และวิตามินดี
- ห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีลงมา
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
- มารับการฉีดยานี้ตามนัดหมายทุกครั้ง
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาบูโรซูแมบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
บูโรซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาบูโรซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาบูโรซูแมบร่วมกับยา Calcifediol, Calcitriol, Calcium glycerophosphate, และ Dihydrotachysterol ด้วยการใช้ยาร่วมกันจะทำให้ระดับฟอสฟอรัสและวิตามินดีในร่างกายสูงขึ้น จนก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิด นิ่วในไตหรือก่อให้เกิดพยาธิสภาพต่อ กระดูก กล้ามเนื้อ ตลอดจนกระทั่งมีภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาบูโรซูแมบร่วมกับยา Cinacalcet ด้วยจะทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำตามมา
ควรเก็บรักษาบูโรซูแมบอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาบูโรซูแมบ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ระหว่างการเก็บรักษา ห้ามนำยามาเขย่าเล่น
- ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติและห้ามทิ้งลงพื้นดิน
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
บูโรซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบูโรซูแมบมีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Crysvita (คริสวิต้า) | Ultragenyx Pharmaceutical Inc. |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2018/761068s000lbl.pdf [2020,Jan25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Burosumab [2020,Jan25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/X-linked_hypophosphatemia [2020,Jan25]
- https://www.drugs.com/ppa/burosumab.html [2020,Jan25]
- https://www.uofmhealth.org/health-library/hw202265 [2020,Jan25]