บูโพรพิออน (Bupropion)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 มีนาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือ ยาอะไร?
- บูโพรพิออนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- บูโพรพิออนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- บูโพรพิออนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- บูโพรพิออนมีขนาดรับประทานยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- บูโพรพิออนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้บูโพรพิออนอย่างไร?
- บูโพรพิออนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาบูโพรพิออนอย่างไร?
- บูโพรพิออนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- นิโคติน (Nicotine)
- โรคซึมเศร้า (Depression): สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า
- โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity disorder: ADHD)
- ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ลมชัก (Epilepsy)
- ยาอันตราย (Dangerous drug)
- ยารักษาโรคหืด (Asthma Medications)
บทนำ: คือ ยาอะไร?
บูโพรพิออน (Bupropion) อีกชื่อคือ Amfebutamone คือยาใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้า และยังใช้เป็นยาช่วยเลิกบุหรี่ ต่างประเทศจะรู้จักในชื่อการค้าว่า “Wellbutrin” และ “Zyban” มีบางประเทศแถบยุโรปใช้ยาบูโพรพิออนในขนาดที่แตกต่างจากขนาดรับประทานมาตรฐานโดยเฉพาะกับผู้ที่ติดบุหรี่
ยาบูโพรพิออน ถูกขึ้นทะเบียนและรับรองการใช้ครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532)
จุดเด่นของบูโพรพิออนเมื่อใช้เป็นยาต้านอารมณ์ซึมเศร้าจะไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงเรื่องน้ำหนักเพิ่มหรือสมรรถภาพทางเพศถดถอยเหมือนยาต้านอารมณ์ซึมเศร้าตัวอื่น แต่ในทางกลับกันบูโพรพิออนกลับเพิ่มอาการข้างเคียงของการเกิดอาการชักในผู้ป่วยมากขึ้น จนบางช่วงเวลายานี้ได้ถูกเพิกถอนออกจากตลาดการค้า และต้องปรับลดขนาดการรับประทานลงมาเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะพบเห็นเป็นยารับประทาน หลังจากที่ยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะเข้ารวมกันพลาสมาโปรตีนประมาณ 84% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างสม่ำเสมอ ร่างกายต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 11 ชั่วโมงในการกำจัดยาปริมาณ 50% ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะเสียเป็นส่วนใหญ่ บาง ส่วนก็จะถูกขับออกไปกับอุจจาระ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้บูโพรพิออนเป็นยาอันตราย และผู้ป่วยที่ได้รับยานี้จะต้องรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามมิให้ปรับขนาดรับประทานเองโดยเด็ดขาด
บูโพรพิออนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาบูโพรพิออนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาอาการซึมเศร้า (Depression)
- ใช้เป็นยาช่วยเลิกบุหรี่ (Smoking cessation)
- ใช้รักษาความผิดปกติในสมรรถภาพทางเพศ (Sexual dysfunction)
- รักษาอาการโรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder)
- ใช้เป็นยาลดน้ำหนักตัว/ยาลดความอ้วน
บูโพรพิออนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธ์ของยาบูโพรพิออน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของ สารสื่อประสาท ประเภท แคททีโคลามีน (Cathecolamine, สารเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ) เช่น นอร์แอะรีนาลีน (Noradrenaline) และ โดพามีน (Dopamine) อีกทั้งมีฤทธิ์ (แต่เพียงเล็กน้อย) ที่ทำให้เกิดการดูดกลับเข้าสมองของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) จากกลไกทางเคมีเหล่านี้ที่เกิดกับเซลล์ประสาทของร่างกายทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
บูโพรพิออนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาบูโพรพิออนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 75, 100, 150 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด
บูโพรพิออนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาบูโพรพิออนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับรักษาอาการซึมเศร้า:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง หากจำเป็นแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเพิ่มเป็น 100 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง ซึ่งขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 450 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
อนึ่ง การรับประทานยาแต่ละมื้อไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัม เมื่อใช้ยาไปสักระยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดการใช้ยานี้ และรีบปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินแนวทางการรักษาอีกครั้ง
ข. สำหรับช่วยลดการสูบบุหรี่:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นแพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดรับประทานเพิ่มเป็น 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
ค. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกสำหรับการใช้ยาบูโพรพิออนกับเด็ก
*****หมายเหตุ:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาบูโพรพิออน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบูโพรพิออนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาบูโพรพิออน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
บูโพรพิออนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาบูโพรพิออนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ปากคอแห้ง
- นอนไม่หลับ
- ปวดหัว
- ปวดไมเกรน
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ท้องผูก
- ตัวสั่น
- อาจพบอาการผื่นคัน
- บางคนอาจเกิดลมชัก
*****อนึ่ง: อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด เช่น เกิดอาการชัก, ประสาทหลอน, สูญเสียการควบคุมสติ, หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ (Sinus tachycardia), มีไข้ ,เกิดการสลายของกล้ามเนื้อ/กล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง/กล้ามเนื้อลายสลาย, ความดันโลหิตต่ำ, มีภาวะโคม่า, บางรายอาจถึงขั้นตายได้
ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันทีฉุกเฉิน ไม่แนะนำการกระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียนเพื่อขับยาออกจากกระเพาะอาหาร แพทย์จะใช้วิธีล้างท้องพร้อมกับการใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงรักษาระดับสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งจะต้องให้การรักษาภาวะนี้โดยแพทย์เท่านั้น
มีข้อควรระวังการใช้บูโพรพิออนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้บูโพรพิออน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก
- ห้ามใช้ยาบูโพรพิออนร่วมกับยากลุ่ม MAOI หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาบูโพรพิออน ควรหยุดยา MAOI เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะ ผู้เป็นเนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยเบาหวาน
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคจิต
- ระหว่างการใช้ยานี้ ให้ระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรจาก ผลข้างเคียงของยาที่อาจทำให้สูญเสียการควบคุมสติและประสาทหลอน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบูโพรพิออนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บูโพรพิออนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาบูโพรพิออนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาบูโพรพิออน ร่วมกับยา Aminophylline (ยารักษาโรคหืด), Ofloxacin, Amitriptyline, Phenylpropanolamine อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการลมชักโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาบูโพรพิออน ร่วมกับยา Dextromethorphan สามารถทำให้ระดับยา Dextromethorphan ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นได้ อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยา Dextromethorphan ติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาบูโพรพิออน ร่วมกับยา Chlorpheniramine สามารถทำให้ผลข้างเคียงของยา Chlorpheniramine มีมากขึ้น อาจหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไปเพื่อลดผลข้างเคียงดังกล่าว
- การใช้ยาบูโพรพิออน ร่วมกับ ยาสเตียรอยด์ เช่นยา Prednisolone สามารถทำให้เกิดอาการชักติดตามมาได้ การจะใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาบูโพรพิออนอย่างไร?
สามารถเก็บยาบูโพรพิออน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
บูโพรพิออนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบูโพรพิออน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Quomem (คูโอเมม) | GlaxoSmithKline |
Wellbutrin XL (เวลบูทริน เอ็กซ์แอล) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/bupropion.html [2021,Feb27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bupropion [2021,Feb27]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/bupropion/patientmedicine/bupropion%20-%20oral [2021,Feb27]
- https://www.mims.com/hongkong/drug/info/wellbutrin%20sr-wellbutrin%20xl?type=full [2021,Feb27]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/bupropion-index.html?filter=3&generic_only [2021,Feb27]