บูซัลแฟน (Busulfan)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 13 กุมภาพันธ์ 2559
- Tweet
- บทนำ
- ยาบูซัลแฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาบูซัลแฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาบูซัลแฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาบูซัลแฟนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาบูซัลแฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาบูซัลแฟนอย่างไร?
- ยาบูซัลแฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาบูซัลแฟนอย่างไร?
- ยาบูซัลแฟนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล (Chronic Myelogenous Leukemia:CML)
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็ง (Peripheral blood stem cell and bone marrow transplantation in cancer)
- เลือดหนืด หรือ ภาวะเม็ดเลือดแดงมากปฐมภูมิ (Polycythemia vera)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
บทนำ
ยาบูซัลแฟน (Busulfan) เป็นยาเคมีบำบัดกลุ่ม Alkylating agents ที่มีกลไกต้านมะเร็งโดยออกฤทธิ์จับหรือรวมตัวกับดีเอ็นเอ/DNA ของเซลล์มะเร็งแล้วเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนขึ้นส่งผล ทำให้ดีเอ็นเอแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนต่อไม่ได้ ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งถูกยับยั้ง
ยาบูซัลแฟนมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ทั้งในรูปยาสำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำและรูปแบบรับประทาน มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดไมอิลอยด์ (Chronic Myeloge nous Leukemia ย่อว่า CML) และใช้ร่วมกับยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide) ซึ่งเป็น ยาเคมีบำบัดอีกตัวเพื่อปรับสภาพร่างกายก่อนการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดการสร้างเม็ดเลือดจากผู้อื่น (Hematopoietic stem cell transplantation) ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว อีกทั้งยายังถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคทางโลหิตวิทยา/โรคเลือดอื่นๆเช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงข้น/โรคเลือดหนืด (Polycythemia Vera), ภาวะเกล็ดเลือดสูง (Thrombocytosis)
ยาบูซัลแฟนมีผลกดการทำงานของไขกระดูกที่ชัดเจน ขนาดยาและรูปแบบการบริหารยามีความแตกต่างกันออกไปตามข้อบ่งใช้ การใช้ยาบูซัลแฟนจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ผู้ป่วยที่กำลังได้รับยานี้ควรให้ความใส่ใจในการใช้ยานี้และติดตามอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง) ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดการรักษา และกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีหากมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นก่อนวันนัด เพื่อความปลอดภัยและผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ยาบูซัลแฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาบูซัลแฟนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดไมอิลอยด์ (Chronic Myelogenous Leukemia: CML) และใช้ร่วมกับยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophospha mide) ซึ่งเป็นยาเคมีบำบัดอีกตัวเพื่อปรับสภาพร่างกายก่อนการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดการสร้างเม็ดเลือดจากผู้อื่น (Hematopoietic stem cell transplantation) ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว อีกทั้งยายังถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคทางโลหิตวิทยา/โรคเลือดอื่นๆเช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงข้น/เลือดหนืด (Polycythemia Vera), ภาวะเกล็ดเลือดสูง (Thrombocytosis)
ยาบูซัลแฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาบูซัลแฟนเป็นยาเคมีบำบัดกลุ่ม Alkylating agents ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ต้านมะเร็งโดย ตัวยาจะออกฤทธิ์จับหรือรวมตัวกับดีเอ็นเอ/DNA ของเซลล์มะเร็ง แล้วเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนขึ้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีผลทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็งแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนต่อไปอีกไม่ได้ เนื่องจากยาบูซัลแฟนทำการยับยั้งการสร้างโปรตีน/การสร้างดีเอ็นเอและหยุดเซลล์มะเร็งไม่ให้มีการแบ่งตัวเกิดขึ้น
ยาบูซัลแฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาบูซัลแฟนในประเทศไทยมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ดังนี้
ก. ยาเม็ดสำหรับรับประทาน (Tablet): ขนาดยา 2 มิลลิกรัมต่อเม็ด โดยวิธีการบริหารยาเม็ดคือ ให้รับประทานยาทั้งเม็ด ห้ามบดหรือแบ่งเม็ดยาโดยเด็ดขาด เนื่องจากยานี้ดังได้กล่าวแล้วว่าเป็นยาเคมีบำบัด การบด การแบ่งเม็ดยา อาจทำให้เกิดการสัมผัสยาเคมีบำบัดที่อาจฟุ้งกระจายได้หลังการบด/แบ่งเม็ดยา และแนะนำให้สวมถุงมือยางทุกครั้งก่อนหยิบยาและรีบถอดถุงมือออกทิ้งแล้วล้างมือทันทีหลังรับประทานยาเสร็จ
ข. ยาสารละลายสำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous injection ย่อว่า IV injection):ขนาดยา 60 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร บรรจุ 10 มิลลิลิตรต่อขวด โดยวิธีการเตรียมยาเพื่อบริหารยา/ใช้ยาทำได้โดยเจือจางสารละลายยาด้วยน้ำเกลือสำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (0.9% Normal Saline Solu tion) หรือ D5W (5% Dextrose in water) โดยเจือจางจนได้ความเข้มข้นของสารละลายสุดท้ายเป็น 0.5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร จากนั้นบริหารยาแก่ผู้ป่วยโดยใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ควรพิจารณาให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำใหญ่ (Central line) ความคงตัวหลังเจือจางยาคือประมาณ 8 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้องหรือประมาณ 12 ชั่วโมงในตู้เย็น 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) จากนั้นบริหาร ยาโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
ยาบูซัลแฟนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาบูซัลแฟนเป็นยาเคมีบำบัดที่มีทั้งรูปแบบยาเม็ดและยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เป็นยาควบคุมพิเศษที่มีเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ดังนั้นไม่สามารถหาซื้อยาบูซัลแฟนได้จากร้านขายยาทั่วไป ขนาดยาและวิธีการบริหารยาสำหรับสำหรับเด็กและผู้ใหญ่อยู่ภายใต้การพิจารณาจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น โดยพิจารณาจากข้อบ่งใช้ของยาต่อโรคหรือต่อภาวะโรคที่ต้องการรักษา ทั้งนี้การปรับขนาดยามีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเช่น น้ำหนักตัวผู้ป่วย อายุ ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด/CBC (ปริมาณเม็ดเลือดขาว, ปริมาณเม็ดเลือดแดง และปริมาณเกล็ดเลือด ฯลฯ) ค่าการทำงานของไตและค่าการทำ งานของตับ รวมถึงยาชนิดอื่นๆที่ผู้ป่วยกำลังได้รับอยู่
ในการกำหนดขนาดยาบูซัลแฟนนั้นจะคำนวณขนาดยาที่ควรได้รับตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วย โดยน้ำหนักตัวที่นำมาใช้ในการคำนวณนั้นสามารถเลือกใช้น้ำหนักอุดมคติ (Ideal Body Weight, ค่าน้ำหนักตัวที่คำนวณได้จาก เพศ อายุ และส่วนสูง) หรือน้ำหนักจริงของผู้ป่วย โดยจะเลือกใช้น้ำหนักระหว่างน้ำหนักอุดมคติกับน้ำหนักจริง โดยน้ำหนักชนิดใดที่มีค่าน้อยกว่าจะนำมาใช้ในการกำหนดขนาดยา ดังนั้นหากท่านกำลังใช้ยานี้อยู่ควรรับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง ไม่เพิ่ม ลดหรือปรับขนาดยานี้ด้วยตนเองโดยเด็ดขาด หากท่านมีอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ที่รุนแรงจากยานี้ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเกิดขึ้นในช่วงระหว่างกำลังได้รับยาบูซัลแฟนอยู่ ท่านควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนกำหนดนัดเพื่อรับการรักษาอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาบูซัลแฟน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาบูซัลแฟนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบูซัลแฟน อาจมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยายาบูซัลแฟนถูกขับออกทางน้ำนมได้อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตร
- ประวัติอาการชัก/ประวัติการทำงานของตับบกพร่อง
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาบูซัลแฟนและมีวิธีการรับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้งให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 8.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 15.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 22.00 น.ของวันนั้น ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติช่วงเวลาเดิมได้เลยโดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม
กรณีลืมรับประทานยาและมีวิธีการรับประทานยาวันละ 4 ครั้งต่อวัน (ทุก 6 ชั่วโมง) ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อ) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 4 ครั้ง เวลา 6.00 น.,12.00 น., 18.00 น. และ 24.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 6.00 น. ตอนเวลา 8.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 6.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงห่างจากเวลารับประทานยาปกติถึงมื้อถัดไป) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 6.00 น. ตอนเวลา 10.30 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือเวลา 12.00 น. ในขนาดยาปกติโดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม
กรณีลืมบริหารยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำให้แก่ผู้ป่วยที่ได้รับยาบูซัลแฟนชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ให้ถือหลักการบริหารยาฉีดเช่นเดียวกับกรณีลืมรับประทานยาชนิดเม็ด
ยาบูซัลแฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาการ/ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาบูซัลแฟนที่พบได้บ่อยเช่น
- การกดไขกระดูก/กดการทำงานของไขกระดูก (Bone marrow suppression: ส่งผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ, โลหิตจาง และเกล็ดเลือดต่ำ จึงเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อโรค, ภาวะซีดทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และเลือดออกผิดปกติได้ง่าย)
- อาการของระบบทางเดินอาหารเช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เยื่อบุในช่องปากอัก เสบ ปากแห้ง ท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ
- อาการทางผิวหนังเช่น ผื่นแดง อาการคัน ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นสีเข้มมากขึ้น
- อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือดเช่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ความดันโลหิตสูง การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด หลอดเลือดขยายตัว
- อาการทางระบบทางเดินหายใจเช่น ไอ เลือดกำเดาไหล การหายใจผิดปกติ
ทั้งนี้หากท่านกำลังใช้ยาบูซัลแฟนอยู่และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังต่อไปนี้เช่น อาเจียนอย่างหนัก, ปวดท้องอย่างรุนแรง, ท้องเสียหรือถ่ายท้องอย่างมากจนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุน แรงและมีภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ (อาการที่สังเกตได้เช่น เหนื่อย สับสน อ่อนเพลีย อ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว) มีอาการเจ็บหน้าอก บวมน้ำ ปวดศีรษะ มีอาการเจ็บริมฝีปาก เจ็บภายในช่องปาก มีปัญหาภาวะเลือดออกเช่น อุจจาระมีสีดำ ปัสสาวะมีสีแดง มีจ้ำแดงๆ/ห้อเลือดตามผิวหนัง มีสัญญาณของภาวะติดเชื้อเช่น มีไข้ (สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส/Celsius) หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ หายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก มีอาการปวดหรือร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปวด บวม แดง และเจ็บตามร่างกาย หากท่านมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์/ไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สะดวกก่อนวันนัดโดยเร็ว/ทันทีฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ยาบูซัลแฟนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาบูซัลแฟนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- การใช้ยาบูซัลแฟนชนิดเม็ดรับประทานใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดไมอิลอยด์ (Chronic Myelogenous Leukemia: CML) ที่ได้รับการวินิจฉัยอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น
- ยาบูซัลแฟนเป็นยาเคมีบำบัด เพื่อลดความเสี่ยงในการที่ยาจะสัมผัสกับผิวหนังจึงจำเป็นต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง แนะนำให้ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสยานี้ รวมถึงควรสวมถุงมือยางทุกครั้งที่ถือขวดบรรจุยา การเตรียมยา และการบริหารยา/ใช้ยา
- การใช้ยาบูซัลแฟนในเด็กได้รับการรับรองให้ใช้ได้ในเด็ก ควรใช้ด้วยความระมัดระวังภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- การใช้ยาบูซัลแฟนในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอาจต้องการยานี้ในขนาดที่ต่ำลงกรณีผู้ป่วยมีแนวโน้มการทำงานของตับลดลงเพราะยานี้ถูกขจัดออกทางตับ แพทย์จะพิจารณาลดขนาดยาลงกรณีผู้ป่วย มีการทำงานของตับบกพร่อง
- การใช้ยาบูซัลแฟนในช่วงกำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากยานี้มีผลพิษต่อทารกในครรภ์อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ และหากอยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยานี้ถูกขับออกทางน้ำนมอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตรได้ ควรพิจารณา หยุดให้นมบุตรหากมารดากำลังได้รับยานี้อยู่ หรือหยุดการใช้ยานี้ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของมารดาต่อภาวะที่กำลังเป็นอยู่โดยควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- พิจารณาให้ยากันชักก่อนการบริหารยาบูซัลแฟนแก่ผู้ป่วย (Pre-medication) เพื่อป้องกันการเกิดอาการชักจากยาบูซัลแฟนขนาดสูง โดยให้ยากันชักก่อนยาบูซัลแฟนประมาณ 12 ชั่วโมง และให้อีก 24 ชั่วโมงภายหลังการให้ยาบูซัลแฟนครั้งสุดท้าย ยากันชักที่แนะนำให้ใช้เช่น ฟีนีทอยด์ (Phenytoin) หรือเลวีไทลาซิแทม (Levetiracetam) หรือวาโปรอิก เอซิด (Valproic acid) และควรระมัดระวังการใช้ยาบูซัลแฟนในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติชักหรือมีประวัติอุบัติเหตุทางศีรษะ
- ยาบูซัลแฟนทำให้เกิดการกดไขกระดูกอย่างรุนแรงโดยทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง, จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ, เกล็ดเลือดต่ำ, ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการติดเชื้อรวมถึงภาวะเลือดออกผิดปกติ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาบูซัลแฟน) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาบูซัลแฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาบูซัลแฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาบูซัลแฟนคู่กับยาดังต่อไปนี้ กลุ่มยาต้านเชื้อราเช่น ยาโครไตรมาโซล (Clotri mazole), ฟูโครนาโซล (Fluconazole), อิทราโครนาโซล (Itraconazole), คีโตโครนาโซล (Keto conaozle), โวลิโครนาโซล (Voriconazole); ทาโครลิมัส (Tacrolimus: ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค); เมโทรนิดาโซล (Metronidazole: ยาปฏิชีวนะ); ยาออนแดนซิตรอน (Ondansetron: ยาต้านอาเจียน); ยาพาราเซตามอล (Paracetamol: ยาแก้ปวด ยาลดไข้) เนื่องจากระดับยาบูซัลแฟนอาจเพิ่มสูงขึ้นจนเพิ่มโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาบูซัลแฟนได้สูง
2. แนะนำหลีกเลี่ยงการได้รับวัคซีนในช่วงที่ได้รับยาบูซัลแฟนโดยหลีกเลี่ยงวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live vaccines: หมายถึงวัคซีนเชื้อเป็นที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่เชื้อยังมีฤทธิ์เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายได้เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันฯต่อเชื้อโรคนั้นๆ) ตัวอย่างวัคซีนเชื้อเป็นเช่น วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนไวรัสโรตา และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก เป็นต้น) ดังนั้นในช่วงที่กำลังได้รับยาบูซัลแฟนอยู่และจำเป็นต้องได้รับวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็นได้ เพราะภูมิคุ้มกันฯของผู้ป่วยจะลดลง เชื้อโรคที่อ่อนฤทธิ์ในวัคซีนอาจจะก่อโรคได้ในช่วงนี้
3. เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษา กรณีผู้ป่วยกำลังได้รับยาบูซัลแฟนอยู่อาจพิจารณาปรึกษาเภสัชกรเพื่อตรวจสอบรายการยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยได้รับเพื่อลดโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาบูซัลแฟนกับยาชนิดอื่นๆ
ควรเก็บรักษายาบูซัลแฟนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาบูซัลแฟนดังนี้เช่น
ก. ยาบูซัลแฟนชนิดเม็ด: แนะนำเก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มากเช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน) ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้นเช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว โดยควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ข. ยาบูซัลแฟนชนิดสารละลายสำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ: สารละลายยาบูซัลแฟนในภาชนะบรรจุเดิม พิจารณาเก็บรักษาเช่นเดียวกับยาบูซัลแฟนชนิดเม็ด กรณีทำการเจือจางสารละ ลายยาบูซัลแฟนแล้ว สารละลายยาจะมีความคงตัว ณ อุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส/Celsius) เป็นเวลาประมาณ 8 ชั่วโมง ดังนั้นควรบริหารยาแก่ผู้ป่วยทันทีให้เสร็จสิ้นภายใน 8 ชั่วโมงภายหลังการเจือจางยา กรณีเก็บสารละลายยาที่เจือจางแล้วในตู้เย็นจะมีความคงตัวของยาเป็นเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ทั้งนี้สารละลายยาที่เก็บไว้เกินระยะเวลาความคงตัวที่กล่าวไว้โปรดพิจารณาทิ้งสารละลายยาทั้งหมด
ยาบูซัลแฟนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบูซัลแฟนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Myleran (ไมลีแลน) tablet 2 mg | Aspen Pharmacre |
Busulfex (บูซัลเฟก) vial 60 mg/mL | Otsuka Pharmaceutical |
บรรณานุกรม
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio:Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
- TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
- Product Information: Busulfex, Busulfan, Otsuka Pharmaceutical, Thailand.