บิวทอลบิทอล (Butalbital)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 ตุลาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- บิวทอลบิทอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- บิวทอลบิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- บิวทอลบิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- บิวทอลบิทอลมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- บิวทอลบิทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้บิวทอลบิทอลอย่างไร?
- บิวทอลบิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาบิวทอลบิทอลอย่างไร?
- บิวทอลบิทอลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- บาร์บิทูเรต (Barbiturate)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants drugs)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
บทนำ
ยาบิวทอลบิทอล(Butalbital) เป็นยาในกลุ่มยาบาร์บิทูเรต (Barbiturate) ที่มีการออกฤทธิ์ในระยะเวลาสั้นๆถึงระยะเวลาระดับกลางๆ ยานี้สามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร และจะกระจายตัวจากกระแสเลือด เข้าสู่เนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกาย และซึมผ่านเข้าในน้ำนมมารดาได้ ตัวยาจะอยู่ในกระแสเลือดได้นานถึงประมาณ 35 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับออกไปกับปัสสาวะ
ทางเภสัชกรรม รูปแบบการใช้ยาบิวทอลบิทอลมักอยู่ในรูปแบบตัวยาที่ผสมร่วมกับยาแก้ปวดชนิดอื่น เช่น
- Butalbital + Acetaminophen
- Butalbital + Paracetamol + Caffeine
- Butalbital + Aspirin
- Butalbital + Aspirin + Caffeine
- Butalbital + Paracetamol + Caffeine + Codeine phosphate
- Butalbital + Aspirin + Caffeine + Codeine phosphate
- Butalbital + Ergotamine tartrate + Caffeine + Belladonna alkaloids
ยาบิวทอลบิทอล มีกลไกการออกฤทธิ์ที่กดการทำงานของสมอง ส่งผลใก้เกิดฤทธิ์สงบประสาท/ยาคลายเครียด ช่วยให้นอนหลับ บางครั้งก็นำมาใช้รักษาโรคลมชัก โรคไมเกรน และบรรเทาอาการโรควิตกกังวล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มบิวทอลบิทอลจะไม่ถูกเลือกใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะเป็นทางเลือกแรกๆ ด้วยตัวยาจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกกระตือรือร้นของร่างกาย และอาจเกิดภาวะติดยาตามมา
การรับประทานยาบิวทอลบิทอลร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ จะก่อให้เกิดพิษต่อร่างกาย เช่น กดการทำงานของระบบหายใจ(หายใจช้า หายใจตื้นๆ เบา อาจถึงหยุดหายใจ) หรือกรณีสูตรตำรับที่มีส่วนผสมของยา Acetaminophen ก็อาจทำให้เกิดพิษต่อตับ/ตับอักเสบได้
จากกลไกการออกฤทธิ์หลักๆของยาบิวทอลบิทอลที่เช่นเดียวกับของยาบาร์บิทูเรตโดยตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ GABA receptors ในสมอง ทำให้ผู้ที่ได้รับยานี้จะมีอาการถูกกดความรู้สึกรับรู้ของสมอง ในขณะที่ยาอื่นๆที่ถูกนำมาผสมร่วมกัน ก็จะออกฤทธิ์ตามธรรมชาติของตัวมันเอง เช่น Aspirin, Acetaminophen, ที่ช่วยเสริมฤทธิ์ของการบรรเทาอาการปวด เป็นต้น
ในด้านข้อห้ามใช้อื่นๆของยาบิวทอลบิทอล จะเป็นเรื่องของการห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ยานี้ หรือแพ้ตัวยาที่เป็นส่วนผสมในสูตรตำรับของยานี้ รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรค Porphyria (โรคพบยาก ที่เป็นโรคทางพันธุกรรม จากมีการผิดปกติในการทำงานของเม็ดเลือดแดง) ก็ไม่เหมาะที่จะใช้ยาบิวทอลบิทอล
ดังนั้น การจะใช้ยาบิวทอลบิทอลสูตรตำรับใด จะต้องเป็นหน้าที่ของแพทย์แต่เพียงผู้เดียวที่จะเป็นผู้สั่งการใช้ยา โดยผู้ที่ได้รับยานี้ จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
บิวทอลบิทอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาบิวทอลบิทอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บรรเทาอาการปวดศีรษะ
- บรรเทาอาการปวดตามร่างกาย
บิวทอลบิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาบิวทอลบิทอลคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อตัวรับในสมองที่ชื่อ GABA receptors และส่งผลกดการทำงานของกระแสประสาท ซึ่งการใช้ยานี้ที่ถูกขนาดยา ถูกอาการโรค จะก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
บิวทอลบิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาบิวทอลบิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
ก. ยาแคปซูลชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบ เช่น
- Butalbital 50 มิลลิกรัม + Acetaminophen 325 มิลลิกรัม+ Caffeine 40 มิลลิกรัม+ Codeine phosphate 30 มิลลิกรัม/แคปซูล
ข. ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบ เช่น
- Butalbital 50 มิลลิกรัม + Acetaminophen 300 มิลลิกรัม/เม็ด
- Butalbital 50 มิลลิกรัม + Acetaminophen 650 มิลลิกรัม/เม็ด
- Butalbital 50 มิลลิกรัม + Acetaminophen 325 มิลลิกรัม + Caffeine 40 มิลลิกรัม/เม็ด
บิวทอลบิทอลมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?
ยาในกลุ่มบิวทอลบิทอลมีหลายสูตรตำรับยา ขนาดรับประทานและวิธีใช้ยานี้ ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย สาเหตุของอาการปวด อายุผู้ป่วย โรคประจำตัว รวมถึงมีการใช้ยาอื่นๆร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ และห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับเพิ่ม–ลดขนาดรับประทานยานี้เอง ดังนั้นในบทความนี้จึงขอไม่กล่าวถึงขนาดการใช้ยานี้
อนึ่ง ผู้ป่วยสามารถหาข้อมูลรายละเอียดของการใช้ยาบิวทอลบิทอล เช่น ข้อห้าม ข้อควรระวัง การเก็บรักษา ฯลฯ ได้จากเอกสารกำกับยาที่แนบมากับภาชนะบรรจุ หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบิวทอลบิทอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น Porphyria รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบิวทอลบิทอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
โดยทั่วไป หากลืมรับประทานยาบิวทอลบิทอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า แต่การลืมรับประทานยานี้บ่อยๆ สามารถทำให้อาการป่วยไม่ทุเลา และยังอาจเพิ่มความรุนแรงของอาการปวดได้มากยิ่งขึ้น
บิวทอลบิทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มบิวทอลบิทอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น กดการหายใจ การหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น สูญเสียความทรงจำ พูดไม่ชัด การตอบสนองต่อตัว กระตุ้นน้อยลง ง่วงนอนอย่างมาก
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดผิดปกติ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก อ่อนแรง อ่อนเพลีย
- ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ ตัวเหลืองตาเหลือง
- ผลต่อไต: เช่น ไตทำงานผิดปกติ/ไตอักเสบ
- ผลต่อตา: เช่น หนังตากระตุก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ตกใจง่าย จิตหลอน/ประสาทหลอน รู้สึกสับสน
- ผลต่อหัวใจ: เช่น ชีพจรเต้นช้าลง/เต้นเบา
- อิ่นๆ: เช่น มีไข้
มีข้อควรระวังการใช้บิวทอลบิทอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาบิวทอลบิทอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ(Obstructive sleep apnea)
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ด้วยสามารถก่อความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยากลุ่มนี้สามารถซึมผ่าน เข้าน้ำนมมารดาและส่งผลต่อทารกได้
- ห้ามปรับขนาดการรับประทานยานี้เอง การรับประทานยานี้ควรต้องเป็นไปตาม คำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ด้วยสามารถทำให้เกิดการติดยาได้ หรือการใช้ยานี้เป็นเวลานานและหยุดการใช้ยานี้ทันที อาจก่อให้เกิดภาวะถอนยาจนเป็นเหตุให้มีอาการวิตกกังวล คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการชัก
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก ด้วยยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดภาวะตื่นเต้น หรือตื่นตระหนกอย่างผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยสามารถก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้า และมีอาการสับสน ติดตามมา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มบิวทอลบิทอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
บิวทอลบิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาบิวทอลบิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยาบิวทอลบิทอลร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะก่อให้ เกิดผลข้างเคียงที่สูงขึ้นจากยาบิวทอลบิทอลติดตามมา เช่น วิงเวียน และง่วงนอนอย่างมาก จึงห้ามรับประทานร่วมกัน
- การรับประทานยาบิวทอลบิทอลร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด สามารถลดความสามารถในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดดังกล่าว หากมีการใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานอย่างเหมาะสม และแนะนำให้ใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
- การใช้ยาบิวทอลบิทอลร่วมกับยาบางกลุ่ม สามารถเพิ่มฤทธิ์ในการกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางได้ เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยารักษาโรคหืด ยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาโรคลมชัก หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรเลี่ยงการใช้ยาบิวทอลบิทอลร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว
ควรเก็บรักษาบิวทอลบิทอลอย่างไร?
สามารถเก็บยาบิวทอลบิทอลที่อุณหภูมิห้อง ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
บิวทอลบิทอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบิวทอลบิทอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bupap (บูแพบ) | ECR Pharmaceuticals |
Fioricet (ไฟออริเซท) | Watson Pharmaceuticals, Inc |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Cephadyn, Marten-Tab, Orbivan CF, Phrenilin, Phrenilin Forte, Promacet, Sedapap
บรรณานุกรม
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/020232s021lbl.pdf [2016,Oct8]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/020232s033lbl.pdf [2016,Oct8]
- http://davisplus.fadavis.com/3976/meddeck/pdf/butalbitalacetaminophencaffeine.pdf [2016,Oct8]
- https://www.drugs.com/cdi/aspirin-butalbital-caffeine.html [2016,Oct8]
- https://www.drugs.com/pro/butalbital-acetaminophen-and-caffeine.html [2016,Oct8]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/acetaminophen-butalbital-caffeine-codeine.html [2016,Oct8]