บูเดโซไนด์ (Budesonide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 พฤษภาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- บูเดโซไนด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- บูเดโซไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- บูเดโซไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- บูเดโซไนด์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- บูเดโซไนด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้บูเดโซไนด์อย่างไร?
- บูเดโซไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาบูเดโซไนด์อย่างไร?
- บูเดโซไนด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สเตียรอยด์ ยาสเตียรอยด์ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
- โรคโครห์น (Crohn’s disease)
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis)
- โรคหืด (Asthma)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
- เยื่อจมูกอักเสบ (Rhinitis)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาบูเดโซไนด์ (Budesonide)ชื่อการค้าคือ “ยา Pulmicort” ซึ่งคือยาในกลุ่ม Corticosteroid ประโยชน์ที่นำมาใช้ทางการแพทย์จะเป็นการรักษาโรคหืด (Asthma), โรคโครห์น (Crohn’s disease), และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis),
กลไกการออกฤทธิ์โดยรวมของตัวยานี้คือ ยับยั้งการรวมตัวของกลุ่มเม็ดเลือดขาวรวมถึงป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดการอักเสบ
ผลข้างเคียงที่พึงระวังของยาบูเดโซไนด์ คือ อาการหายใจไม่ออก อึดอัด หรือเกิดการบวมของใบหน้า ซึ่ง รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นชนิด ยารับประทาน, ยาสเปรย์จมูก, ยาพ่นคอ, รวมถึงยาโฟมที่ใช้ฉีดเข้าทวารหนัก
จากการศึกษาด้านการกระจายตัวของบูเดโซไนด์พบว่า เมื่อยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ปริมาณยาประมาณ 85 - 90% จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในเลือด ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครง สร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 3.6 ชั่วโมงในการกำจัด ยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ องค์การอนามัยโลกได้ระบุ ให้บูเดโซไนด์เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาบูเดโซไนด์อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุการใช้เป็นลักษณะของยาเดี่ยวและยาผสมร่วมกับยา Formoterol (ยารักษาโรคหืด และ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/ โรคซีโอพีดี) เราสามารถพบเห็นการใช้ยาบูเดโซไนด์ตามสถานพยาบาลและมีจำหน่าย ตามร้านขายยาใหญ่ๆโดยทั่วไป
ก่อนการเลือกใช้ยานี้ผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจคัดกรองและให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยา นี้เท่านั้น อีกทั้งต้องเคร่งครัดต่อวิธีการใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ
บูเดโซไนด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาบูเดโซไนด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาอาการโรคหืด (Asthma)
- รักษาโรคโครห์น (Crohn’s disease)
- รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis)
- รักษาอาการเยื่อจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้หูคอจมูก
บูเดโซไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาบูเดโซไนด์คือ ตัวยาจะเข้าควบคุมอัตราการสังเคราะห์โปรตีน และเกิดกระบวนการกดการเคลื่อนย้ายหรือการมาชุมนุมของเม็ดเลือดขาวและเซลล์สร้างเส้นใย (Fibro blasts) ในบริเวณที่มีการอักเสบ พร้อมกับเปลี่ยนแปลงการซึมผ่านของสารเคมีตามผนังหลอดเลือดฝอย ร่วมกับเพิ่มความคงตัวของ Lysosome (สารที่มีเกี่ยวข้องกับเอนไซม์ในการกำจัดเชื้อโรค) ที่ อยู่ภายในเซลล์ จากกลไกที่กล่าวมาส่งผลให้ยานี้มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
บูเดโซไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาบูเดโซไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาพ่น ขนาดความแรง 100 และ 200 ไมโครกรัม/การพ่น 1 ครั้ง
- ยาพ่นที่ผสมร่วมกับยา Formoterol เช่น
- Budesonide 80 ไมโครกรัม + Formoterol fumarate dihydrate 4.5 ไมโครกรัม,
- Budesonide 160 ไมโครกรัม + Formoterol fumarate dihydrate 4.5 ไมโครกรัม,
- Budesonide 320 ไมโครกรัม + Formoterol fumarate 9 ไมโครกรัม
- ยาสเปรย์ทางจมูก ขนาดความแรง 50 และ 64 ไมโครกรัม/การสเปรย์ 1 ครั้ง
- ยาชนิด Respules (ชนิดสูดดมผ่านเครื่อง) ขนาด 0.25, 0.5 และ 1 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร (ต้องใช้คู่กับเครื่อง Jet-nebulizer)
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 3 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบปลดปล่อยตัวยาอย่างช้าๆ ขนาด 9 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาโฟมที่ฉีดเข้าทางทวารหนัก ขนาดความแรง 2 มิลลิกรัม/การฉีด 1 ครั้ง
บูเดโซไนด์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ขนาดยาบูเดโซไนด์จะขึ้นกับชนิดของแต่ละโรคโดยมีแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้สั่งขนาดยา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการใช้ยาในโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง และ ในโรคหืด เช่น
ก. สำหรับลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 9 มิลลิกรัมวันละครั้งในตอนเช้าเป็นเวลา 8 สัปดาห์ขึ้นไป ควรรับประ ทานยาพร้อมหรือหลังอาหาร โดยห้ามเคี้ยวหรือบดยาก่อนกลืน ให้รับประทานยาทั้งเม็ดแล้วดื่มน้ำ ตามอย่างเพียงพอ
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดใช้ยานี้ของเด็กยังไม่มีการศึกษาและจัดทำอย่างเป็นทางการ
ข. รักษาอาการโรคหืด (Asthma): เช่น
อนึ่ง:ก่อนการใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องเรียนรู้ถึงวิธีการพ่นยาโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรให้ถูกต้อง และสามารถศึกษาการใช้ยานี้ได้จากคู่มือที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์
- ผู้ใหญ่: พ่นยาขนาด 200 - 400 ไมโครกรัม (0.2 - 0.4 มิลลิกรัม) วันละ 2 ครั้ง
- เด็กอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป: พ่นยาขนาด 200 ไมโครกรัม (0.2 มิลลิกรัม) วันละ 2 ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาบูเดโซไนด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบูเดโซไนด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาบูเดโซไนด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
บูเดโซไนด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาบูเดโซไนด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ทำให้ผิวหนังมีการสูญเสียคอลลาเจน
- อาจเกิดรอยด่างที่ผิวหนัง
- ผิวหนังที่สัมผัสยาเกิดระคายเคือง
- เกิดแผลในโพรงจมูกจนกระทั่งมีเลือดออกร่วมด้วย
- รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร
- คลื่นไส้เล็กน้อย
- ไอ
- ปากคอแห้ง
- เจ็บคอ_คออักเสบ
- ปวดหัว
- มีผื่นคันตามผิวหนัง
- กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
- อาจทำให้เกิดโรคเชื้อราในโพรงจมูก และ/หรือ เชื้อราช่องปาก
มีข้อควรระวังการใช้บูเดโซไนด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้บูเดโซไนด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามซื้อยานี้มาใช้ด้วยตนเอง
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้โดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ทำการรักษา
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับน้ำผลไม้ต่างๆ ควรรับประทานยานี้พร้อมน้ำดื่มธรรมดา ที่สะอาด
- หลังใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์อาจปรับแนวทางการรักษาใหม่
- ยานี้อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอลงไป ผู้ใช้ยานี้จึงควรหลีก เลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อต่างๆเช่น ผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส โรคหัด
- หากมีอาการผื่นคันขึ้นตามผิวหนังหรือมีอาการคล้ายกับแพ้ยา ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้ว รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล พร้อมนำยานี้ไปให้แพทย์ดูด้วย
- การใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานๆสามารถทำให้เกิดภาวะมวลกระดูกบาง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กระดูกพรุน กระดูกบาง) และทำให้เสี่ยงต่อภาวะกระดูกหักได้ง่าย ระยะเวลาการใช้ยานี้จึงควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ไม่ควรใช้ยานี้ชนิดพ่นที่ภาชนะบรรจุยาปริแตกหรือชำรุด
- เขย่าขวดยานี้ทุกครั้งก่อนการพ่นยา
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคอีสุกอีใส โรคหัด โรคงูสวัด วัณโรค ผู้ป่วยโรคเชื้อรา
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบูเดโซไนด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควร ต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บูเดโซไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาบูเดโซไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาบูเดโซไนด์ในขณะที่ผู้ป่วยได้รับวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ เพราะจะส่งผลให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของวัคซีนด้อยประสิทธิภาพลงไป
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาบูเดโซไนด์ร่วมกับการดื่มน้ำผลไม้เช่น Grapefruit juice ด้วยจะทำให้การดูดซึมของยาบูเดโซไนด์เพิ่มขึ้นจนอาจเสี่ยงกับผลข้างเคียงที่อาจติดตามมา
- การใช้ยาบูเดโซไนด์ ร่วมกับ ยาแก้ปวด เช่นยา Ibuprofen อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง เลือดออกง่าย วิงเวียน อุจจาระเป็นสีคล้ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เลือดออกในทางเดินอาหาร) หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบูเดโซไนด์ ร่วมกับ ยาต้านไวรัสบางตัว เช่นยา Zidovudine ด้วยเสี่ยงกับการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) ร่วมกับเกิดความเสียหายต่อไตและเป็นเหตุให้ปัสสาวะมีสีคล้ำเข้ม
ควรเก็บรักษาบูเดโซไนด์อย่างไร?
ควรเก็บยาบูเดโซไนด์:
- เก็บยาที่ช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
บูเดโซไนด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบูเดโซไนด์ มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aeronide 200 (แอโรไนด์ 200) | Aerocare |
Besonin Aqua (เบโซนิน อควา) | Synmosa |
Budecort CFC-Free (บูเดคอร์ท ซีเอฟซี-ฟรี) | Cipla |
Budesonide Inhalation CFC-Free (บูเดโซไนด์ อินฮาลาชั่น ซีเอฟซี-ฟรี) | Jewim |
BudeSpray (บูเดสเปรย์) | Medispray |
Budiair (บูดิแอร์) | Chiesi |
Bunase Nasal Spray (บูเนส นาซอล สเปรย์) | Okasa Pharma |
Bunase Respule (บูเนส เรสพิล) | Okasa Pharma |
Entocort EC (เอนโทคอร์ท อีซี) | ASTRAZENECA |
Giona Easyhaler (จีโอนา อิซี่ฮาเลอร์) | Orion |
Obucort (โอบูคอร์ท) | Otsuka |
Pulmicort (พูลมิคอร์ท) | AstraZeneca |
Pulmicort Turbuhaler (พูลมิคอร์ท เทอร์บูแฮเลอร์) | AstraZeneca |
Rhinocort Aqua (ไรท์โนคอร์ท อควา) | AstraZeneca |
Symbicort/Symbicort Forte (ซิมบิคอร์ท/ซิมบิคอร์ท ฟอร์ท) | AstraZeneca |
Uceris (ยูเซอริส) | SANTARUS INC |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Budesonide [2021,May15]
- https://www.drugs.com/mtm/budesonide.html [2021,May15]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/symbicort-symbicort%20forte-symbicort%20rapihaler?type=full [2021,May15]
- https://www.drugs.com/mtm/entocort-ec.html [2021,May15]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/budesonide-oral-route/description/drg-20073233 [2021,May15]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/budesonide-inhalation-route/precautions/drg-20071233 [2021,May15]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/budesonide%20aerosol%20cfc-free [2021,May15]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=budesonide&page=0 [2021,May15]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/budesonide?mtype=generic [2021,May15]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/budesonide-index.html?filter=3&generic_only= [2021,May15]