บูมีทาไนด์ (Bumetanide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 14 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- บูมีทาไนด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- บูมีทาไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- บูมีทาไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- บูมีทาไนด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- บูมีทาไนด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้บูมีทาไนด์อย่างไร?
- บูมีทาไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาบูมีทาไนด์อย่างไร?
- บูมีทาไนด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาขับปัสสาวะ
- ลูปไดยูเรติก (Loop diuretics)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
บทนำ
ยาบูมีทาไนด์(Bumetanide) เป็นยาขับปัสสาวะประเภท ลูปไดยูเรติก (Loop diuretics) โดยมีการออกฤทธิ์กับไตในบริเวณที่เรียกว่า ลูปออฟเฮนเล่ (Loop of Henle,ส่วนที่ดูดกลับเข้ากระแสเลือดของน้ำและเกลือโซเดียมจากปัสสาวะ) ทางคลินิก ใช้ยานี้ลดอาการบวมน้ำของร่างกายที่มีสาเหตุมาจาก โรคหัวใจ โรคตับ และโรคไต นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบว่า ยาบูมีทาไนด์มีความแรงมากกว่ายาขับปัสสาวะ Furosemide ถึง 40 เท่า จึงเหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาขับปัสสาวะ Furosemide เป็นปริมาณมากๆ
ลักษณะเภสัชภัณฑ์ของยาบูมีทาไนด์ มีทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีด โดยเฉพาะยานี้ชนิดยาฉีดจะถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการดูดซึมยาต่างๆจากระบบทางเดินอาหาร โดยทั่วไป ยาบูมีทาไนด์จะอยู่ในกระแสเลือดของผู้ป่วยได้นานเพียงประมาณ 1 – 1.5 ชั่วโมง ก็จะถูกขับทิ้งมากับปัสสาวะและบางส่วนออกมากับอุจจาระ
นอกจากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะแล้ว ยาบูมีทาไนด์ยังแสดงฤทธิ์เพิ่มการขับเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมออกจากกระแสเลือด และยังส่งผลให้ไตขับกรดยูริก/กรดยูริคทิ้งได้น้อยลงเช่นกัน ดังนั้นข้อระวังประการหนึ่งเมื่อใช้ยานี้คือ ต้องคอยตรวจสอบระดับโพแตทเซียมและกรดยูริกในเลือดให้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ ยังมี ข้อห้าม ข้อจำกัด ข้อควรระวัง ของการใช้ยาบูมีทาไนด์ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาบูมีทาไนด์กับผู้ที่ปัสสาวะไม่ออกซึ่งมีสาเหตุจากไตทำงานน้อยกว่าปกติ หรือผู้ที่มีปัสสาวะน้อยกว่า 500 มิลลิลิตร/วัน
- ห้ามใช้ยาบูมีทาไนด์กับผู้ที่มีภาวะเกลือ โซเดียม แคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม และเกลือไบคาร์บอเนต(Bicarbonate)ในเลือดต่ำ
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีอาการทางระบบประสาท/ สมองด้วยเหตุจากโรคตับระยะรุนแรง
- อาการป่วยหรือโรคประจำตัวบางอย่าง อาจได้รับผลกระทบอย่างมากเมื่อมีการใช้ ยาบูมีทาไนด์ เช่น ผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีระดับแก๊สไนโตรเจนในเลือดสูงกว่าปกติ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่อยู่ในภาวะขาดน้ำผู้ป่วย โรคไต โรคตับ
- การใช้ยาบูมีทาไนด์ร่วมกับยาต่างๆหลายชนิด สามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) เช่นยา กลุ่มAminoglycosides, Ibuprofen, Indomethacin, Chloral hydrate, Digitalis, และ Lithium
- สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาต่างๆหลายประเภทรวมถึงยาบูมีทาไนด์ด้วย ดังนั้นจึงต้องปรึกษาแพทย์/เภสัชกร ก่อนใช้ยาต่างๆเสมอ
- การใช้ยานี้อาจทำให้ผิวหนังแพ้แสงแดดได้ง่าย ระหว่างใช้ยาบูมีทาไนด์จึงมี ข้อแนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกแดด หรือกรณีอยู่ในที่แจ้ง ควรใช้ครีมกันแดดทาป้องกันผิวหนัง และควรสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมผิวหนังอย่างมิดชิด
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวาน สามารถส่งผลให้น้ำตาลในเลือดผิดปกติได้(อาจสูงขึ้น หรืออาจต่ำลง) จึงต้องตรวจสอบและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติเสมอ
- การตรวจเลือดดูการทำงานของไต และดูระดับอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte) เป็นสิ่งที่ต้องกระทำเป็นระยะๆตามแพทย์สั่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันความผิดปกติการทำงานของไต
- ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยาบูมีทาไนด์ แพทย์อาจต้องจ่ายยาเสริมเกลือโปแตสเซียม เพื่อป้องกันภาวะร่างกายพร่อง/ขากเกลือโปแตสเซียม ผู้ป่วยต้องใช้ยาโปแตสเซียม ตามขนาดที่แพทย์แนะนำเท่านั้น และห้ามปรับขนาดการใช้ยาเอง
- ยาบูมีทาไนด์สามารถทำให้เกิดอาการวิงเวียนและง่วงนอน หากมีอาการดังกล่าวหลังใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- *กรณีเกิดข้อผิดพลาดทำให้ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด จะทำให้ร่างกายเกิดสูญเสียน้ำ(ภาวะขาดน้ำ) พร่อง/ขาดอิเล็กโทรไลต์ รู้สึกสับสน เบื่ออาหาร อาเจียน เป็นตะคริว หากพบอาการเหล่านี้หลังการใช้ยานี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
การใช้ยาบูมีทาไนด์ผิดวิธี สามารถก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยได้ การใช้ยาชนิดนี้ควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ไม่ควรไปซื้อหาเพื่อนำมาใช้ด้วยตนเอง และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมของการใช้ยาบูมีทาไนด์ สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป
บูมีทาไนด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาบูมีทาไนด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ลดอาการบวมน้ำของร่างกายที่มีสาเหตุจาก โรคหัวใจล้มเหลว โรคตับ หรือ จากโรคไต
บูมีทาไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาบูมีทาไนด์มีกลไกการออกฤทธ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการดูดคืนกลับของเกลือโซเดียมและเกลือคลอไรด์(Chloride)ที่หน่วยไต จึงก่อให้เกิดแรงในการผลักดันน้ำออกมาเป็นปัสสาวะได้ตามสรรพคุณ
บูมีทาไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาบูมีทาไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยาBumetanide ขนาด 0.5 1และ2 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Bumetanide ขนาด 0.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
บูมีทาไนด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาบูมีทาไนด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 0.5–2 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หรือฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 0.5–1 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
- เด็กและผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง: ยานี้ ทั้งยาชนิดรับประทาน และยาฉีด อาจต้องมีการให้ยาซ้ำ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการบวมน้ำของผู้ป่วยโดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการใช้ยานี้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบูมีทาไนด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบูมีทาไนด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาบูมีทาไนด์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ดี การลืมหรือหยุดรับประทานยาบูมีทาไนด์เองโดยไม่มีคำสั่งแพทย์ จะทำให้อาการบวมน้ำของร่างกายทุเลาได้ช้าลง
บูมีทาไนด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาบูมีทาไนด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้ระดับ โซเดียม โปแตสเซียม และคลอไรด์ ในเลือดต่ำลง กรดยูริคในเลือดเพิ่มขึ้น ค่าน้ำตาลในเลือดผิดปกติ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เกิดภาวะLeukopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ)
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน อาจทำให้เกิดตับอ่อนอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ มีภาวะหูหนวก
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อไต: เช่น การกำจัดครีเอตินิน(Creatinine)ของไตลดน้อยลง/ ไตทำงานได้น้อยลง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ Stevens-Johnson syndrome
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
มีข้อควรระวังการใช้บูมีทาไนด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาบูมีทาไนด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่ไตทำงานน้อยกว่าปกติ ผู้ที่ปัสสาวะไม่ออก ผู้ที่มีปริมาณเกลือ อิเล็กโทรไลท์(Electrolyte)ในเลือดต่ำ ผู้ที่มีอาการตับวาย
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
- ห้ามใช้ยาบูมีทาไนด์เป็นยาลดน้ำหนัก
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สียาเปลี่ยนไป
- ห้ามรับประทานยานี้กับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรงขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้มีภาวะต่อมลูกหมากโต
- รับประทานยานี้ตรงตามขนาดและเวลาที่แพทย์สั่ง
- หลังได้รับยาบูมีทาไนด์แล้วมีอาการหูดับ/ หรือไม่ได้ยินเสียง ต้องเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและการตรวจเลือด ตามแพทย์สั่ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบูมีทาไนด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
บูมีทาไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาบูมีทาไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาบูมีทาไนด์ร่วมกับยากลุ่ม Aminoglycosides ด้วยเสี่ยงต่อการมีภาวะหูหนวกหรือไม่ได้ยินเสียง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาบูมีทาไนด์ร่วมกับยา Ibuprofen หรือ Indomethacin ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาบูมีทาไนด์ด้อยลงไป
- ห้ามใช้ยาบูมีทาไนด์ร่วมกับยา Chloral hydrate, Lithium ด้วยยาบูมีทาไนด์จะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยา Chloral hydrate และ Lithium มากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยาบูมีทาไนด์ร่วมกับยา Fentanyl ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำตามมา
ควรเก็บรักษาบูมีทาไนด์อย่างไร?
ควรเก็บยายาบูมีทาไนด์ภายใต้อุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
บูมีทาไนด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบูมีทาไนด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bumex (บูเม็กซ์) | F. Hoffmann-La Roche Ltd |
Burinex (บูริเน็กซ์) | F. Hoffmann-La Roche Ltd |
บรรณานุกรม
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/018225s024lbl.pdf [2017,Feb25]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/bumetanide-with-droperidol-fentanyl-433-0-945-0.html [2017,Feb25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bumetanide [2017,Feb25]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/bumetanide/?type=brief&mtype=generic [2017,Feb25]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00887 [2017,Feb25]