บีพริดิล (Bepridil)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- บีพริดิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- บีพริดิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- บีพริดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- บีพริดิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- บีพริดิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้บีพริดิลอย่างไร?
- บีพริดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาบีพริดิลอย่างไร?
- บีพริดิลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- หัวใจโต (Cardiomegaly)
บทนำ
ยาบีพริดิล(Bepridil หรือ Bepridil hydrochloride)เป็นยาประเภท Amine calcium channel blocker ในอดีตเคยมีข้อคิดเห็นทางคลินิกว่า สามารถใช้ยานี้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดห้องบนเต้นผิดจังหวะได้ แต่ก็มีข้อมูลทางการแพทย์กล่าวแย้งว่า ยานี้ก็อาจเป็นสาเหตุให้หัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อบ่งใช้ในเอกสารกำกับยาของผู้ผลิตยานี้ได้ระบุว่า ยาบีพริดิลมีคุณสมบัติช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้หัวใจทำงานเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น และช่วยบำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด(Angina หรือ Angina pectoris)ได้ด้วย
ยาบีพริดิลมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นชนิดยารับประทาน หากแพทย์สั่งจ่ายยานี้ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องเพื่อให้ระดับยาในกระแสเลือดมีปริมาณเพียงพอสม่ำเสมอต่อการรักษาโรค ห้ามหยุดใช้ยาโดยพลการ เพราะอาจทำให้อาการของโรคกำเริบจนเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเอง ระหว่างใช้ยาบีพริดิล แพทย์จะแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวหรือพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อสภาพการเจ็บป่วย เช่น การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การออกกำลังกาย รวมถึงการพักผ่อนซึ่งจะช่วยสนับสนุนการใช้ยาบีพริดิลเพื่อรักษาโรคได้เป็นอย่างดี
โรคประจำตัวบางอย่างอาจก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ยาบีพริดิล เช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตต่ำ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยังรวมไปถึงกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาต่างๆรวมถึงยานี้ อย่างเช่น สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ที่ไม่เหมาะต่อการใช้ยานี้
*กรณีเกิดข้อผิดพลาด ที่ผู้ป่วยรับประทานยาบีพริดิลเกินขนาด ที่อาจสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้ เช่น วิงเวียน อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจขัด/หายใจลำบาก เป็นลม ผู้ป่วยมีอัตราการเต้นของหัวใจช้าและแผ่วลง พูดไม่ชัด มีอาการสับสน จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะโคม่า ซึ่งหากพบเห็นอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินสถานเดียวเท่านั้น
การรับประทานยาบีพริดิล ควรดื่มน้ำตามอย่างเพียงพอ และห้ามรับประทานยานี้ พร้อมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ รวมถึงมีอาการง่วงนอน และวิงเวียน อย่างมาก และจัดว่าเป็นสภาวะที่อันตรายต่อผู้ป่วย อย่างยิ่ง
แพทย์ เภสัชกร จะชี้แจงข้อมูลบางประการของยาบีพริดิลเพื่อให้ผู้ป่วยใช้เป็นข้อมูลความปลอดภัยเบื้องต้นขณะที่ใช้ยานี้ กล่าวคือ หากพบเห็นอาการ อึดอัด/ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ปาก-ลิ้น-ใบหน้ามีอาการบวม กลืนอาหารไม่ได้ หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง เป็นลม ตัวเหลือง ขาและข้อเท้ามีอาการบวม อาการเหล่านี้บ่งบอกสภาพการแพ้ยานี้ หรือความไม่เหมาะสมของร่างกายผู้ป่วยต่อยานี้เป็นอย่างมาก จึงต้องหยุดใช้ยานี้และรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังการใช้ยาประเภทอื่นๆร่วมกับยาบีพริดิล ด้วยตัวยาหลายประเภทสามารถสร้างภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)และผลเสีย(ผลข้างเคียง)กับตัวผู้ป่วยได้อย่างมากมาย เช่น ยากลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์(Beta blocker), Digitalis, Quinidine, Theophylline, Fentanyl, Gatifloxacin, Moxifloxacin, Ritonavir, Amprenavir, Sparfloxacin, Cisapride, และยาอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาใดๆร่วมกับยาบีพริดิลโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
อนึ่ง หากผู้ป่วยต้องการข้อมูลการใช้ยาบีพริดิลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้สั่งยา หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป
บีพริดิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาบีพริดิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาภาวะ/อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- บำบัดรักษาโรคความดันโลหิตสูง
บีพริดิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาบีพริดิลคือ ตัวยาจะยับยั้งการนำเข้าของเกลือแคลเซียมเข้าสู่กล้ามเนื้อของผนังหลอดเลือด รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้หลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำคลายตัว จนเป็นเหตุให้ความดันโลหิตลดลง จึงช่วยเพิ่มปริมาณเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจ ทำให้หัวใจใช้แรงบีบตัวน้อยลง เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย
บีพริดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาบีพริดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Bepridil ขนาด 200, 300, และ 400, มิลลิกรัม/เม็ด
บีพริดิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
บทความนี้ ขอยกตัวอย่างเฉพาะขนาดยาบีพริดิล สำหรับรักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris) ดังนี้ เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 200 มิลลิกรัม/วัน หากมีความจำเป็น แพทย์จะเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 300 มิลลิกรัม/วัน โดยเว้นระยะห่างจากการรับประทานขนาด 200 มิลลิกรัม/วันไปแล้วประมาณ 10 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ สามารถรับประทานยานี้ได้ทั้ง ก่อน หลัง หรือ พร้อมอาหาร
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของการใช้ยานี้กับเด็ก
อนึ่ง:
- การใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ แพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานลงมาตามความเหมาะสม
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบีพริดิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบีพริดิล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาบีพริดิล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ
บีพริดิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาบีพริดิลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เกิดภาวะLeukopenia(เม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำ), Neutropenia(เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ)
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน นอนไม่หลับ ตัวสั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ตัวบวม หัวใจเต้นช้าหรือเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน มีการหลั่งเหงื่อ/เหงื่อออกมาก
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย อารมณ์ทางเพศถดถอย
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก เยื่อจมูกอักเสบ ไอ มีอาการคล้ายโรคหวัด
มีข้อควรระวังการใช้บีพริดิลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาบีพริดิล เช่น
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยน
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจล้มเหลว ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่มีภาวะหัวใจโต ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
- การใช้ยานี้กับผู้ที่มีเนื้องอกสมอง อาจทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น
- รับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย พักผ่อนตามคำแนะนำของ แพทย์พยาบาล เภสัชกร ควบคู่ไปกับการใช้ยานี้
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาบีพริดิลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
บีพริดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาบีพริดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาบีพริดิลร่วมกับยากลุ่ม Beta-blocker ด้วยจะทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ
- การใช้ยาบีพริดิลร่วมกับยา Fentanyl อาจก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาบีพริดิลร่วมกับยา Amprenavir, Ritonavir, Gatifloxacin, Sparfloxacin และ Moxifloxacin, อาจก่อให้เกิดพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงต่อร่างกายผู้ป่วยจากยาบีพริดิล หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาบีพริดิลร่วมกับยา Carbamazepine, Ciclosporin, Digitalis, Quinidine, และ Theophylline, อาจทำให้ระดับยากลุ่มดังกล่าวในร่างกายสูงขึ้นจนก่อผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อร่างกาย กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาบีพริดิลอย่างไร?
ควรเก็บยาบีพริดิลตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
บีพริดิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบีพริดิล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Vascor (แวสคอร์) | Ortho-McNeil-Janssen Pharmaceuticals,Inc. |
บรรณานุกรม
- http://dxline.org/drug/medicament/24318/[2017,April15]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/bepridil/?type=brief&mtype=generic[2017,April15]
- http://www.rxlist.com/vascor-drug.htm[2017,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bepridil[2017,April15]
- http://dxline.org/drug/medicament/24318/#goto5[2017,April15]
- https://www.drugs.com/imprints/vascor-200-2492.html[2017,April15]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/bepridil,vascor-index.html?filter=3&generic_only=[2017,April15]