บิวพิวาเคน (Bupivacaine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 กุมภาพันธ์ 2560
- Tweet
- บทนำ
- บิวพิวาเคนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- บิวพิวาเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- บิวพิวาเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- บิวพิวาเคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- บิวพิวาเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้บิวพิวาเคนอย่างไร?
- บิวพิวาเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาบิวพิวาเคนอย่างไร?
- บิวพิวาเคนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthetics)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
- แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker)
บทนำ
ยาบิวพิวาเคน(Bupivacaine หรือ Bupivacaine hydrochloride) เป็นชื่อยาชาเฉพาะที่ ที่ใช้ลดความรู้สึกเจ็บปวด โดยมีกลไกปิดกั้นกระแสประสาทที่จะถูกส่งไปยังสมอง ยานี้ถูกค้นพบตั้งแต่ปี ค.ศ.1957 (พ.ศ.2500) มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด หลังจากตัวยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 95% ตัวยานี้สามารถซึมผ่านเข้าในน้ำนมมารดาได้ ตับจะมีหน้าที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายผู้ใหญ่ต้องใช้เวลานานประมาณ 3.5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดผ่านทางไต ในขณะที่เด็กทารกจะใช้เวลาการกำจัดยานี้นานถึงประมาณ 8.1 ชั่วโมง
ประโยชน์ทางคลินิกของยาบิวพิวาเคน คือการนำมาลดการเจ็บปวดระหว่างการทำคลอด การผ่าตัด รวมถึงหัตถการต่างๆทางการแพทย์ที่อาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดกับผู้ป่วย การใช้ยานี้จะต้องฉีดยาเข้าเฉพาะที่บริเวณที่ต้องการระงับอาการปวด หรือฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง ในบางกรณี อาจต้องใช้ยาบิวพิวาเคนร่วมกับยา Epinephrine เพื่อทำให้หลอดเลือดในบริเวณที่ฉีดยาหดตัว เพื่อช่วยลดการดูดซึมยาบิวพิวาเคนเข้าสู่กระแสเลือด และเพื่อส่งผลให้ยาบิวพิวาเคนออกฤทธิ์ได้นานยิ่งขึ้น ปกติหลังการฉีดยานี้ประมาณ 15 นาที ตัวยานี้ก็จะเริ่มออกฤทธิ์ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชาในบริเวณที่ฉีด โดยมีระยะเวลาออกฤทธิ์นานประมาณ 2– 8 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับ ขนาดยาที่ใช้ และการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยต่อยานี้
ผลข้างเคียงของยาบิวพิวาเคนคือ อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน กล้ามเนื้อกระตุก ได้ยินเสียงในหู/หูอื้อ การมองเห็นเปลี่ยนไป ความดันโลหิตต่ำ รวมถึงทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติไป ทางคลินิกพบว่า การฉีดยานี้เข้าข้อกระดูกสามารถส่งผลกระทบต่อกระดูกอ่อน คือทำให้กระดูกอ่อนอาจเกิดการสลายตัวได้
สำหรับการใช้ยาบิวพิวาเคนเพื่อลดอาการเจ็บครรภ์ระหว่างคลอด แพทย์จะใช้ยาบิวพิวาเคนในความเข้มข้นต่ำแต่ได้ประสิทภาพลดอาการปวดอย่างเหมาะสมปลอดภัยฉีดเข้าไขสันหลัง ด้วยยานี้อาจทำให้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานลดลง และมีผลให้ระยะเวลาคลอดเนิ่นนานออกไป
ก่อนได้รับยาบิวพิวาเคนผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ พยาบาล ทราบว่า ตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง ด้วยยานี้สามารถก่อให้เกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียงกับผู้ที่มีโรคหรืออาการป่วยบางประเภทได้เป็นอย่างมาก เช่น เป็นผู้ป่วยโรคโลหิตจาง เป็นโรคตับ โรคไต มีภาวะเลือดออกง่าย ป่วยเป็นซิฟิลิส โปลิโอ มีเนื้องอกสมอง หรือเนื้องอก ไขสันหลัง มีอาการชาตามร่างกาย ปวดหลังเรื้อรัง ปวดศีรษะเนื่องจากการผ่าตัด เป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคความดันโลหิตต่ำ เป็นผู้ที่มีกระดูกสันหลังคดหรือไม่เป็นแนวสัดส่วนปกติ ผู้ที่มีอาการข้ออักเสบ รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยาบิวพิวาเคน ทีมแพทย์/พยาบาลต้องเฝ้าระวังเรื่องสัญญาณชีพของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เช่น การหายใจ ความดันโลหิต ระดับออกซิเจนในเลือด
ผู้ป่วยบางกลุ่มที่ได้รับยานี้เข้าทางไขสันหลัง อาจเกิดอาการบางอย่างถาวร อาทิ สมรรถนะทางเพศเสื่อมลง การควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ ความรู้สึกของขาและเท้าไม่เหมือนเดิม หากพบอาการดังกล่าวควรกลับเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์บำบัดแก้ไขโดยเร็ว
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาบิวพิวาเคนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาล ควรมีสำรองเพื่อให้บริการกับผู้ป่วย ยานี้มีวางจำหน่ายในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า Marcaine, และ Regivell, เราจะพบการใช้ยาบิวพิวาเคนแต่ในสถานพยาบาล หรือในคลินิกทันตกรรม และการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
บิวพิวาเคนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาบิวพิวาเคนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่เพื่อ ระงับการเจ็บปวดเฉพาะที่ และ อาการเจ็บปวดของข้อกระดูก
- ใช้เป็นยาชาเพื่อหัตถการผ่าตัดต่างๆ เช่น การผ่าตัดท่อทางเดินสืบพันธุ์ (เช่น การทำหมันหญิง การทำหมันชาย) การผ่าท้องคลอด
บิวพิวาเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาบิวพิวาเคนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะปิดกั้นการเกิดสัญญาณของกระแสประสาท รวมถึงป้องกันการนำส่งกระแสประสาทจากบริเวณเนื้อเยื่อที่ได้รับยานี้ไปยังสมอง ส่งผลให้สมองไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกต่างๆ จากกลไกนี้ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชาและไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดเกิดขึ้น
บิวพิวาเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาบิวพิวาเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดขนาดความเข้มข้น 0.25 0.5 และ 0.75%
- ยาฉีดขนาดความเข้มข้น 0.75% ผสมร่วมกับสารละลาย Dextrose 8%
บิวพิวาเคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้/การบริหารยาชาบิวพิวาเคน มีหลายความเข้มข้นของตัวยา การเลือกใช้ยานี้ในขนาดใดนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ประกอบกับตำแหน่งเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ต้องการฉีดยา เช่น ข้อกระดูก ไขสันหลัง ทั้งนี้ แพทย์จะเริ่มใช้ยานี้ในขนาดต่ำแต่ก่อให้เกิดฤทธิ์ที่สูงสุดและมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วย ซึ่งขอยกตัวอย่างขนาดการใช้ยานี้พอสังเขป ดังนี้ เช่น
ก.สำหรับใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ (Local anesthesia):
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาดความเข้มข้น 0.25% ในบริเวณร่างกายที่ต้องการระงับความรู้สึกเจ็บปวด โดยหากเทียบเป็นน้ำหนักของตัวยาต้องไม่เกิน 175 มิลลิกรัม
ข.การฉีดยาเข้าไขสันหลัง:
- Caudal block(การฉีดยาชาเข้าช่องระหว่างกระดูกสันหลังส่วนล่างเพื่อระงับความรู้สึกเจ็บปวดของอวัยวะที่อยู่ต่ำกว่าสะดือลงไป): ผู้ใหญ่, ฉีดยาบิวพิวาเคนขนาดความเข้มข้น 0.25–0.5% ปริมาณ 15–30 มิลลิลิตร
- Epidural block(การฉีดยาชาเข้าในน้ำไขสันหลัง): ผู้ใหญ่, ฉีดยาบิวพิวาเคนขนาดความเข้มข้น 0.25–0.5% ปริมาณ 10–20 มิลลิลิตร ซึ่งกรณีทำหัตถการผ่าตัดที่ต้องการให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายอย่างมาก และมีความจำเป็นต้องใช้เวลาผ่าตัดนาน แพทย์อาจเปลี่ยนมาใช้ยานี้ที่ขนาดความเข้มข้น 0.75% ปริมาณ 10–20 มิลลิลิตรให้กับผู้ป่วย
ค. สำหรับปิดกั้นความรู้สึกเจ็บปวดของเส้นประสาทส่วนปลาย):
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาบิวพิวาเคนขนาดความเข้มข้น 0.25–0.5% ปริมาณ 5 มิลลิลิตร
*อนึ่ง: การใช้ยานี้กับเด็กให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบิวพิวาเคน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคโลหิตจาง โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบิวพิวาเคน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
บิวพิวาเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาบิวพิวาเคนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น กลั้นอุจจาระ-ปัสสาวะไม่อยู่ ความรู้สึกทางเพศถดถอย ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน อัมพาตช่วงล่าง/ช่วงตั้งแต่สะดือลงไป วิงเวียน ปวดศีรษะ ปวดหลัง ตัวสั่น อาจพบอาการลมชัก การคลอดตามธรรมชาติเกิดได้ช้า
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น กดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ปริมาณเลือดออกจากหัวใจลดลง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะหัวใจหยุดเต้น
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ตื่นเต้นง่าย หรือไม่ก็ซึม กระสับกระส่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หยุดหายใจ
มีข้อควรระวังการใช้บิวพิวาเคนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาบิวพิวาเคน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยน มีผง หรือตะกอนในยา
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบ ผู้ที่มีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ/เลือดออกที่สมอง ผู้ป่วยวัณโรคที่ไขสันหลัง
- *กรณีได้รับยานี้เกินขนาด อาจสังเกตจากอาการต่างๆเหล่านี้ เช่น เป็นลมชัก การไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า หัวใจหยุดเต้น
- หลังการใช้ยานี้แล้วเกิดความผิดปกติต่อร่างกาย เช่น ปวดหลัง เท้าชา ให้กลับมาขอคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบิวพิวาเคนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
บิวพิวาเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาบิวพิวาเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาบิวพิวาเคนร่วมกับยาชาเฉพาะที่ชนิดอื่น ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษจากยาชามากขึ้น
- ห้ามใช้ยาบิวพิวาเคนร่วมกับยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะกดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจตามมา
- การใช้ยาบิวพิวาเคนร่วมกับยา Beta-blockers และยา Calcium channel blockers อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาบิวพิวาเคนได้มากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาบิวพิวาเคนอย่างไร?
ควรเก็บยาบิวพิวาเคนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
บิวพิวาเคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบิวพิวาเคน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Regivell (เรจิเวล) | Novell Pharma |
Marcaine (มาร์เคน) | AstraZeneca |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Marcain, Buloc, Bupivac, Bupivan, Levo anawin, Bupicaine
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bupivacaine [2017,Jan14]
- https://www.drugs.com/mtm/bupivacaine.html [2017,Jan14]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/bupivacaine?mtype=generic [2017,Jan14]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/regivell/?type=brief [2017,Jan14]
- https://www.betterhealth.vic.gov.au/~/media/bhc/files/medicine%20guides%20library/04/cmi4874.pdf [2017,Jan14]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/018692s015lbl.pdf [2017,Jan14]
- https://www.medicines.org.uk/emc/PIL.8786.latest.pdf [2017,Jan14]
- http://reference.medscape.com/drug/marcaine-sensorcaine-bupivacaine-343360 [2017,Jan14]
- https://www.drugs.com/sfx/bupivacaine-side-effects.html [2017,Jan14]