บีดาควิไลน์ (Bedaquiline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาบีดาควิไลน์ (Bedaquiline หรือ Bedaquiline fumarate) เป็นยาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อบำบัดรักษาวัณโรคชนิดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะต่างๆ โดยมีการขึ้นทะเบียนและรับรองการใช้ทางคลินิกในปี ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) จัดว่าเป็นยาใหม่ที่ใช้รักษาวัณโรคในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา โดยจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Sirturo” ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยสร้างพลังงานในการดำรงชีวิตของเชื้อวัณโรค (ATP synthase inhibition/ Adenosine triphosphate synthase inhibition) ส่งผลให้เชื้อวัณโรคไม่สามารถขยายพันธุ์และตายลงในที่สุด

ยาบีดาควิไลน์มีลักษณะเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้มากกว่า 99.9% ตับจะใช้เอนไซม์ซึ่งมีชื่อเรียกย่อๆว่า CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4) เพื่อทำลายโครงสร้างของยานี้เพื่อขับทิ้งไปกับอุจจาระ บีดาควิไลน์เป็นยาที่ต้องใช้เวลานานประมาณ 5.5 เดือน ในการกำจัดทิ้งออกจากกระแสเลือดซึ่งมีความสัมพันธ์กับอาการของวัณโรค ด้วยการรักษาวัณโรคในอดีตที่ต้องใช้ยาพื้นฐานหลายตัวร่วมรักษา อย่างเช่น Isoniazid, Rifampicin, Pyrazinamide, Ethambutol, ยาเหล่านี้จะถูกกำจัดออกจากร่างกายภายในไม่กี่ชั่วโมง และการรับประทานยาแต่ละวันอาจต้องใช้ยา 2 – 3 รายการและมีความถี่ของการรับประทานวันละ 3 – 4 ครั้ง แต่ยาบีดาควิไลน์ถือเป็นยาทางเลือกใหม่สำหรับเชื้อวัณโรคที่ดื้อต่อยาดั้งเดิม ทั้งด้านประสิทธิผลและความถี่ของการรับประทานยาเพียงวันละ1ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ใช้ยาบีดาควิไลน์อาจมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่พบได้บ่อย เช่น คลื่นไส้ ปวดข้อ ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก กรณีที่เกิดอาการข้างเคียงรุนแรง จะก่อให้เกิดความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(ECG)ในแบบที่เรียกกันว่า Prolongs the QT interval รวมถึงก่อให้เกิดอาการตับอักเสบที่อาจรุนแรงจนมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ยาบีดาควิไลน์ยังมีข้อห้ามใช้บางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ เช่น

  • ห้ามใช้บีดาควิไลน์กับการติดเชื้อวัณโรคในระยะแฝง/ซ่อนเร้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับการติดเชื้อวัณโรคประเภทนอกปอด (Extrapulmonary tuberculosis)คือติดเชื้อในอวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ เป็นต้น
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับการติดเชื้อที่ไม่ใช่เชื้อวัณโรค

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาบีดาควิไลน์เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองเพื่อให้บริการแก่ประชาชน เรายังไม่พบเห็นการใช้ยาบีดาควิไลน์ในประเทศไทยอย่างแพร่หลายก็จริง ทั้งนี้อาจต้องรอความเหมาะสมของปัจจัยการนำเข้า การผลิต ความจำเป็นเร่งด่วนของการใช้ยานี้รวมถึงสภาวะทางเศรษฐกิจ

หากต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาบีดาควิไลน์เพิ่มเติม ผู้บริโภคสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป

บีดาควิไลน์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

บีดาควิไลน์

ยาบีดาควิไลน์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาอาการวัณโรคปอดที่มีการพัฒนาตัวเองให้ดื้อต่อยารักษาวัณโรครุ่นดั้งเดิม

บีดาควิไลน์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาบีดาควิไลน์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะทำการยับยั้งการส่งผ่านธาตุไฮโดรเจน(Proton pump) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของเอนไซม์ ATP synthase ที่มีอยู่ในเชื้อวัณโรค ทำให้เชื้อวัณโรคขาดแคลนแหล่งพลังงาน(ATP)ในการดำรงชีวิต ส่งผลให้เชื้อฯหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์นี้ต้องอาศัยการรับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์นานถึง 24 สัปดาห์ จึงจะเห็นประสิทธิผลของการรักษา

บีดาควิไลน์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบีดาควิไลน์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Bedaquiline ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด

บีดาควิไลน์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาบีดาควิไลน์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 400 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง ใน 2 สัปดาห์แรก โดยใช้ร่วมกับยารักษาวัณโรคชนิดอื่นตามคำสั่งแพทย์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำกับดูแลการใช้ยากับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมที่สุด จากนั้นให้ลดขนาดการรับประทานลงมาเป็นครั้งละ 200 มิลลิกรัม โดยรับประทานสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และใช้ยาต่อเนื่องไปอีก 22 สัปดาห์
  • เด็ก: ทางคลินิกยังไม่มีข้อบ่งใช้ของยานี้สำหรับผู้ป่วยเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึง อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีองค์ประกอบของแอลกอฮอล์เพราะจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้
  • ทางคลินิกแนะนำการรักษาด้วยยาบีดาควิไลน์ติดต่อกัน 24 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยต้องรับประทานยาต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรตรวจสอบการทำงานของหัวใจและของตับร่วมด้วยตามคำสั่งแพทย์ ซึ่งหากพบความผิดปกติต่ออวัยวะดังกล่าว แพทย์จะรีบดำเนินการแก้ไขทันที

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบีดาควิไลน์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบีดาควิไลน์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาบีดาควิไลน์ควรปฏิบัติดังนี้

  • กรณีลืมรับประทานยาบีดาควิไลน์ในระหว่างสัปดาห์ที่ 1 และ 2 ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้อง เพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า กล่าวคือให้รับประทานยาในขนาดเดิม
  • ในระหว่างสัปดาห์ที่ 3 ถึงสัปดาห์ที่ 24 กรณีลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ ห้ามรับประทานยาเกิน 600 มิลลิกรัม/สัปดาห์
  • กรณีที่ลืมรับประทานยาแล้วไม่มั่นใจว่าควรจะรับประทานยาขนาดใด ให้กลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • กรณีรับประทานยาบีดาควิไลน์เกินขนาด ให้รีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาบีดาควิไลน์บ่อยครั้ง จะส่งผลทำให้การรักษาด้อยประสิทธิผล ผู้ป่วยควรรับประทานยาตรงตามคำสั่งแพทย์

บีดาควิไลน์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบีดาควิไลน์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร เอนไซม์อะไมเลส(Amylase,เอนไซม์ย่อยอาหารจากตับอ่อน)ในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลดลง
  • ผลต่อระบบกระดูกและข้อ: เช่น ปวดข้อ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอเป็นเลือด

อนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันผลข้างเคียงที่รุนแรง ระหว่างการรักษา แพทย์จะนัดมาทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจเลือดดูค่าเอนไซม์การทำงานของตับเป็นระยะๆ ผู้ป่วยควรต้องมารับการตรวจตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

มีข้อควรระวังการใช้บีดาควิไลน์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบีดาควิไลน์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีการติดเชื้อวัณโรคแบบแอบแฝง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยน เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามรับประทานยาพร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • เฝ้าระวังการทำงานของ หัวใจ ตับ ให้เป็นปกติเสมอตามแพทย์แนะนำ
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้แล้วมีอาการตัวเหลือง หรือเจ็บหน้าอกรุนแรง ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบีดาควิไลน์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

บีดาควิไลน์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบีดาควิไลน์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบีดาควิไลน์ร่วมกับยา Ketoconazole เป็นเวลานานมากกว่า 14 วัน ด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาบีดาควิไลน์กับผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น เช่น ก่อให้เกิดตับเป็นพิษ/ตับอักเสบ
  • การใช้ยาบีดาควิไลน์ร่วมกับยา Rifampin สามารถทำให้ระดับยาบีดาควิไลน์ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลให้ด้อยประสิทธิภาพของการรักษาตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาบีดาควิไลน์อย่างไร?

ควรเก็บยาบีดาควิไลน์ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

บีดาควิไลน์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบีดาควิไลน์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
SIRTURO (เซอร์ทูโร) Kemwell Pvt

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Bedaquiline#Mode_of_action [2017,Feb18]
  2. https://www.sirturo.com/ [2017,Feb18]
  3. https://www.sirturo.com/sites/default/files/pdf/SIRTURO-product-guide.pdf [2017,Feb18]
  4. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/204384s000lbl.pdf [2017,Feb18]