บิลาสทีน (Bilastine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 ธันวาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- บิลาสทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- บิลาสทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- บิลาสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- บิลาสทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- บิลาสทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้บิลาสทีนอย่างไร?
- บิลาสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาบิลาสทีนอย่างไร?
- บิลาสทีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอช 1 แอนตาโกนิสต์ (H1 antagonists)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- เยื่อจมูกอักเสบ (Rhinitis)
- ลมพิษ (Urticaria)
- เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
บทนำ
ยาบิลาสทีน(Bilastine) เป็นยาในกลุ่มยาต้านHistamine/ยาแก้แพ้( Antihistamine) ที่มีชื่อเรียกว่า เฮช1 แอนตาโกนิสต์ (H1 antagonist หรือ H1 receptor antagonist, หรือ H1 blocker โดย H ย่อมาจาก Histamine) โดยเป็นยาแก้แพ้ในรุ่นที่ 2 (Second generation antihistamine) ยานี้ถูกพัฒนาขึ้นในประเทศสเปน มีการออกฤทธิ์คล้ายกับยาแก้แพ้ Cetirizine, Fexofenadine, และ Desloratadine
ทางคลินิก นำยามบิลาสทีนมาใช้รักษาอาการ เยื่อจมูกอักเสบ, อาการแพ้ของตา(เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้), และอาการลมพิษที่เกิดตามผิวหนัง โดยรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาบิลาสทีน เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยานี้สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้อย่างรวดเร็ว โดยต้องรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง ซึ่งน้ำผลไม้ และอาหารที่มีไขมัน ล้วนเป็นอุปสรรคขัดขวางการดูดซึมยานี้
หลังการถูกดูดซึมฯ ตัวยาบิลาสทีน จะกระจายตัวในกระแสเลือดได้เพียงประมาณ 60% และจะเข้ารวมตัวกับสารโปรตีนในเลือดได้ประมาณ 84–90% ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 14.5 ชั่วโมง เพื่อการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ ยาบิลาสทีนไม่สามารถผ่านเข้าสู่สมอง และไม่ถูกทำลายโดย ตับ และไต
ทั่วไป สามารถใช้ยาบิลาสทีนได้กับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ทางคลินิก ให้รับประทานยานี้เพียงวันละ1ครั้ง ก็เพียงพอต่อการควบคุมอาการแพ้ของร่างกายแล้ว การใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับ โรคไต หรือผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทานแต่อย่างใด
ผู้ที่เผลอรับประทานยาบิลาสทีนเกินขนาด อาจพบอาการ วิงเวียน ปวดศีรษะและคลื่นไส้ ทั่วไป มักไม่พบเห็นอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)รุนแรงมากนัก ซึ่ง แพทย์จะรักษาผู้ป่วยที่ได้รับยานี้เกินขนาดตามอาการ(การรักษาประคับประคองตามอาการ) ส่วนระหว่างการใช้ยาบิลาสทีนโดยทั่วไป อาจพบอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้บ่อย เช่น ปวดศีรษะ และวิงเวียน
สำหรับข้อจำกัดของการใช้ยาบิลาสทีนที่ผู้บริโภคควรทราบ อาทิ เช่น
- ห้ามใช้ยาบิลาสทีนกับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบต่างๆในสูตรตำรับยานี้
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับน้ำผลไม้อย่าง Grapefruit juice ด้วยจะทำให้การกระจายตัวยาในกระแสเลือดลดลงอย่างมาก และ
- ห้ามรับประทานพร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
ทั้งนี้ ข้อดีบางประการของยาบิลาสทีนที่ควรกล่าวถึง คือ
- ยาบิลาสทีนเป็นยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ที่ไม่ผ่านเข้าสมอง จึงลดผลข้างเคียงเรื่องง่วงนอนได้ค่อนข้างดี ขณะใช้ยานี้ ผู้ป่วยจึงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ค่อนข้างปกติ เช่น ขับขี่ยานพาหนะได้
- ตัวยามีการออกฤทธิ์ได้นาน จึงรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง ซึ่งทำให้สะดวกในการใช้ยา
สำหรับการศึกษาการใช้ยาบิลาสทีนกับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ยังไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่า ยานี้ปลอดภัยต่อทารก รวมถึงสามารถส่งผ่านไปกับน้ำนมมารดาและเข้าสู่ทารกที่ดื่มน้ำนมมารดาได้หรือไม่ ดังนั้นจึงถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มนี้
ประเทศไทย โดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาบิลาสทีนเป็นยาประเภทควบคุมพิเศษ การสั่งจ่ายยานี้ให้ผู้ป่วยจะต้องมีใบสั่งแพทย์กำกับเท่านั้น
อนึ่ง อาจหาซื้อยาบิลาสทีนได้จากร้านขายยาขนาดใหญ่ หรือจากตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาติเท่านั้น
บิลาสทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
บิลาสทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดอาการโรคภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล เช่น อาการแพ้ของเยื่อจมูก และของเยื่อตา
- บรรเทาอาการแพ้ทางผิวหนัง อย่างเช่น ลมพิษ
บิลาสทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาบิลาสทีนเป็นสารประเภท Histamine (H1) receptor antagonist ที่ตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์โดย จะยับยั้งการกระตุ้นการหลั่งสารฮีสตามีน/Histamine และตัวยายังสามารถอยู่ในร่างกายได้นานกว่า 14.5 ชั่วโมง จึงส่งผลให้ลดอาการแพ้ เช่น จาม แน่น/คัดจมูก ผื่นคันตามผิวหนัง ลมพิษ อาการคันที่ตา มีน้ำตาออกมาก อาการตาแดง และตัวยายังมีฤทธิ์ครอบคลุมอาการแพ้ดังกล่าวได้นานถึงประมาณ 24 ชั่วโมง
บิลาสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาบิลาสทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 20 มิลลิกรัม/เม็ด
บิลาสทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาบิลาสทีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 20 มิลลิกรัม วันละ 1ครั้ง ในช่วงท้องว่าง คือ ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือ หลังอาหารประมาณ 2 ชั่วโมง
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา
อนึ่ง:
- เพื่อคงระดับยาในกระแสเลือดให้มีความเข้มข้นที่สม่ำเสมอ ควรรับประทานยานี้ ในเวลาเดียวกันของทุกวัน
- ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทานในผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบิลาสทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคลมชัก รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบิลาสทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาบิลาสทีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยายาบิลาสทีนตรงเวลาทุกวัน
บิลาสทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาบิลาสทีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน มีไข้ มีเสียงดังในหู/หูอื้อ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย: เช่น หิวอาหารบ่อย น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย กระเพาะอาหารอักเสบ กระหายน้ำ ปากแห้ง ท้องอืด
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น จมูกแห้ง หายใจขัด/หายใจลำบาก
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้บิลาสทีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาบิลาสทีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กโดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง ควรรับประทานยานี้ตรงเวลา และเป็นไปตาม คำสั่งแพทย์
- หากใช้ยานี้ไปตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ แล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยา เช่น มีอาการอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม คอบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบิลาสทีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
บิลาสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาบิลาสทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาบิลาสทีนร่วมกับยา Ketoconazole, Erythromycin, Ciclosporin, Ritonavir, Diltiazem, ด้วยยาบิลาสทีนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยากลุ่มดังกล่าวได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้ยาร่วมกันในผู้ป่วยโรคไต
- ห้ามรับประทานยาบิลาสทีนร่วมกับน้ำผลไม้ Grapefruit juice ด้วยน้ำผลไม้ดังกล่าวจะทำให้การดูดซึมและการกระจายตัวของยาบิลาสทีนในร่างกายลดน้อยลง
ควรเก็บรักษาบิลาสทีนอย่างไร?
ควรเก็บยาบิลาสทีน ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
บิลาสทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบิลาสทีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bilaxten (ไบแลกซ์เทน) | A. Menarini |
อนึ่งยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Ilaxten, Aligrin; Bellozal; Bilador; Bilahist; Bilanoa; Bilaska; Bilaz; Blexten
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bilastine[2016,Nov12]
- http://patient.info/medicine/bilastine-tablets-ilaxten[2016,Nov12]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/bilaxten?type=full[2016,Nov12]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/bilastine/?type=brief&mtype=generic[2016,Nov12]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4731482/[2016,Nov12]