บีเทน (Betaine /Betaine anhydrous)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาบีเทน(Betaine หรือ Betaine anhydrous) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่สกัดได้จากต้นบีท (Sugar beet, พืชชนิดหนึ่งที่มีรากเป็นหัวที่สะสมน้ำตาลสูง ใช้ผลิตน้ำตาลในอุตสาหกรรม) มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ ทางคลินิกได้ใช้ยาบีเทนเป็นยารักษาภาวะโฮโมซิสทินูเรีย(Homocystinuria) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมถ่ายทอดได้ ที่พบยาก ที่เกี่ยวกับความผิดปกติของการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนไปเป็นโปรตีน

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักจะมีระดับ สาร Homocysteine ในเลือดสูงเกิน 15 ไมโครโมล/ลิตร(ระดับ Homocysteine ของคนปกติควรอยู่ที่ 10–12 ไมโครโมล/ลิตร) ธรรมชาติร่างกายมนุษย์จะเปลี่ยนสาร Homocysteine ไปเป็นกรดอะมิโนชนิด Cysteine กับ Methionine จากนั้นมีกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนโดยอาศัย Cysteine และ Methionine ตามมา อย่างไรก็ตามกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนจาก Homocysteine จะต้องใช้ วิตามินบี 6, วิตามินบี 12 และกรดโฟลิก เป็นองค์ประกอบ ทางการแพทย์พบว่าผู้ที่ขาดวิตามินดังกล่าวจะมีโอกาสและความเสี่ยงต่อภาวะ Homocysteine ในเลือดสูงขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า Homocysteine เป็นสารประกอบที่สามารถก่อพิษต่อร่างกาย การมีระดับ Homocysteine สูงๆจะส่งผลเสียต่อการทำงานของ กล้ามเนื้อลาย, ระบบประสาท , หลอดเลือด, หัวใจ, การแข็งตัวของเลือด, ตลอดจนกระทั่งการมองเห็นของตา

การใช้ยาบีเทน สามารถลดปริมาณ Homocysteine ก็จริง แต่ยาชนิดนี้ไม่สามารถรักษาภาวะ Homocystinuria ได้เด็ดขาด ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์ โดยต้องปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้เหมาะสม การรับประทานเนื้อสัตว์มากเกินไปจะทำให้มีระดับ Homocyteine ในเลือดและในปัสสาวะสูงมากขึ้น จนส่งผลให้เกิดภาวะ Homocystinuria ตามมาในที่สุด

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของ ยาบีเทน เป็นยาผงแบบละลายน้ำรับประทาน ปัจจุบันเราจะพบเห็นการวางจำหน่ายยานี้ในต่างประเทศ ภายใต้ชื่อการค้าว่ายา ‘Cystadane’

บีเทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

บีเทน

ยาบีเทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • บำบัดภาวะ/โรค Homocystinuria

หมายเหตุ: ผู้ป่วย Homocystinuria จะมีระดับ Homocysteine ในเลือด และในปัสสาวะมากผิดปกติ จนก่อให้เกิดพิษต่อ กล้ามเนื้อ หลอดเลือด หัวใจ ระบบประสาท ตา การแข็งตัวของเลือด รวมถึงกระดูก และ กรณีที่เด็กเกิดภาวะHomocystinuria จะทำให้พัฒนาการของเด็กผิดปกติ

บีเทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ปกติร่างกายสามารถสังเคราะห์สารบีเทนขึ้นเองได้ โดยใช้สาร Choline เป็นสารตั้งต้นนักวิทยาศาสตร์จัดให้บีเทนเป็นสารประเภทกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ซึ่งมีธาตุไนโตรเจน และหมู่เมทิล(-CH3) 3 หมู่เป็นองค์ประกอบ บีเทนจะส่งถ่ายหมู่เมทิลให้กับสารประกอบ Homocysteine แล้วเกิดเป็นสาร Methionine ซึ่งจัดเป็นกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายขึ้นมา ด้วยกลไกนี้ทำให้ระดับ Homocysteine ในร่างกายลดลงตามสรรพคุณ

บีเทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ทั่วไป ยาบีเทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย คือ

  • ยาผงแห้ง ประกอบด้วย Betaine anhydrous 180 กรัม/ขวด

บีเทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาบีเทนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่3ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 3 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น
  • เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี: รับประทาน 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง จากนั้นแพทย์อาจให้เพิ่มปริมาณรับประทานต่อสัปดาห์อีก 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

อนึ่ง:

  • การรับประทาน สามารถละลายผงยานี้ในน้ำ 120 – 180 มิลลิลิตร หรือละลายกับ น้ำผลไม้ หรือนม หรือผสมกับอาหาร เพื่อรับประทานก็ได้
  • ระยะเวลารับประทานยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่ เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบีเทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาบีเทนอาจส่งผลให้ อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาบีเทนกับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจน ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานบีเทนควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาบีเทน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยานี้ในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

บีเทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบีเทนสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย รู้สึกไม่สบายในท้อง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะ Hypermethioninemia(ภาวะมีกรดอะมิโน Methionineในเลือดสูง ซึ่งมักไม่ก่ออาการ หรือ บางรายอาจมีอาการทางระบบประสาทได้), เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง มีกลิ่นตัวผิดปกติ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ

มีข้อควรระวังการใช้บีเทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบีเทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • การใช้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามซื้อยานี้มารับประทานเอง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ไม่หยุดใช้ยานี้โดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนลดลงอย่างเหมะสม และ หันมารับประทานอาหารจำพวก ผัก ผลไม้ และธัญพืช เพิ่มมากขึ้น
  • มารับการตรวจระดับ Homocysteine ในเลือด และในปัสสาวะตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ไม่ใช้ยาหมดอายุ
  • ไม่เก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาบีเทนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

บีเทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการเกิดปฏิกิริยาระหว่างบีเทนกับยารับประทานชนิดใด อย่างไร ก็ตาม การรับประทานยาใดร่วมกับยาบีเทน ควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

ควรเก็บรักษาบีเทนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาบีเทน เช่น

  • เก็บยาบีเทนภายใต้อุณหภูมิ15-30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาบีเทนในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาบีเทนในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและ ความชื้น
  • ไม่เก็บยาบีเทนในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาบีเทนให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาบีเทนที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาบีเทนลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

บีเทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบีเทน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cystadane (ซิสทาแดน)Rare Disease Therapeutics, Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://www.emedicinehealth.com/homocysteine/article_em.htm#what_are_the_signs_and_symptoms_of_elevated_homocysteine_levels_whos_at_risk[2019,May11]
  2. http://www.orphan-europe.com/healthcare-professionals/homocystinuria[2019,May11]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Homocystinuria[2019,May11]
  4. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1008/betaine-anhydrous[2019,May11]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/020576s010lbl.pdf[2019,May11]
  6. https://draxe.com/what-is-betaine/[2019,May11]
  7. https://www.drugs.com/sfx/betaine-side-effects.html[2019,May11]